วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ตามเทรนด์วงการบันเทิง "อดีต ปัจจุบัน และอนาคต"


ที่ผมเอารูปน้องๆเหล่านี้มาลงไม่ใช่ว่า "ชีกอ" นะครับ แค่อยากอธิบายแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจบันเทิงจากอดีตสู่ปัจจุบันแค่นั้น (จริงๆ)

แนวโน้มธุรกิจทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่จุดเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมอะไร นั่นก็คือผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการจะมุ่งเข้าสู่การตลาดแบบที่ยึดเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง (Customer centric) มากขึ้น เช่นที่ผมได้เคยกล่าวเปรียบเทียบระหว่าง Apple กับ Microsoft ในบทความชิ้นก่อนหน้า

ธุรกิจบันเทิงเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แนวโน้มการใช้การตลาดแบบ Customer centric และการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ (Centralize) เริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้น วงการนักร้องนักแสดงยุคก่อนนี้มักเริ่มต้นจากแมวมองไปตามหาช้างเผือกที่ดูว่าจะรุ่ง เอามาฝึก เอามาปั้น เอามาโปรโมต ให้เป็นดารา-นักร้องในสังกัด ถ้าใครดันแล้วรุ่งก็ดันต่อ ถ้าดันแล้วไม่รุ่งก็ปล่อยไปแล้วหาใหม่ ซึ่งข้อเสียของระบบนี้ก็คือ ค่ายเพลง-หนังต่างๆต้องแบ่งผลประโยชน์ให้แก่คนกลาง ซึ่งได้แก่ แมวมอง หรือบริษัทโมเดลลิ่งต่างๆ กับดาวรุ่งที่ยังไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ แถมยังต้องควักเนื้อจ่ายเงินโปรโมตไม่ก่อนล่วงหน้าโดยไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้กำไรกลับมาจากเด็กที่ปั้น และที่แย่ที่สุดคือ ถ้าปั้นเด็กคนไหนจนเป็นดาวแล้วยังต้องปวดหัวกับการต้องรักษาดาราคนนั้นไว้กับตน ไม่ให้โดนค่ายไหนแย่งตัว หรือเข้าทำนองดังแล้วแยกวงไปรวยคนเดียวอะไรประมาณนี้

พัฒนาการต่อมาเริ่มมีการรวมศูนย์มากขึ้น ตัดคนกลางออกไป โดยค่ายเพลง-หนังก็มารับสมัครตรง น้องๆคนไหนอยากเป็นดาราก็มาสมัครได้ตามค่ายทีวี หรือค่ายเพลงต่างๆ โดยอาจอยู่ในรุูปการประกวดหรือการรับสมัครเป็นระยะๆ แต่ปัญหาเรื่องของค่าใช้จ่ายในการโปรโมตและการชิงตัวดาราข้ามค่ายก็ยังคงอยู่

จะกระทั่งปี 2005 Mr.Yasushi Akimoto โปรดิวเซอร์อัจฉริยะชาวญี่ปุ่นได้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยการผสมผสานการทำธุรกิจแบบบริษัทและการตลาดแบบ Customer centric ไว้ด้วยกัน ภายใต้ชื่อ "AKB48"

น้องๆในรูปเป็นสมาชิกของวง AKB48 ซึ่งเป็นวง Girl group แนว J-pop ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่น Single CD ของวง AKB48 มียอดจำหน่ายรวมกว่า 12 ล้านแผ่น (เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น) ความสำเร็จของ AKB48 ในญี่ปุ่นเหนือกว่า Girl Group อื่น Girl generation KARA 2NE1 wonder girl ฯลฯ อย่างเทียบกันไม่ได้

วง AKB48 เป็น Girl group ที่มี่สมาชิกในวงรวมกว่า 150 คน แต่ที่ชื่อ AKB48 เพราะในแต่ละอัลบัมจะมีนักร้องที่ถูกคัดมาเพียง 48 คนจาก 150 คนเพื่อออกแต่ละ Single ส่วนที่มาของ AKB ย่อมาจาก Akihabara ซึ่งเป็นย่านวัยรุ่นในโตเกียว (ประมาณสยามฯบ้านเรา) และเป็นฐานทัพของบรรดาสาวๆเหล่านี้

ทำไมผมถึงยกเอาวง AKB48 ขึ้นมาพูด ไม่ใช่เพราะ Single ของน้องๆเขาขายดี หรือความนิยมที่เป็นอันดับ 1 ในญี่ปุ่น แต่เป็นเพราะรูปแบบที่ AKB48 นำเสนอต่อสาธารณะซึ่งเรียกได้ว่าแหวกแนวจากวง Girl group อื่นๆโดยสิ้นเชิง

AKB48 มีวิธีการเลือกน้องๆมาออกแต่ละ Single ที่แตกต่างจากคนอื่น โดยจะเปิดให้แฟนเพลงที่มีสิทธิได้โหวตเลือกนักร้องที่ตนชื่อชอบได้มีโอกาสออกอัลบัมต่อไป คนทีโหวตแพ้ก็ต้องรออัลบัมหน้า ซึ่งวิธีนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม จำนวนแฟนเพลงที่เข้าร่วมโหวตล่าสุดมีมากเกินกว่า 1 ล้านคน ด้วยวิธีที่เรียกว่า General Election นี้ทำให้ค่ายเพลงมั่นใจได้ว่าอัลบั้มที่จะออกจำหน่ายจะขายได้แน่ๆ เพราะเลือกนักร้องตามความชอบของแฟนเพลง หรือมีการ Survey demand ผ่านการโหวตมาก่อนแล้ว จึงได้มีความมั่นใจในการทุ่มโปรโมตได้เต็มที่ (ตัวอย่างหนึ่งของ Customer centric ไม่ใช่เลือกนักร้องตามความชอบของโปรดิวเซอร์)

นอกจากนี้ AKB48 ยังมี Concept อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นกลุ่ม Idol ที่่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ AKB48 มีโรงละครและเวทีคอนเสริ์ตของตัวเองอยู่ที่ย่าน Akihabara และเปิดแสดงคอนเสริตโดยสมาชิกวง AKB48 อย่างน้อย 1 คน "ทุกวัน" ถ้าคุณเป็นแฟนเพลง AKB48 แล้วแวะไปเยี่ยมบ้านของน้องๆ คุณจะมั่นใจได้ว่าจะได้เห็น Idol ของคุณแบบตัวเป็นๆทุกวัน แทนที่จะต้องแห่ไปรอรับดาราโปรดที่สนามบิน นั่งกันตามพื้นระเกะระกะเป็นที่น่าสงสาร (ตัวอย่างของ Customer centric ที่ยอมให้แฟนเพลงเข้าถึงได้ตามที่ต้องการ)

จุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ AKB48 ที่เป็นประโยชน์ต่อค่ายเพลงแต่อาจไม่เป็นประโยชน์กับน้องๆสมาชิกในวงก็คือ การที่วง AKB48 มีสมาชิกมากขึ้น 48 คนในแต่ละอัลบั้ม และมีการหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาร้องเพลง ทำให้ความสำคัญของน้องสมาชิกในวงน้อยกว่าชื่อของวง AKB48 ถ้าสมาชิกคนไหนไม่ได้รับความนิยมก็จะหลุดออกจาก 150 คน และโปรดิวเซอร์ก็จะหาคนใหม่เข้ามาแทน โดยไม่จำเป็นต้องเสียดายเงินที่โปรโมตน้องคนนั้นไป เพราะเงินโปรโมตมันไปอยู่ที่ชื่อวงหมดแล้ว หรือถ้าน้องๆคนไหนปัญหาเยอะ โปรดิวเซอร์ก็อาจเลือกปลดออกและหาคนอื่นมาแทน แฟนๆเพลงก็อาจไม่ได้สนใจมากนักเพราะมี "เยอะ" จนลายตาไปหมด ทำให้ AKB48 มีความเป็นสถาบันมากขึ้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการแย่งตัวดารา หรือปัญหาดาราเสื่อมความนิยมได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ด้วยวิธีของ Akimoto ทำให้ความสำเร็จของ AKB48 มีโอกาสยืนยาวกว่าโปรดิวเซอร์คนอื่นๆที่เน้นปั้นดารา 2-3 คน พอดาราในสังกัดดับโปรดิวเซอร์ก็ดับไปด้วย ถือเป็นการพลิกโฉมหน้าของวงการบันเทิงญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ในเมืองไทยยังไม่มีค่ายเพลงไหนนำแนวคิดที่ว่าไปใช้ ใกล้เคียงที่สุดก็คือเวที The star และ AF แต่ก็ยังไม่ถึงขึ้นจะให้โหวตเพื่อออก Single และได้ไม่เข้าถึงคำว่า Customer centric อย่างที่ AKB48 ทำ และจริงๆถึงทำก็อาจไม่รุ่งเท่า เพราะวัฒนธรรมคนไทยไม่นิยมจ่ายเงินโหวต หรือจ่ายเงินซื้อ Single เพราะถ้าคนไทยอยากฟังเพลงหรือดู MV พวกเขามีวิธีอื่นที่จะได้มาโดยไม่เสียเงิน (ไม่ขอชี้โพรงให้กระรอก แต่เชื่อว่าทุกคนรู้จักกันดี)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี่ไม่ใช่อยากโปรโมตให้น้องๆเขา แค่อยากจะบอกว่าโลกเรามันเปลี่ยนไปทุกวัน ถ้าธุรกิจไหนไม่ปรับตัวก็รอวันตาย สำคัญที่่ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์และปรับความคิดให้ยืดหยุ่นตามการเปลี่่ยนแปลง ส่วนนักลงทุนนั้นปรับตัวง่ายกว่ากันเยอะครับ ถ้าบริษัทไหนไม่ปรับตัวนักลงทุนก็ขายหุ้นทิ้งไปซื้อหุ้นใหม่ที่อยู่ในกระแสสบายกว่าแยะครับ ไม่ต้องมาเครียดกับการกอบกู้บริษัทให้ปวดหัว :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น