วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วยเรื่องของเถ้าแก่กับลูกจ้าง


 
วันเวลาในตลาดทุนทำให้ผมมีโอกาสได้สัมผัส และซึมซับแนวคิดรวมถึงมุมมองต่อสิ่งต่างๆของผู้คนมากมาย จากทั้งภาคตลาดทุน ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ซึ่งจากการสังเกตของผมนักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องมี “แนวคิดแบบเถ้าแก่” (Entrepreneurship) เป็นพื้นฐาน แล้วแนวคิดแบบเถ้าแก่นี้เป็นอย่างไรแตกต่างจากแนวคิดแบบลูกจ้างอย่างไรในมุม มองของผมลองมาดูกันครับ
  • เถ้าแก่ : กระตือรือล้น และทำทุกอย่างสุดความสามารถเสมอ เพราะเขารู้ว่าถ้าเขาทำมากเขาจะได้มาก
  • ลูกจ้าง : ทำงานตามหน้าที่ ทำงานตามสั่ง และเฉื่อยชา เพราะเขาทำมากหรือทำน้อยเขาก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม
  • เถ้าแก่ : กล้าที่จะคิดต่าง เพราะการคิดนอกกรอบสามารถสร้างธุรกิจใหม่ และเพิ่มรายได้ให้เถ้าแก่ได้ไม่จำกัด
  • ลูกจ้าง : คิดแต่จะอยู่ในกรอบ กลัวความคิดตนจะไม่เหมือนคนอื่น กลัวผิดระเบียบปฎิบัติ กลัวขัดใจนาย การคิดต่างไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของลูกจ้างดีขึ้นมีแต่จะทรงหรือแย่ลง
  • เถ้าแก่ : กล้าที่จะเสี่ยงในสิ่งที่เขาคิดดีแล้ว กล้าจะเผชิญกับความไม่แน่นอน กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และยอมรับได้กับผลของการตัดสินใจและการกระทำของเขาไม่ว่าจะดีจะร้าย
  • ลูกจ้าง : หลีกเลี่ยงความเสี่ยง เพราะกลัวล้มเหลว กลัวถูกนายตำหนิ ชอบสิ่งที่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า และเมื่อทำสิ่งใดผิดพลาดมันโยนความผิดให้ผู้อื่น
  • เถ้าแก่ : เชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ชีวิตคนเราขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา ถ้าพบอุปสรรคระหว่างทางเขาพร้อมที่จะหาทางออกทุกวิถีทางเพื่อให้เป้าหมายของ เขาลุล่วงไปได้ เขาเลือกจะหาทางไปไม่เปลี่ยนเป้าหมาย
  • ลูกจ้าง : เชื่อว่าทุกอย่างถูกลิขิตไว้แล้ว ไม่ว่าทำอย่างไรชีวิตเราก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าพบอุปสรรคระหว่างทางเขามักจะเลือกล้มเลิกเป้าหมายแทนที่จะหาทางทำให้เป้า หมายเป็นไปได้ เขาเลือกจะเปลียนเป้าหมายไม่พยายามหาหนทางไป
  • เถ้าแก่ : ไม่ท้อแท้ ไม่ว่าเขาจะล้มเหลวกี่ครั้งก็พร้อมจะลุกขึ้นสู้ต่อไป โดยใช้ความผิดพลาดเป็นบทเรียน
  • ลูกจ้าง : ถอดใจเมื่อล้มเหลว และหาทางหลีกหนีจากสิ่งที่ตนเคยล้มเหลว และก็มักจะไปพบกับความล้มเหลวใหม่ๆที่เขาไม่เคยเจอ
  • เถ้าแก่ : เห็นคุณค่าของเงิน มักเก็บออมเพื่อนำเงินออมมาลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม และเก็บไว้สำรองเผื่อธุรกิจของตนมีปัญหา
  • ลูกจ้าง : คิดว่าเงินเป็นสิ่งที่ได้มาแน่นอนทุกเดือน อย่างไรนายจ้างก็ต้องจ่ายให้ เมื่อมีโอกาสก็มักใช้เงินให้หมดไป และรอคอยเงินเดือนๆต่อไปมาใช้ใหม่
  • เถ้าแก่ : กู้เงินมาเพื่อลงทุน ขยายกิจการ ต่อยอดธุรกิจ และเมื่อมีโอกาสก็จะคืนเงินกู้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย
  • ลูกจ้าง : กู้เงินมาเพื่ออุปโภคบริโภค และมักกู้เงินไปเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยไปเรื่อยๆ เท่าที่จะยังจ่ายค่างวดไหว
แล้วทำไมนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจึงต้องมีแนวคิดอย่างเถ้าแก่ นั่นก็ เพราะแนวคิดแบบเถ้าแก่จะช่วยเกื้อหนุนให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนได้ถูกต้อง ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดแบบลูกจ้างโดยสิ้นเชิง
  • ถ้าคุณขาดความกระตือรือล้น คุณก็จะขาดความมุ่งมั่นที่จะค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจให้ดีที่สุด หรือหลีกเลี่ยงความรู้ใหม่ๆและทำให้คุณยึดติดกับแนวคิดเดิมๆ
  • ถ้าคุณขาดความคิดนอกกรอบ คุณก็จะถูกตลาดชัดนำได้ง่ายและมีแนวโน้มจะแห่ตามนักลงทุนรายอื่นๆ ถ้านักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดไม่ได้เป็นเศรษฐี คุณที่แห่ตามนักลงทุนส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มจะไม่ได้เป็นเศรษฐีไปด้วย
  • ถ้าคุณกลัวที่จะล้มเหลว การตัดสินใจของคุณก็จะขาดความเด็ดขาด และมีแนวโน้มจะปล่อยให้ความผิดพลาดขยายผลไปเรื่อยๆเพราะคุณปฎิเสธที่จะยอม รับและแก้ไขมัน
  • ถ้าคุณเชื่อว่าทุกอย่างถูกลิขิตไว้แล้ว คุณก็จะดำเนินชีวิตไปตามตามแบบอย่างที่คุณเคยเห็น เคยสัมผัส ซึ่งอาจเป็นพ่อแม่ของคุณ ญาติผู้ใหญ่ของคุณ หรืออาจารย์ของคุณ และคิดว่าชีวิตของคุณเป็นได้ไม่มากไปกว่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วมหาเศรษฐีระดับโลกในปัจจุบัน หลายคนก็สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยตัวเองไม่ได้พึ่งแค่สิ่งที่มีมาแต่กำเนิด
  • ถ้าคุณท้อแท้ง่าย เมื่อคุณล้มเหลว คุณก็จะไม่พยายามหาสาเหตุเพื่อแก้ไขและลุกขึ้นสู้กับปัญหา แต่จะเลือกหนีจากความล้มเหลวนั้นๆ สุดท้ายคุณก็จะล้มเหลวไปเรื่อยๆไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนไปทำอะไรก็ตาม
  • ถ้าคุณไม่รู้จักเก็บออม คุณจะก็ไม่มีเงินลงทุนซักที มีเหตุผลข้ออ้างนับล้านที่คุณอาจใช้อธิบายว่าทำไมคุณจึงไม่มีเงินเริ่มลงทุน แต่เหตุผลจริงๆมีเพียงข้อเดียวคือ คุณไม่เริ่มออมเงิน จำเอาไว้ว่าการลงทุนเริ่มต้นจากการออมเสมอ
  • ถ้าคุณกู้เงินมาเพื่อการอุปโภคบริโภค สุดท้ายเงินนั้นก็จะหมดไป แต่ถ้าคุณกู้เงินมาเพื่อลงทุน คุณยังมีสองทางเลือกคือ 1. เงินก็หมดไปอยู่ดี (เพราะขาดทุน) 2. เงินอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินกู้และคุณจะสามารถนำไปลงทุนต่อได้อีก การลงทุนไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป แต่อย่างน้อยคุณยังมีโอกาสที่จะได้กำไรและสร้างรากฐานความมั่งคั่งได้ มหาเศรษฐีทุกคนล้วนแต่เคยสัมผัสการใช้เงินกู้มาแล้วทั้งนั้น แต่สาเหตุที่พวกเขาประสบความสำเร็จได้เพราะพวกเขาเลือกที่จะกู้มาลงทุนไม่ ใช่กู้เพื่อการบริโภค
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนที่เป็นลูกจ้าง หรือข้าราชการ จะไม่สามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ เพราะสิ่งสำคัญสำหรับการลงทุนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังทำอาชีพอะไร แต่อยู่ที่ว่าคุณมีแนวคิดอย่างไร ถ้าคุณสามารถปรับแนวคิดของคุณให้คิดอย่างเถ้าแก่ได้ ช้าหรือเร็ววันหนึ่งคุณก็จะอยากเป็นเถ้าแก่ และเมื่อคุณเริ่มคิดจะอยากเป็นเถ้าแก่ คุณก็จะเริ่มมีโอกาสเป็นเถ้าแก่ได้ สำหรับผมแล้วการปรับแนวคิดให้เหมาะสมเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการลงทุนครับ

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

วิกฤติหนี้ยุโรป อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (3)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM

  บทความสองตอนก่อนได้เล่าถึงความเป็นมาและสถานการณ์ปัจจุบันของปัญหา หนี้สินในยุโรปไปแล้ว ในตอนสุดท้ายนี้จะกล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินในยุโรป และอนาคตของเศรษฐกิจโลกในทัศนะของผู้เขียน

ปัจจุบันความสนใจปัญหาหนี้สินของประเทศในกลุ่มยุโรปอยู่ที่กรีซ อิตาลี และสเปน ซึ่งประเทศทั้งสามมีสถานะที่ใกล้เคียงกัน คือ หนี้สินต่อ GDP สูง มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการว่างงานที่สูงมากจนไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญประเทศอย่างอิตาลีและสเปนคือเป็นประเทศทีมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ติด อันดับโลก (GDP อิตาลี และสเปนจัดอยู่ในอันดับ 8 และ 12 ของโลกตามลำดับ) หากประเทศทั้งสองไม่สามารถระดมเงินกู้เพื่อมาต่ออายุลมหายใจได้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงมากกว่าวิกฤติทุกครั้งที่โลกเคยผ่านมา ชนิดที่ว่าวิกฤติต้มยำกุ้งของเอเชียเมื่อปี 1997 ถือว่าจิ๊บจ้อยมาก หรือแม้แต่ Hamburger crisis ปี 2008 ก็ไม่อาจเทียบเคียงได้ (ตามความเห็นของนักลงทุนระดับตำนานอย่าง จอร์จ โซรอส และ จิม โรเจอร์)

องค์กรทางเศรษฐกิจต่างๆไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหภาพยุโรป(EU) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (G-20) จึงต้องหาแนวทางให้ความช่วยเหลือประเทศดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากกรีซ ด้วยความหวังที่ว่าหากสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนยอมต่ออายุหนี้ ของกรีซได้ ประเทศทีดูแล้วมีความน่าจะเป็นที่จะชำระหนี้ไม่ได้น้อยกว่าอย่างอิตาลี และสเปนก็น่าจะรอดไปด้วย

วิธีการแก้ปัญหากรีซที่ EU และ IMF ใช้ในเบื้องต้นคล้ายกับที่เคยใช้กับประเทศไทยสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง กล่าวคือ ให้วงเงินกู้ในระยะสั้นแก่ บังคับให้กรีซจัดทำงบประมาณเกินดุลด้วยการรัดเข็มขัด และขายสินทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้เมื่อตลาดการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ปัญหาคือ กรีซ ไม่ใช่เด็กดีที่ยอมทำตามผู้ใหญ่อย่างประเทศไทย กรีซไม่สามารถปฏิบัติตามแผนลดการขาดดุลได้เลย เนื่องจากรัฐบาลห่วงคะแนนเสียงไม่ยอมลดภาระการขาดดุลการคลังตามที่ EU และ IMF เสนอ ในขณะเดียวกันด้านผู้ให้ความช่วยเหลือเอง ซึ่งได้แก่กองทุน European Financial Stability Facility (EFSF) ก็ประสบกับปัญหาเงินไม่พอ เนื่องจากต้องให้ความช่วยหลายประเทศ และการจะเพิ่มขนาดเงินกองทุนก็จำเป็นต้องอาศัยฉันทามติของทุกประเทศสมาชิก ปัญหาทั้งหมดจึงนำมาสู่การประชุม EU summit เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ผลการประชุม EU Summit เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้มีข้อสรุปที่มีสาระสำคัญ 2 ประการดังนี้
  1. เจ้าหนี้จะต้องลดหนี้ (Hair cut) กรีซลงอย่างน้อย 50% และยืดอายุหนี้ออกไปเพื่อเลี่ยงการ Default ซึ่งยังถือกว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ปัจจุบันพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปีราคาหน้าตั๋ว 100 บาท ซื้อขายกันเพียง 27.75 บาทเท่านั้น ถ้าจะ Hair cut ตามราคาตลาดต้องลดหนี้ไปถึง 72.25%
  2. กองทุน EFSF จะเพิ่มวงเงินโดยการ “กู้” เพิ่มจากฐานเงินกองทุนที่มีอยู่ประมาณ 220,000 ล้านยูโร โดยจะเพิ่มประมาณ 4 เท่าหรือประมาณ 1 ล้านล้านยูโร โดยวงเงินดังกล่าวคลอบคลุมหนี้ทั้งหมดหลัง Hair cut ของกรีซ และเผื่อไว้สำหรับช่วยเหลือหนี้บางส่วนของอิตาลี และสเปนในอนาคตแล้ว รวมไปถึงเงินเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินต่างๆในยุโรปในกรณีที่จำเป็นอีกด้วย โดย EFSF อาจเข้าปล่อยกู้โดยตรง เข้าซื้อพันธบัตร หรืออาจใช้วิธีค้ำประกันโดยเรียกเก็บเบี้ยประกันจากลูกหนี้ที่ออกพันธบัตรก็ ได้ (ลักษณะคล้ายแบงค์อาวัลตั๋วเงิน) ซึ่งวิธีค้ำประกันนี้จะทำให้ EFSF สามารถให้ความช่วยเหลือประเทศยุโรปได้เพิ่มจากวงเงิน 1 ล้านล้านยูโรขึ้นไปได้อีก
ผลการประชุมดังกล่าวเมื่อรวมกับท่าทีของกรีซที่ยินยอมตามเงื่อนไขการรับ เงินช่วยเหลือของ EU และ IMF สามารถสร้างความมั่นใจในเบื้องต้นให้กับนักลงทุนได้ว่าผลกระทบของปัญหา หนี้สินในยุโรปจะไม่เกิดขึ้นรวดเร็วและทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน เช่นเดียวกับวิกฤติ Hamburger ปี 2008 อย่างไรก็ดีปัญหาต่างๆยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยข้อสรุปที่ได้จาก EU summit เป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นแก่กรีซที่มีหนี้ครบกำหนดก้อนใหญ่ใน เดือนธันวาคมเท่านั้น ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงของปัญหาซึ่งก็คือการใช้จ่ายเกินตัว และการขาดดุลการคลังต่อเนื่องยังคงไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขได้ เมื่อกรีซรอดจากหนี้ระยะสั้นไปได้ความสนใจของตลาดจึงไปตกอยู่กับอิตาลีแทน ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีรุ่นอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นรวดเดียวจาก 6.00% สู่ระดับ 7.5% ในเวลา 4 วันทำการ แสดงให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุนที่มีต่ออิตาลีจนนายกรัฐมนตรีอิตาลีถูก กดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อปูทางให้รัฐสภาอิตาลีสามารถผ่านแผนรัดเข็มขัดเพื่อลดภาระหนี้ได้สำเร็จ โดยอิตาลีมีหนี้สินก้อนใหญ่ครบกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ถึงกว่า 50,000 ล้านยูโร ซึ่งยังคงเป็นปัญหาอยู่ว่าอิตาลีจะสามารถระดมเงินกู้เพื่อ Refinance หนี้จำนวนดังกล่าวได้ด้วยตัวเองหรือไม่ ที่ต้นทุนทางการเงินเท่าใด

ในด้านสถาบันการเงินของยุโรปก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน ธนาคารที่มีชื่อเสียงในยุโรปโดยเฉพาะที่มีสัญชาติฝรั่งเศสและเยอรมันถูกปรับ ลดอันดับความน่าเชื่อถือกันโดยถ้วนหน้าส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ยิ่งลดต่ำลง สถาบันการเงินนอกยุโรป และกองทุนตลาดเงินต่างๆ เริ่มลดธุรกรรมที่ทำต่อธนาคารของยุโรปลงส่งผลให้ธนาคารขนาดเล็กในยุโรปเริ่ม ประสบปัญหาสภาพคล่อง จนกระทั่งธนาคารกลางของยุโรป สหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น และจีนต้องร่วมมือกันเพิ่มวงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับธนาคารในยุโรปเพื่อ ป้องกันการแห่ถอนเงินจนทำให้ธนาคารเหล่านั้นต้องปิดกิจการไป (Bank run)

ในอีกด้านหนึ่งเมื่อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อ พันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ เริ่มมีมูลค่าลดลง เงินกองทุนของสถาบันการเงินต่างๆก็เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าการ Haircut หนี้สินของประเทศกรีซ อิตาลี และสเปน จะส่งผลให้ธนาคารในยุโรปขาดทุนรวมกันประมาณ 400,000 – 800,000 ล้านเหรียญยูโร และต้องระดมเงินเพิ่มทุนประมาณ 100,000 – 180,000 ล้านยูโร เพื่อรักษาเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1) ให้ได้อย่างน้อย 9% ภายในเดือนมิถุนายนปี 2012 ตามเกณฑ์ BASELIII อย่างไรก็ดีการประมาณการดังกล่าวไม่ได้รวมตัวเลข Haircut ของหนี้สินภาคเอกชน ตัวเลขขาดทุนและเงินเพิ่มทุนจริงจึงอาจมากกว่าตัวเลขประมาณการข้างต้น นี่จึงเป็นที่มาของแผนการขายทรัพย์สินจำนวนมหาศาลที่สถาบันการเงินในยุโรป ประกาศในช่วงที่ผ่านมาเพื่อลดขนาดของสินทรัพย์และลดภาระการเพิ่มทุนของ สถาบันการเงิน

สถานการณ์หนี้สินในยุโรปที่กล่าวมาทั้งหมดยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่รอ วันแก้ไขทั้งหนี้สินภาครัฐและเอกชน โดยทุกภาคส่วนทั้งประเทศลูกหนี้ องค์การให้ความช่วยเหลือ และเจ้าหนี้ต่างๆจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกันในการแก้ปัญหา โดยแนวทางการแก้ปัญหาของหนี้สินในยุโรปตามมุมมองของผู้เขียนมีดังนี้
  1. ในระยะสั้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าหนี้สินของอิตาลีและสเปน จะต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้ หรือถูก Hair cut ซึ่ง EU ได้ดำเนินการสร้างความมั่นใจโดยการเพิ่มขนาดของกองทุน EFSF เป็น 1 ล้านล้านยูโร เพื่อแสดงศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือ และดำเนินการซื้อพันธบัตรอิตาลีอย่างต่อเนื่องเพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตร อิตาลีให้ต่ำลงและลดต้นทุนในการระดมเงินกู้ของอิตาลี ในขณะเดียวกันก็สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนยอมกลับเข้าซื้อพันธบัตร อิตาลีไปด้วย อย่างไรก็ดีการเพิ่มวงเงินของ EFSF ดังกล่าวยังไม่ได้มีแนวทางเป็นรูปธรรมว่าจะเพิ่มวงเงินด้วยวิธีการกู้จาก แหล่งใด มีประเทศนอก EU ใดให้การสนับสนุนบ้าง และ EU จะกู้ด้วยต้นทุนทางการเงินเท่าใด ทำให้แผนการสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าวยังคงมีความเสี่ยงในทางปฏิบัติอยู่
  2. ในระยะกลางต้องรื้อฟื้นความน่าเชื่อของประเทศลูกหนี้ที่มีปัญหากลับคืน มาด้วยการลดอัตราส่วนหนี้สินสาธารณะต่อ GDP ลงให้เร็วที่สุด โดยการเพิ่ม GDP ซึ่งเป็นตัวหาร (ไม่ใช่ด้วยการ Haircut หนี้ซึ่งเป็นตัวตั้ง) ซึ่งการลดหนี้สินต่อทุนให้นั้นจะต้องทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวกลับ ไปสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวให้ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจโตเร็วกว่าดอกเบี้ย (ปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีอายุ 10 ปีอยู่ที่ 6.42% ในขณะที่ IMF ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจปี 2012 ของอิตาลีอยู่ที่ 0.3%) แนวทางดังกล่าวจำเป็นต้องลดรายจ่าย เช่น การตัดรัฐสวัสดิการต่างๆ ขยายระยะเวลาการทำงานของข้าราชการและลูกจ้าง ลดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย ในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มรายได้ ด้วยการขึ้นภาษีทุกประเภทเท่าที่จะทำได้ กระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งเสริมการส่งออก และสุดท้ายปรับโครงสร้างหนี้สินภาคเอกชนในประเทศโดยสถาบันการเงินจำเป็นต้อง ยอมลดหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจต่อและทำให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไป ได้ ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาในส่วนนี้ทั้งหมดไม่สามารถทำได้โดยง่ายเพราะจะส่งผลกระทบ ให้ประชาชนของประเทศลูกหนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง และอาจทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในหลายแง่มุม ซึ่งเป็นผลเสียโดยตรงกับรัฐบาลในขณะนั้นๆ (ดูตัวอย่างได้จากรัฐบาลไทยในสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งถูกกล่าวหามากน้อยแค่ไหน)
  3. ในระยะยาวกลุ่มสภาพยุโรปจะต้องทำความตกลงร่วมกันในเงื่อนไขการรวมกลุ่ม สภาพยุโรปใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขการปฏิบัติตามข้อตกลงด้านเศรษฐกิจ เช่น เพดานหนี้สินต่อทุน การขาดดุลงบประมาณ ตลอดจนพิกัดภาษีภายในและภายนอกสภาพยุโรป โดยควรมีบทลงโทษที่ชัดเจนและบังคับใช้ได้จริง หากประเทศสมาชิกฝ่าฝืนเพื่อระงับปัญหาก่อนบานปลายเกินแก้ไขเช่นในปัจจุบัน
  4. ด้านสถาบันการเงินในยุโรป ในระยะสั้นองค์กรระหว่างประเทศ เช่น EU และ IMF ต้องให้ความช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องของสถาบันการเงินด้วยการให้วงเงินที่ มากพอที่จะครอบคลุมเงินฝากทั้งหมดของสถาบันการเงินหลักในยุโรป (ดังเช่นที่ธนาคารกลางสหรัฐเคยค้ำประกันเงินฝากเต็มจำนวนมาแล้วสมัย Hamburger crisis) เพื่อให้ผู้ฝากเงินมั่นใจและสถาบันการเงินหลักปลอดภัยจากสภาวะ Bank run ในระยะสั้น
  5. ในระยะกลางควรทำการทดสอบ Stress test ด้วยเกณฑ์ที่เข็มข้น และโปร่งใสโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทราบว่าแท้จริงแล้วสถาบันการเงินเหล่านี้ต้องตั้งสำรองขาดทุนการ ด้อยค่าของสินทรัพย์และหนี้สูญจำนวนเท่าไร และต้องการเงินทุนเพิ่มเติมเท่าใดที่จะทำให้ธุรกิจของสถาบันการเงินเหล่านี้ สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยการเพิ่มทุนควรปล่อยให้สถาบันการเงินเหล่านี้ระดมทุนด้วยตัวเองก่อน หากไม่สามารถระดมเงินทุนได้เพียงพอองค์กรระหว่างประเทศจึงค่อยเข้าให้ความ ช่วยเหลือ โดยอาจให้สิทธิพิเศษเพื่อจูงใจและลดแรงกดดันของรัฐบาลประเทศต่างๆที่ให้ความ ช่วยเหลือ เช่น การเพิ่มทุนในราคาที่ต่ำ หรือการให้หุ้นบุริมสิทธิ์แปลงสภาพ เป็นต้น
  6. ในระยะยาวควรกำหนดเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินที่เข็มข้นขึ้น โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อที่มีลักษณะการกระจุกตัว (แม้ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับภาครัฐก็ตาม) และการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนหรือตราสารที่มีความซับซ้อนสูง โดยลดความสำคัญของการใช้ราคาทุนทางบัญชี หรือแบบจำลองในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน แต่ให้ความสำคัญกับราคาตลาดในการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ต่างๆมากขึ้น นอกจากนี้ควรให้ธนาคารกลางมีบทบาทในการกับดูแลสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิดมาก ขึ้น และมีอำนาจแทรกแซงสถาบันการเงินได้ทันทีที่คาดว่าจะเกิดปัญหา
ไม่มีมาตรการหรือองค์กรใดๆ จะแก้ไขปัญหาหนี้สินในยุโรปให้หมดไปได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานและไม่เคยมีรัฐบาลใดที่คิดจะแก้ปัญหา จริงจังเพราะหวังผลทางการเมือง พยายามต่างๆทำได้เพียงประคับประคองสถานการณ์เพื่อรอเวลาให้ประเทศในยุโรป สามารถฟื้นตัวได้ด้วยตัวเอง เพราะเวลาจะรักษาทุกสิ่งได้เสมอ

ในอีกมุมหนึ่ง ปัญหาในปัจจุบันถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศต่างๆในยุโรปจะได้เปลี่ยนโครง สร้างทางเศรษฐกิจใหม่ ลดความฟุ้งเฟ้อและอัตตาลง หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ และลดการก่อหนี้มาเพื่อการบริโภค เพราะไม่มีประเทศใดๆที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้ตลอดไป สักวันหนึ่งหนี้สินที่ก่อไว้ก็จะต้องใช้คืน ถ้าประเทศในสหภาพยุโรป (หรือแม้กระทั่งสหรัฐฯ) ยังคงละเลยการแก้ไขปัญหาโครงสร้างดังกล่าวโดยถือตัวว่าค่าเงินสกุลของตนยัง เป็นค่าเงินสกุลหลักและประเทศอื่นๆในโลกจะต้องซื้อพันธบัตรของประเทศตนเพื่อ เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ในระยะเวลาไม่นานประเทศต่างๆในโลกก็จะเริ่มเกิดแนวคิดที่จะแสวงหาสินทรัพย์ อื่น หรือค่าเงินสกุลอื่นของประเทศที่มีความเข็มแข้งทางเศรษฐกิจสูงกว่ามาใช้แลก เปลี่ยนและใช้เป็นเงินทุนสำรองแทนสกุลเงินดอลลาร์และยูโร และเมื่อนั้นทั้งยุโรป และสหรัฐจะสูญเสียความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจไปตลอดกาล

ผู้เขียนจะขอทิ้งท้ายบทความทั้งสามตอนด้วยการพยากรณ์อนาคตของ เศรษฐกิจโลกจากนี้ไป (แบบไม่กลัวธงหัก)  ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาหนี้สินของยุโรปจะผ่านพ้นไปอย่างช้าๆ กว่าที่ประเทศยุโรปจะสามารถลดภาระหนี้เข้าสู่ระดับปกติและสถาบันการเงินของ ยุโรปกลับมาขยายสินเชื่อได้ก็กินเวลาอีกหลายปี (สถาบันการเงินของไทยใช้เวลาทำใจ 10 ปี เพิ่งจะมาขยายสินเชื่อแบบเป็นเรื่องเป็นราวก็เมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้เอง แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีธนาคารบางแห่งที่ยังคงกอดสภาพคล่องและตั้งสำรอง เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาก เพราะกลัวอดีตสมัยต้มยำกุ้งจะกลับมาหลอกหลอน) ในด้านสหรัฐอเมริกาจะยังเดินหน้าก่อหนี้และขาดดุลต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสูญเสียความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกไปในที่สุด และค่าเงินสกุลดอลลาร์และยูโรจะเริ่มด้อยความสำคัญลงไป โดยจะมีสกุลเงินอื่นประเทศเกิดใหม่ เช่น หยวน รูปีย์ รวมถึงสกุลเงินใหม่ที่เกิดจากการรวบรวมกลุ่มประเทศในภูมิภาคต่างๆ (เหมือนอย่างที่สหภาพยุโรปเคยทำ) เข้ามามีบทบาทแทนที่ ผู้นำเศรษฐกิจโลกจะกลายเป็นประเทศที่ปัจจุบันจัดว่าเป็นประเทศเกิดใหม่ และโมเดลธุรกิจที่ประเทศเกิดใหม่ใช้ก็จะเปลี่ยนไป (กดค่าแรงและต้นทุนการผลิตให้ต่ำ เพื่อส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อได้ดุลการค้ามาก็เอาเงินไปปล่อยกู้ประเทศพัฒนาแล้วผ่านการซื้อพันธบัตร ของประเทศพัฒนาแล้วเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ) การค้าขายกันในกลุ่มประเทศเกิดใหม่จะมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความเป็นอยู่ของประชาชนของประเทศเกิดใหม่ก็จะดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมากด้วยรัฐ สวัสดิการที่เริ่มฟุ้งเฟ้อ เมื่อพวกเขาเริ่มรู้สึกตัวว่าพวกเขามีอำนาจในการ”กู้” อยู่ในมือ ส่งผลให้ประเทศเกิดใหม่เริ่มมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งพวกเขาก็จะกลับมายืนอยู่ในจุดที่ยุโรปเป็นในปัจจุบัน

อันที่จริงแล้ววัฎจักรเศรษฐกิจเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ โรมันเรืองอำนาจ (ถนนทุกสายมุ่งเข้าสู่กรุงโรม) ก่อนเปลี่ยนมาเป็นยุคทองของยุโรปสมัยล่าอานิคม จนกระทั่งล่าสุดเป็นสหรัฐอเมริกา (ผู้ชนะที่แท้จริงในสงครามโลกครั้งที่ 2) และทุกครั้งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ทำผิดซ้ำรอยเดิม ถ้าครั้งต่อไปจะเป็นคราวของประเทศเกิดใหม่บ้างก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ อย่างใด ที่สำคัญผู้เขียนเชื่อว่าคำพยากรณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผู้เขียนอย่างแน่นอน ถ้าโลกไม่แตกสลายไปเสียก่อน

สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามบทความเรื่อง วิกฤติหนี้ยุโรป อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งสามตอนมาโดยตลอด หวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่างานเขียนของข้าพเจ้าทั้งสามตอนจะเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้ความบันเทิง และเกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย หากมีความผิดพลาดประการใดในบทความดังกล่าวผู้เขียนขอน้อมรับข้อผิดพลาดทั้ง หมดไว้แต่เพียงผู้เดียว พบกันในโอกาสต่อไปครับ ^_^

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

วิกฤติหนี้ยุโรป อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (2)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM

 
บทความตอนที่แล้วได้เล่าถึงที่มาของปัญหาหนี้สินในยุโรปไปแล้ว ในตอนนี้จะกล่าวสถานการณ์ปัจจุบันของปัญหาในรายละเอียดตามมุมมองของผู้เขียน

ปัจจุบันปัญหาหนี้สินของกรีซอาจถือได้ว่าอยู่ระดับที่น่าวิตกมาก แม้ว่ากลุ่มสภาพยุโรป (EU) และกองทุนการเงินระหว่าประเทศ (IMF) จะเข้าให้ความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 110,000 ล้านยูโรก็ตาม เนื่องจากการให้เงินสนับสนุนของ EU ที่ให้กับกรีซเป็นในรูปเงินกู้เพื่อนำไปชำระหนี้พันธบัตรที่ครบกำหนด โดยมีเงื่อนไขว่ากรีซจะต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อลดภาระขาดทุนทางการ คลังจากร้อยละ 10.5 ในปี 2010 และขายสินทรัพย์ภาครัฐ เพื่อนำมาชำระหนี้สินจำนวนมหาศาลที่เคยก่อไว้ อย่างไรก็ดีหลังจากได้เงินกู้ก้อนแรกไปปีกว่าๆแล้วกรีซยังไม่แนวโน้มว่าจะทำ ได้ใกล้เคียงกับคำมั่นที่เคยให้ไว้กับ EU และ IMF การดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากการต่อต้านจนถึงขั้น จลาจลจากประชาชนที่เคยสุขสบายจากรัฐสวัสดิการที่ให้เปล่า กระบวนการขายสินทรัพย์ที่ล่าช้าและดูเหมือนจะไม่เพียงพอในการชำระหนี้ทั้ง หมด เมื่อรวมกับเศรษฐกิจของประเทศที่ทรุดหนักในระยะหลัง ทำให้ในที่สุดนายกรัฐมนตรีของกรีซได้ออกแถลงการณ์ขอร้อง EU ให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการรัดเข็มขัดและขอเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องก้อนใหม่ พร้อมยกคำขู่ว่ากรีซจะมีเงินพอใช้ไปได้จนถึงเดือนตุลาคม 2011 เท่านั้น ถ้าไม่ให้รีบความช่วยเหลือกรีซแบบมีเงื่อนไขน้อยที่สุด สหภาพยุโรปก็อาจเกิดอาการ “ตายหมู่” ได้

เมื่อปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศหนึ่งย่อมส่งผลกระทบกับประเทศอื่นๆที่ ใช้สกุลเงินเดียวกัน ประเทศอื่นๆใน EU ก็มีสภาพย่ำแย่ไปตามๆกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศขนาดใหญ่ใน EU ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยพันธบัตรรัฐบาลสเปน (Rating AA) และอิตาลี (Rating A) รุ่นอายุ 10 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 5.60% และ 5.17% ตามลำดับ เปรียบเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลไทย (Rating BBB+) อายุ 10 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 3.84% เมื่อพิจารณาควบคู่กับเลขดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการจ้างงานจะพบว่าประเทศเหล่านี้เองก็น่าเป็นห่วงมาก ยกตัวอย่างเช่น สเปนมีอัตราการว่างงานสูงถึง 20% แปลว่าถ้าเดินตามถนนเจอคน 5 คนจะมีคนหนึ่งที่ว่างงานโดนเฉลี่ย ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น อิตาลี โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ก็ล้วนแล้วแต่มีอัตราการว่างงานที่เกิน 10% ทั้งหมด (ถ้าแฟนฟุตบอลสโมสรยุโรปท่านใดสังเกตตลาดซื้อขายนักฟุตบอลในช่วงปีที่ผ่านมา จะพบว่าซบเซาลงไปมาก การยืมตัวนักฟุตบอลจะเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น บางประเทศเช่น อิตาลี ถึงกับมีนโยบายเป็นเจ้าของร่วมในตัวนักฟุตบอลเลยก็มี เพราะไม่มีเงินซื้อทั้งตัวได้มาครึ่งตัวก็ยังดี ^_^)

ในด้านผู้ให้ความช่วยเหลือซึ่งได้แก่ EU เองก็ประสบปัญหาเช่นกัน ปัจจุบันสหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกผ่านกองทุนที่ ชื่อ European Financial Stability Facility หรือ EFSF ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศสมาชิก ล่าสุดได้ปรับแก้ข้อบังคับของกองทุนให้สามารถเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงิน ของประเทศสมาชิกโดยตรงผ่านการเข้าถือหุ้นของสถาบันการเงินต่างๆเหล่านั้นได้ ด้วย ปัญหาก็คือกองทุน EFSF มีเงินกองทุนไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนภาระหนี้ทั้งหมดของประเทศที่มีปัญหา โดยปัจจุบัน EFSF มีศักยภาพที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินได้ถึง 255,000 ล้านยูโร และอาจขยายได้ถึง 440,000 ล้านยูโรในกรณีที่ใช้การค้ำประกันหนี้ ซึ่งเพียงพอกับการให้ความช่วยเหลือกรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์ แต่เมื่อพิจารณารวม อิตาลี และสเปนเข้าไปด้วย จำนวนเงินที่ ESFS ต้องการเพื่อจะให้ความช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ ในเบื้องต้นอาจสูงถึง 520,000 ล้านยูโร ซึ่งแผนการเพิ่มทุนให้กับกองทุน ESFS เพื่อให้สามารถสนับสนุนเงินกู้ยืมได้ถึง 450,000 ล้านยูโร และขยายเป็นค้ำประกันได้ถึง 780,000 ล้านยูโร ก็ยังมีอุปสรรคอยู่เนื่องจากการเพิ่มทุนของ EFSF จำเป็นต้องได้ฉันทามติ จากรัฐสาของประเทศสมาชิก แต่รัฐบาลของประเทศพี่ใหญ่ในยุโรปอย่าง ฝรั่งเศส และเยอรมันได้รับแรงกดดันจากประชาชนที่ไม่อยากเอาเงินสำรองของประเทศตัวเอง ที่ได้มาอย่างยากลำบากไปอุ้มภาระหนี้ของประเทศที่สุรุ่ยสุร่าย ถ้าไปช่วยมากๆเข้าตัวเองก็อาจมีความเสี่ยงจะโดนปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ไปด้วย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือตัวเลขทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นตัวที่เลขที่นับ รวมเฉพาะหนี้สิ้นภาครัฐเท่านั้น นี่ยังไม่ได้พูดถึงตัวเลขของภาคเอกชนเลยแม้แต่น้อย

ในด้านสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินของยุโรปในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า เข้าขั้นวิกฤติก็คงจะได้ ล่าสุด Credit default swap หรือ CDS ซึ่งเป็นค่าประกันความเสี่ยงที่ผู้ซื้อประกันจะต้องจ่ายให้กับผู้ค้ำประกัน ของธนาคารในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นเทียบเคียง หรือบางสถาบันการเงินก็สูงกว่าครั้งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008-2009 สะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ได้กลับเข้าสู่ภาวะวิกฤติเหมือนปี 2008 แต่สถานะของสถาบันการเงินยุโรปเข้าขั้นวิกฤติเท่ากันหรือมากกว่าครั้งนั้น แล้ว โดยเฉพาะสถาบันการเงินสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกรีซเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งตามข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2010 ของ Bank for international settlement (BID) ภาคธนาคารและเอกชนฝรั่งเศสเป็นเจ้าหนี้กรีซเป็นจำนวนเงินรวม 41,700 ล้านยูโร อันดับสองเป็นของธนาคารเยอรมัน 11,300 ล้านยูโร และอันดับสามธนาคารอังกฤษ 10,600 ล้านยูโรตามลำดับ ในที่สุดสถาบันการเงินในยุโรปก็ประสบปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้นอย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนและกองทุนตลาดเงินต่างๆซึ่งเคยซื้อตั๋วเงินระยะสั้นของ สถาบันการเงินต่างๆเหล่านี้ก็งดซื้อตั๋วเงินต่อ ในขณะที่สถาบันการเงินด้วยกันก็ลังเลที่จะปล่อยกู้ระยะสั้นให้แก่กัน ดังที่ธนาคารกลางสหรัฐได้แสดงความกังวลผ่านสื่อเมื่อไม่นานมานี้ และมีข้อตกลงระหว่างธนาคารกลางสหรัฐ สภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และสวิสเซอร์แลนด์ ที่จะเพิ่มวงเงินเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินในยุโรป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแห่ถอนเงินฝากของผู้ฝากเงินจนทำให้เกิดภาวะขาดสภาพ คล่องเฉียบพลัน (Bank run) เช่นเดียวกับสถาบันการเงินของไทยที่ต้องปิดตัวไปสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง

แม้ว่าสถาบันการเงินในยุโรปจะได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจากธนาคาร กลางประเทศต่างๆ  แต่ปัญหาสำคัญที่ยังคงมีอยู่คือ เงินกองทุนที่สถาบันการเงินจะต้องดำรงไว้เพื่อดำเนินกิจการ เมื่อสินทรัพย์ของธนาคาร เช่น สินเชื่อ พันธบัตร หุ้นกู้ หรือกระทั่งหุ้นที่ถือครองอยู่มีมูลค่าตลาดลดลง ในทางบัญชีแล้วเงินกองทุนฯก็จะต้องลดลงไปด้วย ถ้าราคาตลาดของสินทรัพย์ยังคงปรับตัวลดลงต่อไปเงินกองทุนฯก็จะยิ่งลดต่ำลงไป อีก ปัจจุบันการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของสถาบันการเงินในยุโรปยังถูกต้องข้อ สงสัยว่าประเมินมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงหรือไม่ เช่น พันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาบางรุ่นยังไม่ได้ถูกตีราคาตลาด (Market to market) ตามนโยบายบัญชีที่จะถือครองไปจนครบกำหนดอายุ หรือความสงสัยว่าแบบจำลองที่ใช้ในการประเมินมูลค่าตราสารอนุพันธ์ที่มีความ ซับซ้อนนั้นสามารถประเมินมูลค่าที่แท้จริงของตราสารเหล่านั้นได้อย่างถูก ต้องหรือไม่ แม้จะมีความพยายามจะทำ Stress test ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเพื่อดูความพอเพียงของเงินกองทุนฯ การทดสอบ Stress test นั้นก็ยังได้รับความสงสัยถึงวิธีการและความเข็มงวดของการทดสอบอยู่ดี ซึ่งหากแท้จริงแล้วสถาบันการเงินในยุโรปมีเงินกองทุนฯที่ไม่เพียงพอในการ ดำเนินกิจการ สถาบันการเงินเหล่านั้นก็มักจะเลือกขายสินทรัพย์ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ มากกว่าที่จะเพิ่มทุนในสภาวะที่ตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย ถ้าลองย้อนกลับไปดูสมัยวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ก็จะเห็นผลกระทบจากการเทขายสินทรัพย์เพื่อรักษาสภาพคล่องและฐานเงินทุน สถาบันการเงินได้อย่างชัดเจน อาจจะกล่าวได้ว่าปัญหาสภาพคล่องและเงินทุนของสถาบันการเงินในยุโรปใน ปัจจุบันถือว่าจุดที่วิกฤติที่สุดของปัญหาหนี้สินยุโรปในครั้งนี้ ดังที่ จอร์จ โซลอส ได้ออกมาเตือนว่าวิกฤติสถาบันการเงินในยุโรปครั้งนี้รุนแรงกว่าสมัย Lehmann brother  หากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในยุโรปต้องปิดกิจการเช่นเดียวกับ Lehmann brother ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกก็อาจรุนแรงเช่นเดียวกับหรือาจมากกว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสถานการณ์ปัจจุบันของของวิกฤติหนี้สินของยุโรป สำหรับอนาคตและแนวทางแก้ไขปัญหา ตลอดจนผลกระทบด้านอื่นๆในมุมมองของผู้เขียนยังมีอยู่อีก โปรดติดตามตอนต่อไป ^_^

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

วิกฤติหนี้ยุโรป อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (1)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM



นักลงทุนบางท่านอาจยังไม่ทราบว่าปัญหาหนี้สินในยุโรปที่นักวิเคราะห์ เศรษฐกิจและการเงินมักจะยกขึ้นมาอธิบายความผันผวนของตลาดหุ้นทั้งในและต่าง ประเทศว่ามันคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ดำเนินไปในทิศทางใด และควรมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ผู้เขียนจะลองนำเสนอเรื่องราวปัญหาหนี้สินในยุโรปผ่านทรรศนะส่วนตัวของผู้ เขียนแต่พอสังเขป

ปัญหาหนี้สินในยุโรปในครั้งนี้มีรากฐานมายาวนานเริ่มตั้งแต่หลังสงคราม โลกครั้งที่สอง ประเทศมหาอำนาจเดิมในยุโรปได้รับความสูญเสียมหาศาลจากสงครามไม่ว่าจะเป็นผู้ ชนะอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และสัมพันธมิตร หรือฝ่ายพ่ายสงครามอย่างเยอรมัน อิตาลี และพลพรรคอักษะ เปิดโอกาสให้สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ชนะที่สูญเสียน้อยที่สุดก้าวเข้ามาเป็น มหาอำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจแทน ค่าเงินสกุลหลักที่ใช้ซื้อขายสินค้ากันก็เปลี่ยนจากปอนด์สเตอริงมาเป็น ดอลลาร์สหรัฐและก็เป็นเช่นนั้นมาตลอดเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา เวลาผ่านไปความสำคัญของเศรษฐกิจยุโรปก็เริ่มลดลงโดยเฉพาะหลังจากที่เศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวหลังจากสงคราม ในที่สุดกลุ่มประเทศในยุโรปเริ่มรู้สึกว่าตนเองเริ่มจะด้อยกว่าประเทศเกิด ใหม่อย่างสหรัฐและต้องการกลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1992 ก็เริ่มมีแนวคิดจะรวมเศรษฐกิจยุโรปให้เป็นปึกแผ่น โดยการก่อตั้งสหภาพยุโรปซึ่งมุ่งเน้นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันภายใน ประเทศกลุ่มยุโรป เช่น การจ้างงานเสรี การเดินทางข้ามประเทศ อัตราภาษีพิเศษในภูมิภาค และที่สำคัญที่สุดกำหนดสกุลเงินหลักที่ใช้ร่วมกันในสหภาพยุโรปเพื่อคานอำนาจ กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในที่สุดค่าเงินยูโรก็ได้ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 1998

การปรากฏขึ้นของค่าเงินยูโรส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจของประเทศ สมาชิกสหภาพยุโรปโดยเฉพาะประเทศขนาดเล็ก เนื่องจากการเข้าร่วมสหภาพยุโรปทำให้สถานะภาพทางเศรษฐกิจของประเทศขนาดเล็ก เหล่านั้นได้รับการยอมรับมากขึ้น การเปลี่ยนไปใช้ค่าเงินยูโรซึ่งมีความแข็งแกร่งทำให้ประเทศขนาดเล็กเหล่า นั้นมีอำนาจในการซื้อสินค้ามากขึ้น (เมื่อค่าเงินแข็งขึ้นก็ทำให้สินค้าที่นำเข้ามีราคาถูกลง) ประกอบกับการก่อหนี้ก็จะสามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากค่าเงินสกุลยูโรได้รับการค้ำประกันโดยความน่าเชื่อถือของสหภาพ ยุโรป ส่งผลให้ประเทศขนาดเล็กเหล่านั้นบริโภคและลงทุนเกินตัว ผ่านรัฐสวัสดิการที่เกินความจำเป็น การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่สร้างผลตอบแทนไม่คุ้มค่า หรือการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายด้วยสินเชื่อหรือบัตรเครดิต (สำหรับนักลงทุนที่เป็นแฟนฟุตบอลสโมสรในยุโรปที่ทราบค่าจ้าง และค่าตัวซื้อขายนักฟุตบอลในยุโรปก็คงจะทราบถึงความฟุ้งเฟ้อที่ว่าได้ดี) ส่งผลให้ประเทศต่างๆในยุโรปเริ่มมีการขาดดุลการคลังมากขึ้น ในระยะแรกปัญหาขาดดุลการคลังยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่เนื่องจากการระดมเงินกู้ สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรปเช่น เอเชีย และอเมริกาใต้ ยินดีที่จะซื้อพันธบัตรของประเทศในสหภาพยุโรปไม่ว่าจะเพื่อการลงทุนหาผลตอบ แทนหรือการเก็บเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่นานวันเข้าภาระหนี้สินของประเทศเหล่านั้นก็เริ่มพอกพูนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐในปี ค.ศ. 2008 ส่งผลให้ประเทศในยุโรปยิ่งต้องพยายามดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลังเพื่อค้ำ จุนเศรษฐกิจของประเทศตัวเองให้พ้นจากภาวะถดถอยเร็วที่สุด จนในที่สุดกรอบข้อตกลงเรื่องการขาดดุลการคลังและเพดานหนี้สินของประเทศใน สหภาพยุโรปก็ไม่ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิกอีกต่อไป (ภาระขาดดุลต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี และหนี้สินต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60) ปัจจุบันเกือบทุกประเทศในยุโรปมีภาระหนี้สินต่อ GDP เกิน 100% บางประเทศมีการขาดดุลต่อ GDP มากกว่าร้อยละ 10 ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เช่น บราซิล อินเดีย รัสเซีย และจีน (BRIC) ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจของนักลงทุนว่าพันธบัตร ตราสารหนี้และค่าเงินในสกุลยูโรจะยังเป็นสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ ต่อไปอีกหรือไม่

ความกังวลเรื่องดังกล่าวเริ่มเลวร้ายมากขึ้นเมื่อประเทศขนาดเล็ก อย่างกรีซ ซึ่งเคยลงทุนเกินตัวสมัยเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคปี 2004 เริ่มส่ออาการขาดสภาพคล่องเมื่อนักลงทุนทยอยไม่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศ กรีซ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกรีซซึ่งเป็นต้นทุนกู้ยืมเงินผ่านการ ออกพันธบัตรของรัฐบาลกรีซเริ่มถีบตัวสูงขึ้น และทำให้นักลงทุนรายอื่นๆ ยิ่งลังเลที่จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลกรีซมากขึ้นไปอีก (ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกรีซอายุ 10 ปีอยู่ 21.34% เปรียบเทียบกับรัฐบาลสหรัฐ10 ปี อยู่ที่ 1.94% และพันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปี อยู่ที่ 3.84%) นานวันเข้าความกังวลเรื่องหนี้สินต่างๆเหล่านี้ก็เริ่มแพร่กระจายไปสู่ ประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปที่มีสภาพใกล้เคียงกับกรีซ เช่น ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ ฮังการี หรือกระทั่งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างอิตาลี และสเปน ทำให้ปัญหาในยุโรปดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกันบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับ เช่น S&P Moody และ Fitch ก็เริ่มปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในสหภาพยุโรป (บางประเทศปรับลดลงไปต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้) ซ้ำเติมให้ประเทศเหล่านั้นระดมเงินกู้ได้ยากขึ้นไปอีก จนในที่สุดธนาคารกลางของสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF (เจ้าเก่าสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง) ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือประเทศมีประสบปัญหาในยุโรปด้วยการให้สภาพคล่อง และระดมเงินมาซื้อพันธบัตรของประเทศต่างๆในสหภาพยุโรป เพื่อสกัดปัญหาตั้งแต่ต้นลมก่อนที่จะลุกลามบานปลายเกินแก้ไข

ปัญหาหนี้สินในยุโรปไม่ได้หยุดอยู่แค่ระดับของรัฐบาลเท่านั้น สถาบันการเงินในยุโรปต่างก็มีการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชนของประเทศใน สหภาพยุโรป เมื่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลงก็จำเป็นต้องตั้งสำรองหนี้สูญ มากขึ้น นอกจากนี้สถาบันการเงินในยุโรปยังปล่อยสินเชื่อให้รัฐบาลในสภาพยุโรปผ่านการ ซื้อพันธบัตรซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงสามารถใช้เป็น เงินทุนสำรองของธนาคารได้ แต่เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในยุโรปปรับตัวสูงขึ้น โดยเปรียบเทียบแล้วมูลค่าพันธบัตรที่สถาบันการเงินเหล่านั้นถือครองก็ลดลง (ตามหลัก Mark to market) ยิ่งพันธบัตรรัฐบาลเหล่านั้นถูกลดอันดับความน่าเชื่อ คุณภาพของสินทรัพย์และเงินกองทุนของสถาบันการเงินยุโรปยิ่งถูกตั้งของสงสัย มากขึ้นไปอีก ในที่สุดสถาบันการเงินในยุโรปก็เริ่มประสบปัญหาในการรักษาสภาพคล่องด้วยเช่นกัน

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นที่มาของวิกฤติหนี้สินของยุโรป สำหรับรายะละเอียดของปัญหาในปัจจุบัน แนวทางแก้ไขปัญหาและอนาคตของวิกฤติหนี้สินในยุโรปยังมีอยู่อีกมาก โปรดติดตามตอนต่อไป ^_^

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์กับการกระจายความมั่งคั่ง

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM


นักลงทุนทั่วไปคงจะพอจะรู้จักดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index – SET) กันอยู่บ้าง ซึ่ง SET Index เป็นดัชนีที่บอกถึงทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยโดยให้ความสำคัญตามมูลค่าตลาดของบริษัท (Market capitalize weighted) ถ้านับรวมเงินปันผลรับเข้าไปด้วยเราเรียกดัชนีที่รวมเงินปันผลนี้ว่า ดัชนีผลตอบแทนรวม (SET Total return index – SET TRI) แต่นักลงทุนทราบไหมว่า SET หรือ SET TRI มีนัยอย่างไรกับการกระจายตัวของความมั่งคั่ง (Wealth) ของนักลงทุนในตลาด วันนี้ผมขอนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้กัน

ผลตอบแทนของ SET TRI นี้แท้จริงแล้วเป็นค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนที่นักลงทุนทุกคนพึงได้รับจากการลง ทุนในตลาดหุ้น หมายความว่าถ้ามีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด (SET TRI) ก็ต้องมีนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าตลาด ซึ่งผลตอบแทนที่สูงกว่าอาจอยู่ในรูปการได้กำไรมากกว่าตลาด หรือขาดทุนน้อยกว่าตลาดก็ได้ การแพ้ตลาดจึงไม่เป็นว่าจะต้องขาดทุนเสมอไป ในอีกนัยหนึ่งการกระจายความมั่งคั่งของตลาดหุ้นก็จะถ่ายเทจากผู้แพ้ไปยังผู้ ชนะ โดยมีบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลเป็นคนเติมความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นไม่ว่า จะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะ (ดังนั้นการลงทุนในหุ้นจึงไม่ใช่ Zero sum game เหมือนการพนัน หรือตราสารอนุพันธ์)

เช่นนั้นแล้วตลาดหุ้นก็จะมีผู้ชนะและผู้แพ้พอๆกันอย่างนั้นหรือ ความจริงในตลาดทุนอาจโหดร้ายกว่านั้น กฎการกระจายความมั่งคั่ง 80 : 20 (ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนเพียง 20% ของโลกจะครอบครองความมั่งคั่ง 80% ของโลก) ก็สามารถนำมาอธิบายการกระจายความมั่งคั่งในตลาดหุ้นได้เช่นกัน หมายความว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าดัชนีในขณะที่นักลง ทุนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่า แต่ผลตอบแทนที่นักลงทุนส่วนน้อยได้รับนั้นจะสูงกว่าผลตอบแทนของตลาดมาก ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่ตัวเลขที่ตายตัว แต่แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงจะเอียงไปทางที่กลุ่มคนน้อยจะยิ่งครอบครองความ มั่งคั่งมาก ตามกลไกตลาดของระบบทุนนิยมที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ชนะ (นักลงทุนที่มีความมั่งคั่งมากกว่าจะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลเชิงลึกได้ดี กว่า สามารถขอการสนับสนุนทางการเงินได้มากกว่า เป็นต้น)

ในความเป็นจริงผู้ชนะในตลาดหุ้นก็มีหลากหลายกลุ่มปะปนกันไป อาจเป็นเจ้าของกิจการผู้ลงทุนลงแรงปลุกปั้นบริษัทมาแต่ต้น ผู้จัดการกองทุนขั้นเทพที่มีประสบการณ์ยาวนาน นักลงทุนต่างชาติที่มีแบบจำลองการลงทุนเชิงปริมาณที่สุดยอด หรืออาจเป็นนักลงทุนแบบทรงคุณค่าที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่เฉยๆที่บ้านก็ ได้ ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่ประเภทของนักลงทุน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าตราบเท่าที่การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นยังถูกกำหนดด้วย ความต้องการซื้อขายของนักลงทุน มิได้ถูกกำหนดโดยตรงด้วยแบบจำลองทางการเงินหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใดๆ ปัจจัยกำหนดการแพ้ชนะจะอยู่ที่วิธีการคิด และปฏิบัติของนักลงทุนท่านนั้นๆ ถ้าคิดและปฏิบัติเหมือนคนส่วนใหญ่นักลงทุนก็มีแนวโน้มจะได้ผลตอบแทนตามตลาด หรืออาจแพ้ตลาด แต่ถ้ามุ่งแต่จะคิดต่างโดยไม่สนใจว่าความเห็นที่ต่างนั้นจะถูกหรือผิด ผลลัพธ์ก็จะนำไปสู่ความล้มเหลวได้เช่นกัน ผู้ชนะในตลาดหุ้นจำเป็นต้องคิดแตกต่างอย่างถูกต้องเท่านั้น ซึ่งแนวคิดการลงทุนในตลาดหุ้นมีอยู่หลากหลายยากที่จะบอกได้ว่าวิธีการใดถูก ผิด ทุกแนวคิดการลงทุนมีผู้นำไปปฏิบัติและประสบความสำเร็จทั้งนั้น นักลงทุนพึงเลือกแนวคิดการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเองดังงานเขียนชิ้นก่อนๆที่ ข้าพเจ้าได้เคยเขียนไว้ พึงระลึกไว้ว่าการที่คิดและปฏิบัติแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ไม่สามารถบอกได้ ทันทีว่าเรากำลังคิดและทำถูกหรือผิด เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์และให้คำตอบกับเราเอง สุดท้ายนี้นักลงทุนอาจลองสำรวจผลการลงทุนของตัวเองว่าสูงหรือต่ำกว่าตลาดมาก น้อยเพียงใด ถ้าได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าตลาด ยินดีด้วยครับคุณเป็นคนส่วนใหญ่ J

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

ลงทุนอย่างมีสไตล์ (4)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM

 
ในครั้งก่อนๆได้แนะนำแนวทางการลงทุนแบบเชิงรับและเชิงรุกในรูปแบบต่างๆ ให้นักลงทุนได้รู้จักไปมากพอสมควรแล้ว ในครั้งสุดท้ายนี้จะขอนำเสนอคำแนะนำที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุน ที่สนใจในแนวทางบริหารการลงทุนรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้

รู้จักตัวเอง

นักลงทุนควรทำความเข้าใจกับตัวตนที่แท้จริงของตนเองให้มากที่สุดก่อนการ ตัดสินใจลงทุนใดๆ  คุณต้องการผลตอบแทนเท่าไร? คุณรับผลขาดทุนได้แค่ไหน? คุณมีระยะเวลาลงทุนนานเพียงใด?  ต้นทุนเงินทุนของคุณอยู่ที่เท่าไร? คุณมีเวลาติดตามการลงทุนของคุณมากน้อยเพียงใด? คุณมีความมั่นคงในความคิดของคุณมากน้อยแค่ไหน? อุปนิสัยของคุณเป็นเช่นไร? การรู้จักตัวเองนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะนำไปสู่รูปแบบการลงทุนที่เหมาะ สมสำหรับนักลงทุนแต่ละคนซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างมากก็ได้

เลือกรูปแบบที่ “ใช่”

เมื่อคุณรู้จักตัวเองดีพอแล้ว ก็ถึงคราวที่ต้องเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของตัวคุณ โดยนักลงทุนอาจพิจารณาข้อเสนอแนะต่อไปนี้เป็นแนวทางในเบื้องต้น

ถ้านักลงทุนเชื่อมั่นในงานวิจัยที่สนับสนุนว่าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพ ไม่มีใครสามารถเอาชนะตลาดในระยะยาวได้ เชื่อว่าการลงทุนในหุ้นเป็นเพียงการรับผลตอบแทนแบบสุ่ม (Random walk) ไม่มีเวลามากพอที่จะศึกษาบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่มากมาย หรือไม่อยากวุ่นวายกับการปรับเปลี่ยนพอร์ตหุ้นไปตามสถานการณ์ การลงทุนแบบเชิงรับ ดูจะเหมาะสมกับนักลงทุนมากที่สุด

หากนักลงทุนเป็นคนเชื่อว่าตนมีความสามารถในการวิเคราะห์ความเป็นไปของ ธุรกิจได้ดีกว่านักลงทุนทั่วไป ยึดมั่นในการวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงของกิจการและเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว ตลาดจะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของหุ้นเสมอ ชอบลงทุนในหุ้นโดยให้ความสำคัญกับความคุ้มค่ามากกว่าความคาดหวังการเติบโต และมีเวลามากพอที่จะรอให้เงินลงทุนของคุณเติบโตโดยไม่มีปัจจัยใดที่จะมาเร่ง เร้าการตัดสินใจได้ การลงทุนแบบเน้นคุณค่า น่าจะเป็นทางเลือกที่ “ใช่” สำหรับนักลงทุน

ถ้านักลงทุนเชื่อว่ามีความสามารถในการวิเคราะห์วัฎจักรของการเติบโตของ อุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้อง มองเห็นศักยภาพในการเติบโตของบริษัทที่โดนเด่น ยอมจ่ายแพงได้เพื่อบริษัทที่มีคุณภาพคู่ควร ชอบการลงทุนที่ออกดอกผลได้รวดเร็วจับต้องได้ การลงทุนแบบเน้นการเติบโต อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
ถ้านักลงทุนชื่นชอบการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดอย่างใกล้ชิด เชื่อมั่นว่าสามารถคาดการณ์การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นได้อย่างแม่นยำ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง และรวดเร็วกว่านักลงทุนทั่วๆไป สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดในภาวะแวดล้อมที่กดดัน ต้องการผลตอบแทนที่โดดเด่นในระยะเวลาอันสั้นหรือต้องการเปรียบเทียบผลตอบแทน กับดัชนีอ้างอิง การลงทุนแบบตามกระแส น่าจะเข้ากับนักลงทุนได้ที่สุด

ถ้านักลงทุนเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง มีความคิดที่เป็นอิสระและแน่วแน่เพียงพอที่จะขัดแย้งกับความเห็นของนักลงทุน ทั้งตลาดได้ พึงพอใจที่จะศึกษาธุรกิจของบริษัทต่างๆ ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งข่าวสารทางสื่อต่างๆ หรือบทวิจัยของนักวิเคราะห์ ต้องการข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจ และสามารถอดทนรับผลขาดทุนในระยะสั้นเพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาวได้ การลงทุนแบบสวนกระแส น่าจะคำตอบที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุน

ในโลกของการลงทุนมีวิธีการลงทุนให้ประสบความสำเร็จมากมายไม่ได้จำกัดอยู่ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น (หากในโลกการลงทุนมีรูปแบบการลงทุนที่ทำตามแล้วประสบความสำเร็จทุกคน นักลงทุนทุกคนก็คงรวยกันหมดและไม่มีใครขาดทุน) การเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมจึงเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน เพราะนักลงทุนแต่ละคนมีพื้นเพ ลักษณะนิสัย ระยะเวลาการลงทุน และข้อจำกัดการลงทุนที่แตกต่างกันไปรูปแบบการลงทุนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ จึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน การพยายามลงทุนตามแบบนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จโดยไม่พิจารณาความแตกต่าง ของตนกับต้นแบบอาจนำไปสู่ความล้มเหลวได้ (คุณอาจลงทุนตามแบบ วอร์เรน บัฟเฟต์ ได้ แต่สุดท้ายแล้วคุณก็ไม่ใช่เขา และคุณก็ไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงเวลาเดียวกับเขา ความสำเร็จของบัฟเฟต์จึงไม่อาจทำได้ด้วยการเลียนแบบวิธีการลงทุนเพียงอย่างเดียว) พึงระลึกไว้เสมอว่านักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจะหลีกเลี่ยงการวิพากษ์ วิจารณ์วิธีการลงทุนของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จคนอื่นๆ นั่นเป็นเพราะนักลงทุนเหล่านั้นให้การยอมรับความแตกต่างของแต่ละวิธีการลง ทุนนั่นเอง

บริหารตามสไตล์ที่เหมาะสม

การลงทุนในรูปแบบต่างๆมีแนวทางที่จะประสบความสำเร็จได้แตกต่างกันไป นักลงทุนควรทำความเข้าใจกับการลงทุนในรูปแบบต่างๆให้ถ่องแท้ รวมถึงการปรับแนวคิด ทัศนะคติ ปรัชญา และวิธีการลงทุนให้เหมาะสมกับรูปแบบที่เลือก เช่น นักลงทุนแบบตามกระแสจำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด กล้าที่จะตามกระแส ขายเพื่อเก็บกำไรและตัดขาดทุน (Chase up, Lock-in-profit and Stop loss) เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ในทางตรงกันข้ามนักลงทุนแบบสวนกระแสจะต้องทำการศึกษาบริษัทที่ลงทุนให้ลึก ซึ้ง เพิกเฉยต่อผลตอบแทนในระยะสั้นเพื่อเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว รวมถึงต้องมีความมั่นคงเพียงพอที่จะต่อต้านความเห็นที่ขัดแย้งของนักลงทุน ส่วนใหญ่และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนต่างๆ จนกว่าการลงทุนจะให้ผลกำไรตามที่ตั้งเป้าไว้ เป็นต้น

ทบทวนและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเมื่อจำเป็น

นักลงทุนควรหมั่นทบทวนการลงทุนของตนเองและยอมรับข้อผิดพลาดเพื่อปรับปรุง แก้ไขการลงทุนให้ดียิ่งขึ้น ในบางครั้งรูปแบบการลงทุนที่เลือกอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุน การเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนอาจเป็นทางออกที่ดี อย่างไรก็ดีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนบ่อยครั้งจนเกินไป หรือการปรับเปลี่ยนเพียงเพราะผลขาดทุนในระยะสั้นอาจทำให้เสียวินัยการลงทุน ในระยะยาวได้ พึงระลึกไว้เสมอว่าการลงทุนแต่ละรูปแบบต่างมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของตัวเอง (เช่น จากการศึกษาเชิงวิชาการระบุว่าการลงทุนแบบเน้นการเติบโต และเน้นคุณค่าให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป) การปรับเปลี่ยนรูปแบบบ่อยครั้งอาจทำให้นักลงทุนประสบแต่ช่วงเวลาที่เลวร้ายได้

การลงทุนในหุ้นยังมีรูปแบบอื่นๆและรายละเอียดปลีกย่อยที่ผู้เขียนยังไม่ ได้นำเสนออยู่อีกมากมาย นักลงทุนที่สนใจอาจศึกษาเพิ่มเติมได้จากงานเขียนที่เกี่ยวข้องทั่วไป สุดท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวคิดและข้อเสนอแนะต่างๆที่นำเสนอมาตลอด 4 ตอนที่ผ่านมาจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่สนใจบ้างตามสมควร

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

ลงทุนอย่างมีสไตล์ (3)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM

 
ในครั้งก่อนได้แนะนำแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และเน้นการเติบโตให้นักลงทุนได้รู้จักแล้ว ในครั้งนี้จะขอนำเสนอการลงทุนเชิงรุกในรูปแบบตามกระแสและสวนกระแส เพื่อเติมเต็มความเข้าในการลงทุนเชิงรุกให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

การลงทุนแบบตามกระแส (Momentum Investing)

การลงทุนแบบตามกระแสนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่ามนุษย์มีพฤติกรรมแห่ตาม กัน (Herding) เป็นพื้นฐาน ในเชิงจิตวิทยาการมนุษย์มีแนวโน้มที่จะคล้อยตามคนส่วนใหญ่มากกว่าที่จะมี ความเห็นที่ขัดแย้ง ในด้านการลงทุนนักลงทุนมักรู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะซื้อหุ้นที่ตลาดกำลังไล่ ซื้อ หรือหุ้นเด็ดที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เมื่อเทียบกับหุ้นที่ตลาดไม่รู้จัก หรือหุ้นที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึง การลงทุนในรูปแบบนี้จึงเน้นหุ้นที่กำลังอยู่ในความสนใจของตลาด ซึ่งหุ้นดังกล่าวอาจเป็นหุ้นโตเร็ว หุ้นที่อยู่ในวัฎจักรธุรกิจขาขึ้น หุ้นที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด หุ้นเก็งกำไร หรือหุ้นที่มีสัญญาณซื้อทางเทคนิคก็ได้

เมื่อหุ้นตัวหนึ่งปรับตัวเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจะกระตุ้นความสนใจของนัก ลงทุนส่วนหนึ่งให้มาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น และดึงดูดความสนใจของนักลงทุนรายใหม่เข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูง ขึ้นไปได้อีกเป็นวัฎจักรขาขึ้นเช่นนี้เรื่อยไปจนกระทั่งนักลงทุนส่วนหนึ่ง เริ่มระลึกได้ว่าราคาของหุ้นแพงเกินจริงหรือมีข่าวร้ายที่มีนัยสำคัญมากระทบ และเริ่มขายหุ้นออกมาจนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลง ซึ่งอาจกระตุ้นให้นักลงทุนคนอื่นๆที่ถือหุ้นดังกล่าวอยู่ขายหุ้น และกดให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปอีกจนกระทั่งก่อเป็นกระแสในขาลง

ลักษณะเด่นประการหนึ่งของหุ้นที่กำลังอยู่ในกระแสขาขึ้นคือ นักลงทุนจะตีความข้อมูลทางเศรษฐกิจ หรือข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับหุ้นเหล่านั้นไปในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ ข่าวร้ายที่มากระทบจะถูกเพิกเฉย ส่วนข่าวดีจะได้รับการตีความไปในทางดีจนเกินจริง ทำให้ราคาหุ้นที่อยู่ในกระแสสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทิศทางตลาดไปได้ เรื่อยๆ จนกว่ากระแสของหุ้นจะเปลี่ยนเป็นขาลง ลักษณะเด่นข้อนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทางตรงกันข้ามด้วยช่นกัน

เนื่องจากการลงทุนแบบตามกระแสนี้อาจให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจยิ่ง หรือให้ผลเลวร้ายอย่างที่สุดก็ได้ ขึ้นอยู่กับนักลงทุนจะสามารถเข้าใจวัฏจักรของหุ้นที่ลงทุนได้อย่างถูกต้อง หรือไม่ นักลงทุนแบบตามกระแสควรจึงให้ความสำคัญกับวัฎจักรดังกล่าว และเฝ้าติดตามปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสอย่างใกล้ชิด เช่น ผลประกอบการของบริษัท ทิศทางของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือแนวโน้มเชิงเทคนิค เป็นต้น ทั้งนี้นักลงทุนจะต้องตอบสนองให้ทันท่วงทีเมื่อเชื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ เป็นนัยสำคัญจนทำให้กระแสหุ้นเปลี่ยนทิศไป ดังคำกล่าวที่ว่า “เกาะติด โดดทัน” นั่นเอง

การลงทุนแบบสวนกระแส (Reversal Investing)

การลงทุนแบบสวนกระแสนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่ง จะมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ค่ากลางเสมอ (Mean reverting process) ดังนั้นหุ้นทุกตัวจึงมีวัฎจักรขึ้นลงสลับสับเปลี่ยนกันไป แต่ในระยะยาวแล้วราคาหุ้นทุกตัวจะกลับเข้าสู่ค่ากลางเสมอ การลงทุนแบบสวนกระแสจึงเน้นลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของตลาด แต่มีแนวโน้มว่าหุ้นดังกล่าวจะกลับมาสู่ความสนใจของตลาดอนาคต
นักลงทุนแบบสวนกระแสจะแสวงหาอุตสาหกรรมที่อยู่นอกความสนใจของตลาดใน ปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มจะกลับมาอยู่ในวัฎจักรขาขึ้นในไม่ช้า จากนั้นศึกษาเพื่อหาบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่เข็มแข้งซึ่งจะอยู่รอดใน ช่วงที่อุตสาหกรรมซบเซา (ในขณะที่บริษัทคู่แข่งล้มหายตายจาก) และได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ จากนั้นจึงเข้าลงทุนในระดับราคาที่เชื่อว่าตลาดได้ละเลยหุ้นดังกล่าวไปแล้ว โดยสิ้นเชิง แล้วรอจนอุตสาหกรรมนั้นฟื้นตัวและกลับเข้ามาอยู่ในความสนใจของตลาดอีกครั้ง เพื่อจะรอขายหุ้นไปในระดับราคาที่พอใจในขณะที่นักลงทุนคนอื่นๆในตลาดกำลัง ไล่ซื้อหุ้นนั่นเอง
นักลงทุนแบบสวนกระแสจำเป็นต้องปล่อยวางต่อการเคลื่อนไหวของภาวะตลาดใน ระยะสั้น และเพิกเฉยต่อการปลุกเร้าของตลาดในช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง เพื่อรอโอกาสที่เข้าลงทุนในระดับราคาที่เหมาะสม (ซึ่งโอกาสเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา และมักไม่อยู่ในภาวะตลาดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไล่ซื้อหุ้น) ทำให้บางครั้งนักลงทุนแบบสวนกระแสอาจถือครองเงินสดในขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเข้าซื้อหุ้นในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังเบื่อหน่ายตลาดหุ้นถึงขีดสุด ซึ่งจะแตกต่างกับการลงทุนแบบตามกระแสที่นักลงทุสนมักมีสถานะเสี่ยงกับหุ้น อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสถานะซื้อหรือขายชอร์ต (Selling short) เนื่องจากเชื่อว่าเขาเหล่านั้นสามารถจับกระแสตลาดหรือหุ้นแต่ละตัวได้อย่าง ถูกต้องตลอดเวลานั่นเอง

กล่าวโดยสรุปการลงทุนแบบสวนกระแสนี้นักลงทุนจำเป็นอาศัยความอดทน เพราะการรอให้ตลาดเปลี่ยนความสนใจจากอุตสาหกรรมที่กำลังร้อนแรงไปสู่ อุตสาหกรรมที่ตลาดไม่ได้ให้ความสนใจในขณะนั้นจำเป็นต้องอาศัยเวลาซื่งไม่ สามารถระบุแน่ชัดได้ นักลงทุนอาจจำเป็นต้องแบกรับผลขาดทุนในช่วงแรกเป็นปีๆ หรืออาจหลายปี ก่อนที่การลงทุนนั้นจะออกดอกผลที่เกินคุ้ม ด้วยเหตุนี้การลงทุนแบบสวนกระแสนี้จึงไม่เหมาะกับนักลงทุนที่มีระยะเวลาการ ลงทุนที่สั้น หรือต้องเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนกับดัชนีอ้างอิง

ในครั้งต่อไปจะเป็นบทสรุปของคอลลัมน์ “ลงทุนอย่างมีสไตล์” รวมถึงคำแนะนำที่อาจเป็นประโยชน์กับนักลงทุนสำหรับการลงทุนในรูปแบบต่างๆที่ ได้แนะนำให้นักลงทุนรู้จักไปแล้ว

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

ลงทุนอย่างมีสไตล์ (2)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM 



ในครั้งก่อนได้แนะนำแนวทางการลงทุนแบบเชิงรุกและเชิงรับในภาพกว้างให้นัก ลงทุนได้รู้จักแล้ว ในครั้งนี้จะขอนำเสนอการลงทุนเชิงรุกในรูปแบบต่างๆ แต่พอสังเขป เพื่อขยายขอบเขตความเข้าในในการลงทุนเชิงรุกให้มากขึ้น

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing)

การลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้มีพื้นฐานมาจากแนวคิดการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ของเบนจามิน แกรแฮม และเดวิด ดอจจ์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานซึ่งอ้างอิงจากอัตรา ส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น อัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์สุทธิ (P/E) อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) อัตราเงินปันผลตอบแทนที่ (Dividend yield) เป็นต้น โดยเชื่อว่าในระยะยาวราคาหุ้นจะปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐาน (Fundamental Value) การลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานจึงมีโอกาสกำไรมากกว่าขาดทุน แนวคิดของการลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับนักลงทุนระดับโลก อาทิ วอร์เรน บัพเฟต จอห์น เทมเพิลตัน จอห์น เนฟฟ์ เป็นต้น และการลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้ยังได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยเชิงวิชาการมาก มาย

การลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะมุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เพื่อค้นหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวมากกว่าการวิเคราะห์ทิศทางของ ตลาดหุ้น นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะแสวงหาหุ้นที่มีราคาต่ำจนน่าสนใจ ซึ่งอาจถูกระบุด้วยอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น หุ้นที่มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่ำกว่าตลาด หรืออัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่ำกว่าตลาด เป็นต้น หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นที่ไม่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั่วไป เช่น หุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่อิ่มตัว หุ้นที่มีผลการดำเนินขึ้นอยู่กับวัฎจักรทางเศรษฐกิจ หรือหุ้นที่กำลังประสบปัญหา ฯลฯ แล้วรอจนตลาดเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อหุ้นเหล่านั้น ผลักดันให้ราคาหุ้นปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐานดังกล่าวจึงขายทำกำไร

นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะศึกษาบริษัทจดทะเบียนต่างๆโดยละเอียด และประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวด้วยวิธีต่างๆ เช่น วิธีคิดลดกระแสสด (Discount cash flow) วิธีเปรียบเทียบอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิกับตลาด เป็นต้น จากนั้นรอจนกระทั่งระดับราคาของหุ้นเหล่านี้ปรับตัวลดลงสู่ระดับราคาที่ เหมาะสมจึงเข้าลงทุนเพื่อให้ได้ผลอตอบแทนที่ต้องการ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะขายหุ้นออกไปเมื่อราคาปรับตัวสูงเกินกว่ามูลค่าที่ เหมาะสม หรือเมื่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้มูลค่าที่เหมาะสม ของบริษัทปรับตัวลดลงจนอยู่ในระดับไม่น่าดึงดูดใจ เพื่อเตรียมเงินเอาไว้สำหรับการลงทุนในครั้งต่อไป

การลงทุนแบบเน้นการเติบโต (Growth Investing)

การลงทุนแบบเน้นการเติบโตเป็นการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับหุ้นที่มีเรื่อง ราวของการขยายกิจการ การควบรวมกิจการ การเข้าซื้อกิจการ หรือการเข้าประมูลโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทในกลุ่มดังกล่าวจะมีอัตราการเติบโตของยอดขาย หรือกำไรสุทธิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด แม้ว่าหุ้นดังกล่าวอาจมีราคาแพงเมื่อพิจารณาในแง่ของอัตราส่วนราคาต่อกำไร สุทธิ หรืออัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีก็ตาม

นักลงทุนที่เน้นการเติบโตจะมุ่งแสวงหาหุ้นที่มีประวัติการเติบโตของกำไร สุทธิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังมีโอกาสรักษาอัตราการเติบโตให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อไปในอนาคต หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่มักอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกิดใหม่ อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต หรืออุตสาหกรรมที่เพิ่งฟื้นตัวจากปัญหา (Turn around) เมื่อบริษัทประกาศผลประกอบการที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด จะส่งผลให้อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ดีขึ้น เช่น อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิของหุ้นลดลง (เนื่องจากกำไรสุทธิมากขึ้น ทำให้อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิลดลง) และจะดึงดูดนักลงทุนรายใหม่เข้ามาให้ความสนใจกับหุ้นเหล่านี้มากขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นโตเร็วเหล่านี้สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้อีก ถ้าบริษัทดังกล่าวสามารถรักษาการเติบโตของกำไรสุทธิให้อยู่ในระดับสูงอย่าง ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน กำไรและราคาหุ้นก็จะยิ่งเพิ่มพูนเป็นเท่าทวี อย่างไรก็ดีหากบริษัทไม่สามารถสร้างการเติบโตของผลกำไรได้ตามที่ตลาดคาด การณ์หรือประสบกับข่าวร้ายที่มีนัยสำคัญ จนทำให้นักลงทุนหมดศรัทธาในความสามารถการเติบโตของบริษัท ราคาของหุ้นโตเร็วเหล่านี้ก็อาจปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว และสร้างผลขาดทุนมหาศาลให้กับนักลงทุนได้

ด้วยเหตุนี้การลงทุนแบบเน้นการเติบโตนี้จึงควรพิจารณาความเหมาะสมของราคา ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่านักลงทุนกำลังยอมจ่าย “แพง” เพื่อให้ได้รับอัตราการเติบโตที่สมเหตุสมผล โดยนักลงทุนอาจใช้อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อการเติบโต (PEG – Price to earning to growth) ซึ่งหาได้จากการนำเอาอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิไปหารด้วยอัตราการเติบโตของ บริษัท แล้วนำอัตราส่วนดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับตลาดหรือค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเพื่อ เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

ในครั้งต่อไปจะพาทุกท่านไปรู้จักกับรูปแบบการลงทุนแบบตามกระแส (Momentum) และ การลงทุนแบบสวนกระแส (Reversal) รวมถึงคำแนะนำต่างๆที่อาจเป็นประโยชน์กับนักลงทุน

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

ลงทุนอย่างมีสไตล์ (1)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM    


         
ในโลกการลงทุนมีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่มาก มาย ซึ่งนักลงทุนทั้งหลายเหล่านี้อาจมีแนวคิด และวิธีปฏิบัติที่อาจเหมือนหรือแตกต่างกันแบบสุดขั้วก็ได้ แท้จริงแล้วการลงทุนในหุ้นนั้นมีรูปแบบการลงทุน (Styles) ที่นำไปสู่ความสำเร็จที่หลากหลาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการเงินได้จำแนกรูปแบบการลงทุนที่หลากหลายนี้ให้เป็น หมวดหมู่ต่างๆเพื่อให้ง่ายแก่ศึกษาและเข้าใจ วันนี้จึงจะขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับการลงทุนในหุ้นในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนคำแนะนำ และข้อเสนอแนะ ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่การลงทุนของท่านผู้อ่านในอนาคต

การลงทุนแบบเชิงรับ (Passive)

การลงทุนแบบเชิงรับ หมายถึง การลงทุนที่ตั้งเป้าหมายจะสร้างผลตอบแทนที่เทียบเคียงได้กับผลตอบแทนของตลาด โดยการลงทุนในหุ้นตามน้ำหนักของหุ้นในดัชนีอ้างอิง (เช่น SET Index) ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือทางการลงทุนที่เอื้อแก่การลงทุนแบบเชิงรับนี้มาก มาย เช่น กองทุนรวมดัชนี (Index Fund) กองทุนรวมดัชนีอีทีเอฟ (Exchange traded fund) หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

การลงทุนรูปแบบนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมมุติฐานตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient market hypothesis) ซึ่งกล่าวว่าราคาหุ้นสามารถปรับตัวสะท้อนกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่มีผล กระทบกับมูลค่าของบริษัททั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ที่สามารถพยากรณ์ได้) ได้อย่างรวดเร็วจนอาจกล่าวได้ว่าราคาหลักทรัพย์ที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันเป็น ราคาที่สมเหตุสมผลอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของราคาในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆที่ ไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้นความพยายามที่จะหาหลักทรัพย์ที่มูลค่าต่ำกว่าหรือสูงกว่าราคาที่ เหมาะสมนั้นไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการลงทุนได้ในตลาดที่มี ประสิทธิภาพ และไม่มีนักลงทุนผู้ใดที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดได้อย่างสม่ำเสมอ ในระยะยาว ซึ่งแนวคิดการลงทุนแบบเชิงรับนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมมุติฐานทางการเงิน และ
งานวิจัยมากมาย

ด้วยเหตุนี้การลงทุนแบบเชิงรับจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การคัดสรรหุ้น หรือสรรหากลยุทธ์การลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น หากแต่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนไปที่การลดต้นทุนในการบริหาร จัดการ เช่น ค่านายหน้า  ภาษี ค่าใช้จ่ายในการทำบทวิเคราะห์ และเวลาที่ใช้ในการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นจุดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับการบริหารแบบเชิงรุก

นักลงทุนที่เน้นการลงทุนแบบเชิงรับจึงควรใช้เวลา และให้ความสำคัญกับการกระจายการจัดสรรทรัพย์สินลงทุน (Asset allocation) ให้มากที่สุด โดยให้ตั้งเป้าหมายการลงทุนและระยะเวลาลงทุนที่ชัดเจน เช่น ผลตอบแทนที่คาดหวัง ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ ระยะเวลาการลงทุน สภาพคล่องที่ต้องการในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น จากนั้นจึงจัดสรรน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ เพื่อให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งไว้ข้างต้น แล้วปล่อยให้การลงทุนในหุ้นเป็นหน้าที่ของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนแบบ เชิงรับต่างๆ ซึ่งมีข้อได้เปรียบในแง่ค่าธรรมเนียมและต้นทุนการบริหารที่ต่ำกว่าเป็นผู้จัดการแทน



การลงทุนแบบเชิงรุก (Active)

การลงทุนแบบเชิงรุกหมายถึงการลงทุนที่ตั้งเป้าหมายจะสร้างผลตอบแทนที่ดี กว่าผลตอบแทนของตลาด หรือในอีกแง่หนึ่งการลงทุนแบบเชิงรุกอาจมีเป้าหมายการลงทุนเพื่อลดความ เสี่ยงให้ต่ำกว่าตลาด การลงทุนในเชิงรุกนสามารถแตกแขนงย่อยไปเป็นรูปแบบการลงทุนย่อยๆได้อีกมากมาย เช่น การลงทุนแบบเน้นคุณค่า การลงทุนแบบเน้นการเติบโต ฯลฯ ซึ่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียดค่อนข้างมาก
การลงทุนในรูปแบบเชิงรุกตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าตลาดไม่ได้มี ประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา (Inefficient market) นักลงทุนสามารถหาหุ้นที่มีตลาดประเมินมูลค่าที่แท้จริงผิดพลาดไปได้ (Mispricing) และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดในระยะยาวได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม และขายหุ้นที่มีราคาสูงกว่ามูลค่าที่เหมาะสม ซึ่งวิธีการระบุมูลค่าที่เหมาะสมนี้อาจแตกต่างกันไปสำหรับนักลงทุนเชิงรุก ที่มีรูปแบบต่างๆกัน เช่น นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าอาจระบุมูลค่าที่เหมาะสมโดยให้ความสำคัญกับ P/E ratio ในขณะที่นักลงทุนเชิงรุกที่เน้นการเติบโตอาจกำหนดมูลค่าที่เหมาะสมโดยเน้น ที่อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ เป็นต้น การลงทุนแบบเชิงรุกนี้ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนที่ประสบความเร็จในการลง ทุนในตลาดหุ้นมากมาย อาจกล่าวได้ว่านักลงทุนที่มีชื่อเสียงทุกรายล้วนมากจากแนวทางการลงทุนแบบเชิงรุกทั้งสิ้น ด้วยเหตุที่การลงทุนแบบเชิงรุกมีรูปแบบและรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย นักลงทุนที่เชื่อมั่นในการบริหารแบบเชิงรุกจึงควรทำความเข้าใจกับการลงทุน เชิงรุกในแบบต่างๆ และเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับลักษณะของนักลงทุนแต่ละบุคคล

ในครั้งต่อไปจะพาทุกท่านไปรู้จักกับรูปแบบการลงทุนแบบเชิงรุกแบบเน้นคุณ ค่า (Value) และ การลงทุนที่เน้นการเติบโต (Growth) รวมถึงคำแนะนำต่างๆที่อาจเป็นประโยชน์กับนักลงทุน

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

จิตวิทยากับการลงทุน (4)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM 



ในเนื้อหาสามตอนแรกได้แนะนำให้นักลงทุนรู้จักกับพฤติกรรมการลงทุนแบบ ต่างๆ ไปมากพอสมควรแล้ว ในครั้งสุดท้ายนี้จะขอนำเสนอข้อแนะนำการลงทุนที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับ นักลงทุนที่สนใจ

เตรียมตัวเองให้พร้อม

นักลงทุนควรเริ่มต้นจากการสำรวจและทำความรู้จักกับตัวเองให้มากที่สุด โดยนักลงทุนควรตอบคำถามต่อไปนี้ให้ได้ นักลงทุนสามารถรับผลขาดทุนได้มากน้อยเพียงไร? นักลงทุนต้องการผลตอบแทนเท่าไร? นักลงทุนต้องการใช้เงินเมื่อไรบ้าง? ข้อจำกัดด้านภาษีและการลงทุนมีอะไรบ้าง? เพื่อนำมาตั้งเป้าหมายการลงทุนที่เหมาะสมและจัดสรรเงินลงทุนเพื่อให้บรรลุ ตามเป้าหมาย การลงทุนโดยไม่สำรวจตัวเองก่อนมักส่งผลให้นักลงทุนมุ่งเน้นผลตอบแทนจากการลง ทุนมากจนละเลยการพิจารณาความเสี่ยงและสภาพคล่องของการลงทุนเป็นผลให้ลงทุน เสี่ยงเกินตัว ในหลายกรณีพบว่ากว่านักลงทุนจะระลึกตัวได้ว่าเสี่ยงเกินไปก็สายเกินแก้เสีย แล้ว

เรียนรู้ให้รอบด้าน

การเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อขยายขอบเขตการลงทุนให้กว้างขวางเป็นสิ่งที่ สำคัญ เนื่องจากสินทรัพย์แต่ละประเภทอาจให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในช่วงเวลาที่แตกต่าง กัน เช่น ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตราสารอื่น ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่น่าดึงดูด หรือในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูงสินค้าโภคภัณฑ์อาจให้ผลตอบแทนที่โดดเด่น เป็นต้น การจำกัดตัวเองอยู่กับความรู้ในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งจะทำให้นักลง ทุนเสียโอกาสในการลงทุน และจะทำให้การกระจายการลงทุนด้อยประสิทธิภาพได้

รักที่จะลงทุน

นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทุนเพียงเพราะเขาเหล่านั้น ต้องการเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะรักที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับการลงทุน ชอบที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับมัน และยอมรับผลที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน การลงทุนโดยเอาผลกำไรเป็นที่ตั้งจะทำให้นักลงทุนขาดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ และอาจทำให้ละเลยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ซึ่งอาจมีนัยสำคัญกับผลลัพธ์ในการลงทุนได้ นอกจากนี้การมุ่งเน้นแต่จะเอากำไรมักทำให้นักลงทุนเสี่ยงเกินตัวโดยไม่รู้ตัวและรับไม่ได้กับผลขาดทุนที่เกิดขึ้นแม้เพียงช่วงสั้นๆก็ตาม

กระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม

การทุ่มเงินลงทุนลงไปในการลงทุนอย่างเดียวอาจให้ผลตอบแทนที่หวือหวา แต่หากผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์นักลงทุนก็อาจถึงกับหมดเนื้อหมดตัวได้ ไม่ใครที่จะถูกต้องเสมอไปในโลกของการลงทุน ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการลงทุนมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน ความผิดพลาดจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าเราจะวิเคราะห์หรือเตรียม ตัวมาดีเพียงใดก็ตาม ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งซึ่ง นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากความสูญเสียจำนวนมากในคราวเดียวแล้ว ยังช่วยทำให้ผลตอบแทนจากลงทุนเติบโตอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

คิดในภาพรวม

ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นผลรวมของผลกำไรขาดทุนของการลงทุนทั้งหมด นักลงทุนจึงไม่ควรมุ่งความสนใจไปยังการลงทุนหนึ่งมากจนละเลยการติดตามความ เปลี่ยนแปลงของการลงทุนอื่น เช่น นักลงทุนคนหนึ่งอาจเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของหุ้นตัวหนึ่งอย่างใกล้ชิด จนขาดการติดตามความเปลี่ยนแปลงของหุ้นตัวอื่นที่อยู่ในพอร์ต ผลสุดท้ายแล้วเขาก็ได้กำไรของหุ้นตัวที่เฝ้าติดตาม แต่ขาดทุนจากหุ้นตัวอื่นจนทำให้การลงทุนทั้งหมดขาดทุน  (You may win a battle but lose the war)

มองไปข้างหน้า

นักลงทุนลงทุนเพื่อรับผลตอบในอนาคต ไม่ใช่ผลตอบแทนในอดีตที่ผ่านมาแล้ว นักลงทุนจึงควรการพยากรณ์อนาคตโดยอาศัยเหตุปัจจัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้น มากกว่าการใช้ข้อมูลในอดีตเพียงอย่างเดียว เพราะเหตุการณ์ในอนาคตไม่จำเป็นต้องย้อนรอยอดีต การคาดการณ์อนาคตโดยอาศัยเพียงข้อมูลในอดีตเปรียบได้กับการขับรถโดยมองเพียง กระจกหลังด้วยความเชื่อว่าเส้นทางข้างหน้าจะเหมือนกับเส้นทางที่เคยขับผ่าน มาย่อมเป็นอันตรายแก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

กล้าที่จะแตกต่าง

ตามปกติพฤติกรรมกลุ่มมักกดดันให้คนเราลังเลที่จะคิดหรือทำอะไรที่แตกต่าง แต่ในโลกการลงทุนความคิดนอกกรอบเป็นสิ่งที่จำเป็น การที่เราคิดไม่เหมือนคนอื่นไม่ได้หมายความว่าจะผิดเสมอไป เวลาจะให้คำตอบเราเองว่าถูกหรือผิด แม้แต่นักลงทุนที่ยิ่งใหญ่อย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงมาจากการคิดตามผู้อื่น ในทางตรงกันข้ามการยึดติดกับความคิดของคนส่วนใหญ่มักทำให้เกิดพฤติกรรมแห่ ตามกัน ซึ่งผลตอบแทนจากการแห่ตามก็จะเป็นไปตามตลาด นักลงทุนจะสามารถเอาชนะตลาดได้จำเป็นต้องอาศัยการคิดแตกต่างอย่างถูกต้อง (Think correctly and independently)

ปรับความคิดให้ยืดหยุ่น

โลกของการลงทุนมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นักลงทุนจึงควรเปิดใจให้กว้างและพร้อมจะยอมรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เพราะข้อมูลข่าวสารหรือความรู้ใหม่ ๆ อาจเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ที่เคยคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ การติดตามและปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันจึงเป็นจำเป็น หากเหตุการณ์ต่างๆไม่เป็นไปตามสมมุติที่ตั้งไว้นักลงทุนก็ควรยอมรับและปรับ ปรุงการคาดการณ์ใหม่ให้ถูกต้อง นอกจากนี้นักลงทุนไม่ควรประเมินการลงทุนโดยยึดติดเฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แล้วในอดีต (Say after fact) รวมถึงความคิดเพื่อปกป้องความผิดของตนเอง เช่น “บอกแล้ว…” “ว่าแล้ว…” “รู้งี้…” ไม่เป็นประโยชน์กับการลงทุนต่อไปในอนาคต นักลงทุนควรยอมรับความผิดพลาดในอดีตของตน และนำมาปรับปรุงแก้ไขกระบวนการตัดสินใจลงทุนให้รัดกุมยิ่งขึ้น

ติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงการลงทุนอยู่เสมอ

นักลงทุนควรติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลงของภาพรวมเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และบริษัทจดทะเบียนอย่างสม่ำเสมอและวิเคราะห์ปัจจัยอาจส่งผลกระทบกับพอร์ต การลงทุน เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนให้ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้นักลงทุนควรหมั่นทบทวนบันทึกรายการซื้อขายของตน เพื่อศึกษาข้อบกพร่องของตนเองและหาวิธีปรับปรุงข้อด้อยต่างๆเพื่อให้การลง ทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทสรุป

แนวคิดด้านจิตวิทยากับการลงทุนเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างใหม่และยังมีราย ละเอียดที่ผู้เขียนยังไม่ได้นำเสนออีกมาก ซึ่งนักลงทุนสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากงานเขียนที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถหาได้ทั่วไป สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวคิดและข้อแนะนำที่นำเสนอมาตลอด 4 ตอนที่ผ่านมาจะเป็นประโยชน์ในการลงทุนของนักลงทุนที่สนใจบ้างไม่มากก็น้อย

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

จิตวิทยากับการลงทุน (3)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM 


ในเนื้อหาสองตอนก่อนได้แนะนำให้นักลงทุนรู้จักกับ Behavioral finance ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับกระบวนการ ตัดสินในลงทุนไปพอสมควรแล้ว ครั้งนี้จะกล่าวถึงพฤติกรรมการลงทุนที่เหลือ เพื่อขยายขอบเขตความเข้าใจใน Behavioral finance ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

Cognitive dissonance

เมื่อคนเราพบว่าความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ในโลกแตกต่างไปจากความเชื่อที่ตนยึดมั่นถือมั่น มนุษย์มักมีพฤติกรรมต่อต้านโดยสัญชาติญาณ และพยายามจะทำให้ความจริงที่ประจักษ์และความเชื่อของตนเป็นไปในทางเดียวกัน เช่น ธรรมชาติของนักลงทุนมักเชื่อมั่นในความสามารถในการทำกำไรจากการลงทุน เมื่อเกิดผลขาดทุนขึ้น ข้อแก้ต่างมากมายเท่าที่จะนึกได้จะถูกนำมากล่าวอ้างเพื่อปกป้องความเชื่อ มั่นในการลงทุนของตนไว้ เช่น “ถ้าตลาดหุ้นในภูมิภาคไม่ตกอย่างหนักในวันนี้ก็คงไม่ขาดทุน” “ถ้าบริษัทไม่ประกาศผลขาดทุนออกมาเสียก่อนก็คงได้กำไร” “ในพอร์ตมีหุ้นอยู่หลายตัวขาดทุนไปแค่ตัวเดียวไม่เป็นไร” เป็นต้น

ตัวอย่างของผลที่ตามมาจากพฤติกรรมที่นักลงทุนพยายามจะหลีกเลี่ยง Cognitive dissonance ได้แก่
  • Selective recall คือ พฤติกรรมที่เลือกจำเมื่อการตัดสินใจของตนถูกต้อง เมื่อมีโอกาสพูดคุยก็คนอื่นๆ ก็มักพูดถึงเฉพาะการลงทุนที่ตนทำกำไรได้ บางครั้งนักลงทุนก็อาจไม่ได้ตั้งใจปกปิดการลงทุนของตนแต่เป็นเพราะว่าจำไม่ ได้จริงๆ นักลงทุนจึงมีความสุขอยู่เสมอเมื่อนึกถึงการลงทุนของตน แต่ก็ไม่เคยเรียนรู้จากความผิดพลาดและทำผิดซ้ำรอยเดิม
  • Selective evaluate คือ พฤติกรรมที่ถือว่าผลกำไรที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความสามารถในการลงทุนของตน ในขณะที่กล่าวโทษผลขาดทุนว่าเป็นผลสิ่งแวดล้อมหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน อื่นๆ นักลงทุนจึงไม่รู้สาเหตุของความผิดพลาด หรือรู้แต่ปฏิเสธว่าไม่ใช่ความผิดของตน ข้อผิดพลาดของนักลงทุนจึงไม่ได้รับการแก้ไข
โดยสรุป Cognitive dissonance เป็นพฤติกรรมที่ขัดขวางกระบวนการเรียนรู้ในระยะยาวของนักลงทุน โดยการปฏิเสธความจริงเพื่อปกป้องความเชื่อของตน ซึ่งแท้จริงแล้วการขาดทุนไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกว่านักลงทุนล้มเหลวในการลงทุน โดยสิ้นเชิง หากแต่เป็นสิ่งเตือนในให้นักลงทุนได้ระลึกถึงสาเหตุของความผิดพลาด และปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจลงทุนให้รัดกุมขึ้น การยอมรับผลขาดทุนจึงไม่ใช่สิ่งที่น่าละอาย พึงระลึกไว้เสมอว่านักลงทุนที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่เคยประสบกับผลขาด ทุนมาแล้วแทบทุกราย

Familiarity

นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะเลือกลงทุนในสิ่งที่ตนมีความคุ้นเคย โดยใช้ความคุ้นเคยเป็นทางลัดในการตัดสินใจลงทุน เช่น ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ลงทุนในบริษัทตนทำงานอยู่ ลงทุนในบริษัทที่ตนซื้อสินค้าและบริการ หรือกระทั่งลงทุนในบริษัทที่คนรู้จักบอกว่าดี เป็นต้น

การลงทุนในสิ่งที่นักลงทุนคุ้นเคยย่อมดีกว่าลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้จัก แต่การใช้ความคุ้นเคยเป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความรอบคอบในการตัดสินใจลงทุน ขาดการติดตามความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ลงทุน และประเมินความเสี่ยงจากการลงทุนต่ำเกินไป นอกจากนี้การลงทุน “เฉพาะ” สิ่งที่คุ้นเคยโดยเพิกเฉยต่อการเรียนรู้ทางเลือกในการลงทุนใหม่ ยังส่งผลให้นักลงทุนเสียโอกาสในการลงทุนที่ดี และการกระจายการลงทุนขาดประสิทธิภาพได้ โลกของการลงทุนนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การลงทุนจึงต้องอาศัยการติดตามข้อมูล และการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่มีที่สิ้นสุด

House money

ได้แก่พฤติกรรมที่นักลงทุนนำกำไรที่ได้จากการลงทุนครั้งก่อนมาลงทุนต่อใน สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมากๆ เพราะถือว่าผลกำไรที่ได้มาจากการลงทุนก่อนหน้าไม่ใช่เงินทุนของตนแต่เป็น เงินที่ได้เปล่า (Free money) พฤติกรรมดังกล่าวทำให้นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งแท้จริงแล้วกำไรที่ได้มาไม่ใช่ของฟรีหากแต่ได้มาเพราะแบกรับความเสี่ยง จากการลงทุนในครั้งก่อน ซึ่งการลงทุนครั้งต่อไปไม่จำเป็นว่าจะต้องได้กำไรเสมอไป การรับความเสี่ยงมากเกินความจำเป็นอาจทำให้ผลกำไรที่ได้มาหายไปอย่างรวดเร็ว และอาจขาดทุนเงินต้นได้ในที่สุด ดังนั้นนักลงทุนจึงควรถือกำไรที่จากการลงทุนเสมือนเป็นเงินทุนของตนและ พยายามเพิ่มค่าของเงินต้นและผลกำไรที่ได้มาก่อนหน้าตามระดับความเสี่ยงที่ เหมาะสมกับตนเอง

Try to break even

เมื่อเกิดผลขาดทุนจากการลงทุนนักลงทุนอาจต้องการได้เงินทุนของตนกลับมา โดยเร็ว จึงพยายามลงทุนเสี่ยงมากขึ้นเพื่อคาดหวังกำไรมาชดเชยผลขาดทุนที่เกิดขึ้นโดย เร็วที่สุด ซึ่งอาจอยู่ในลักษณะการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น หรือเพิ่มเงินลงทุนลงไปในการลงทุนเดิมที่มีอยู่ (ซื้อถัวต้นทุน) หากภาวะการลงทุนยังเป็นไปทิศทางเดิมการเพิ่มความเสี่ยงรังแต่จะทำให้ผลขาด ทุนมากขึ้น นักลงทุนจึงควรตัดสินใจลงทุนโดยยึดการคาดการณ์โดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพราะนักลงทุนไม่อาจกำหนดความเป็นไปของตลาดได้ ทำได้เพียงปรับการลงทุนให้เหมาะสมกับภาวะตลาดและความเสี่ยงที่ตนรับได้เท่า นั้น

ในครั้งหน้าจะเป็นบทสรุปของ “จิตวิทยากับการลงทุน” พร้อมคำแนะนำสำหรับนักลงทุนที่สนใจ

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น 

จิตวิทยากับการลงทุน (2)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM



ในครั้งก่อนได้แนะนำให้นักลงทุนรู้จัก Behavioral finance ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับกระบวนการ ตัดสินในลงทุนไปพอสังเขป ในครั้งนี้จะขอนำเสนอพฤติกรรมการลงทุนที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนแบบ อื่นๆ เพื่อขยายขอบเขตความเข้าใจใน Behavioral finance มากขึ้น

Representativeness

มนุษย์มักมีพฤติกรรมเปรียบเทียบสิ่งที่ตนกำลังประสพอยู่กับประสบการณ์ที่ ตนเคยพบเห็นมาในอดีต และมีแนวโน้มที่จะพยายามหาหลักฐานหรือตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมา เป็นเงื่อนไขในการพยากรณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาและช่วยให้การตัดสินใจ ของตนง่ายขึ้น เช่น ความเชื่อที่ว่านักเรียนที่สามารถทำคะแนนเฉลี่ยในการศึกษาระดับมัธยมปลายจะ ประสบความสำเร็จในการสอบเข้าและเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เป็นต้น อย่างไรก็ดีเงื่อนไขง่ายๆ เหล่านั้นอาจไม่ใช่ปัจจัยบ่งชี้เหตุการณ์ที่จะเกิดตามมาได้ดีเพียงพอ เนื่องจากตัวอย่างที่นำมาเปรียบเทียบอาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ดี และปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอาจมาจากหลายสาเหตุ หรือสาเหตุเดียวกันก็อาจทำให้เกิดผลที่ตามมาได้หลากหลาย การใช้เงื่อนไขง่ายๆ เพียงหนึ่งหรือสองเงื่อนไขจึงไม่อาจพยากรณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดตามมาได้อย่าง แม่นยำ เช่น นักเรียนที่ได้เกรดเฉลี่ย 4.00 ในระดับมัธยมปลายอาจไปเลือกเรียนในสาขาวิชาที่ตนไม่ชอบหรือไม่ถนัดทำให้ไม่ ประสบความสำเร็จในระดับมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ตัวอย่างของ Representativeness ที่มักพบเห็นได้บ่อยในกระบวนการตัดสินใจลงทุนมีดังต่อไปนี้
1) การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดีจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลกำไร บริษัทที่มีความแข็งแกร่งและผลประกอบการที่ดีอย่างสม่ำเสมอย่อมเป็นทางเลือก ในการลงทุนที่ดี แต่นักลงทุนก็สามารถขาดทุนมหาศาลจากบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีได้ หากเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวที่ราคาสูงเกินไป หรือเข้าซื้อหุ้นในขณะที่ผลกำไรของบริษัทปรับตัวสูงสุด (Peak of the business cycle) และมีแนวโน้มที่จะแย่ลง เป็นต้น การลงทุนจึงควรพิจารณาโดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์สิ่งที่จะเกิดในอนาคตมากกว่า อดีตที่ผ่านไปแล้ว
2) กลยุทธ์การลงทุนแบบไล่ราคา คือกลยุทธ์การลงทุนที่ไล่ซื้อหุ้นที่ราคากำลังปรับตัวขึ้นโดยคาดว่าราคาหุ้น จะปรับตัวขึ้นต่อไป แม้ว่าการลงทุนแบบไล่ราคาอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำกำไรให้นักลงทุนได้ แต่หากการปรับตัวของราคาหุ้นขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ เกี่ยวข้องในระยะยาวเป็นเพียงพฤติกรรมแห่ตามกันอย่างขาดเหตุผล การลงทุนแบบไล่ราคาก็อาจจบลงด้วยผลขาดทุนที่คาดไม่ถึงได้ นอกจากนี้งานวิจัยในต่างประเทศก็ยังระบุว่าหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดีกว่า ตลาด (Outperform market) ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า จะมีผลการดำเนินงานที่แย่กว่าตลาดในช่วง 2-3 ปีต่อไป (Underperform market) จึงไม่อาจรับประกันได้ว่าหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในอดีตจะให้ผลกำไรดีอย่าง ต่อเนื่องในอนาคต

กล่าวโดยสรุป Representativeness เป็นพฤติกรรมที่จะลดทอนประสิทธิภาพการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์โดยใช้เหตุผลของนักลงทุน ทำให้การตัดสินใจลงทุนขาดความรอบคอบ และมักทำให้เกิดการขาดทุนอย่างไม่คาดหมาย การตัดสินใจลงทุนจึงควรวิเคราะห์สาเหตุ (ปัจจัยพื้นฐาน ภาวะตลาด และสภาพแวดล้อมการลงทุน ฯลฯ) อย่างรอบคอบเพื่อคาดการณ์ผลลัพธ์ (การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น) ที่จะเกิดตามมามากกว่าการใช้เงื่อนไขง่ายๆ เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจดังกล่าวข้างต้น

Fear of regret & Seeking of pride

Fear of regret คือ พฤติกรรมที่นักลงทุนกลัวที่จะต้องยอมรับว่าการตัดสินใจของตนผิดพลาด เป็นเหตุให้ไม่ตัดใจขายหุ้นที่ตนลงทุนผิดพลาดออกไป นักลงทุนจึงขาดทุนจากการไม่ยอมรับความจริงนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ คำกล่าวที่มักพบบ่อยในกรณีนี้ เช่น ไม่ขายไม่ขาดทุน ขาดทุนอย่าขาย เป็นต้น ในความเป็นจริงหากผลขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้นจากปัจจัยที่ส่งผลระยะยาว เช่น ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่แย่ลงและกำลังจะแย่ต่อไปอีก การถือครองหุ้นนั้นต่อไปจะยิ่งทำให้ขาดทุนมากขึ้นๆ การตัดใจขายหุ้นนั้นออกไปเพื่อไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่ามา ชดเชย หรือขายออกไปก่อนเพื่อรอรับหุ้นนั้นกลับในราคาที่ถูกกว่าจึงเป็นทางเลือกที่ สมเหตุสมผลกว่า

Seeking of pride คือ พฤติกรรมที่นักลงทุนรู้สึกยินดีเมื่อรู้ว่าการตัดสินใจของตนถูกต้อง จึงพยายามขายหุ้นเพื่อรับรู้กำไรโดยละเลยการพิจารณาปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยว ข้อง เป็นเหตุให้นักลงทุนขายหุ้นที่ดีเร็วจนเกินไปจนเสียโอกาสที่จะทำกำไรจำนวน มากจากหุ้นนั้น

Fear of regret และ Seeking of pride เป็นพฤติกรรมที่กดดันให้นักลงทุนขายหุ้นที่แย่ช้าเกินไป (Hold loser too long) และขายหุ้นที่ดีเร็วเกินไป (Sell winner too early) ซึ่งอาจลดทอนผลกำไรจากการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ นักลงทุนจึงควรตัดความรู้สึกดังกล่าวออกจากกระบวนการตัดสินใจลงทุน โดยยึดมุมมองต่อหุ้นเหล่านั้นในอนาคตเป็นหลักในการตัดสินใจ นักลงทุนพึงระลึกอยู่เสมอว่าหากราคาหุ้นที่ถือครองปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคา ที่ซื้อแปลว่านักลงทุนได้ขาดทุนไปแล้วแม้ว่านักลงทุนจะยังไม่ขายหุ้นออกไปก็ ตาม ดังนั้นหากนักลงทุนเชื่อว่าราคาหุ้นดังกล่าวอาจปรับตัวลงต่อได้อีกก็ควรจะ ขายหุ้นนั้นออกไปไม่ว่าจะซื้อมาที่ราคาเท่าไร (Stop loss) ในทางกลับกันหากนักลงทุนเชื่อว่าหุ้นดังกล่าวจะปรับตัวสูงขึ้นควรถือครอง หุ้นนั้นๆต่อไปไม่ว่าจะได้กำไรมาแล้วเท่าใดก็ตาม (Let’s profit run)

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น 

จิตวิทยากับการลงทุน (1)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM


ในทางปฏิบัติหุ้นก็เป็นสินค้าที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันเช่นเดียวกับ สินค้าปกติ โดยนักลงทุนเป็นผู้กำหนดราคาของหุ้นตามอุปสงค์และอุปทานของนักลงทุนในแต่ละ ช่วงเวลาด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น ปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยเชิงเทคนิค การวิเคราะห์เชิงปริมาณ สภาพคล่อง หรือกระทั่งข่าวลือ ด้วยเหตุนี้ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจึงมีส่วนถูกผลักดันด้วยจิตวิทยามวลชน ของนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเชิงวิชาการมีการศึกษาผลกระทบของปัจจัยด้านจิตวิทยามวลชนที่มีต่อราคาของ หลักทรัพย์ที่รู้จักกันในชื่อ Behavioral finance ซึ่งเป็นที่แพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

Behavioral finance เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการนำเอาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางสังคม อารมณ์ และความรู้สึกของมนุษย์มาอธิบายการตัดสินใจของนักลงทุนในสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงผลกระทบของการตัดสินใจดังกล่าวที่มีต่อราคาสินทรัพย์ในแต่ละช่วงเวลา การศึกษาด้าน Behavioral finance ได้แสดงให้เห็นข้อโต้แย้งเกี่ยวข้องกับสมมุติฐานประสิทธิภาพของตลาดทุน (Efficient market hypothesis) พร้อมทั้งอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ตลาดทุนไร้ประสิทธิภาพด้วยสาเหตุในด้าน จิตวิทยา เช่น พฤติกรรมตอบสนองมากเกินไปหรือน้อยเกินไป (Over-react and Under-react) พฤติกรรมแห่ตามกัน (Herding effect) และพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่อ้างอิงปัจจัยพื้นฐาน (Noise trading) เป็นต้น ดังนั้นการศึกษา Behavioral finance จะทำให้นักลงทุนเข้าใจถึงพฤติกรรมการลงทุนที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งจะช่วยปรับปรุงและพัฒนาวิธีการลงทุนของนักลงทุนให้ดียิ่งขึ้นได้

เนื่องด้วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Behavioral finance ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพมีอยู่มากมาย ประกอบกับหัวข้อที่ทำการศึกษาก็มีอยู่อย่างกว้างขวาง เพื่อให้กระชับและง่ายต่อการเข้าใจผู้เขียนจึงขอยกเอาหัวข้อพฤติกรรมที่น่า สนใจและพบได้บ่อยในกลุ่มนักลงทุนบางข้อมาอธิบายแต่พอสังเขป

Overconfidence

บางครั้งนักลงทุนก็มีความเชื่อมั่นสูงเกินไป โดยมองโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงกว่าความเป็นจริง สาเหตุอาจเกิดจากความสำเร็จของนักลงทุนในอดีตที่ผ่านมาหรือสภาพแวดล้อมของ การลงทุนในขณะนั้น โดยส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปของความเชื่อมั่นว่าตนสามารถหาข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และความรวดเร็วกว่านักลงทุนทั่วไป หรือสามารถความตีความและนำข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่านักลงทุน ทั่วไป ความเชื่อมั่นที่มากเกินไปนี้จะส่งผลประทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนใน หลายประการดังต่อไปนี้
1) ประเมินความเสี่ยงของความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ต่ำจนเกินไป ทำให้โดยพอร์ตการลงทุนมักมีความเสี่ยงมากกว่าที่นักลงทุนยอมรับได้ และผลลัพธ์จากการลงทุนก็มักจะอยู่นอกเหนือจากที่คาดการณ์
2) ประเมินความเสี่ยงไม่รอบด้าน ทำให้ระบุปัจจัยเสี่ยงที่กระทบกับการลงทุนไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาความเสี่ยงของตราสารที่มีความซับซ้อน เช่น ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) หรือหุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured notes) เป็นต้น
3) เชื่อมั่นในการวิเคราะห์ พยากรณ์มากเกินไป ทำให้นักลงทุนขาดการติดตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ และปรับปรุงข้อมูลให้ทันต่อเหตุการณ์ แม้ว่าความเป็นจริงที่ปรากฏจะผิดไปจากที่พยากรณ์อย่างมีนัยสำคัญก็ตาม ความเชื่อมั่นดังกล่าวทำให้พอร์ตการลงทุนจึงมักพบการลงทุนที่กระจุกตัวและมี การกระจายความเสี่ยงน้อยกว่าที่ควร
4) เชื่อว่าตนสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆได้ และสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไปได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้นักลงทุนมันมีพฤติกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ถี่เกินความจำเป็น

พฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลให้การลงทุนขาดประสิทธิภาพ และมีความเสี่ยงมากกว่าที่ควร นักลงทุนจึงพึงระมัดระวัง และสำรวจตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่ามีเชื่อมั่นมากเกินไปหรือไม่ โดยอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้
1) หาข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนน้อยลง การตัดสินใจส่วนใหญ่มักอ้างอิงจากประสบการณ์
2) รับฟังความเห็นที่แตกต่างน้อยลง ให้ความสำคัญกับความเห็นของตนมากกว่าผู้อื่นเสมอ
3) หาข้ออ้างให้กับการตัดสินใจลงทุนหรือการพยากรณ์ที่ผิดพลาดมากกว่าหาสาเหตุที่ทำให้เกิด
4) ลงทุนในตราสารที่มีความผันผวนสูงขึ้น และลงทุนเกินตัวมากขึ้น (Leveraged)
5) พอร์ตการลงทุนกระจุกตัว และมีพฤติกรรมการซื้อขายบ่อยครั้ง

แม้ว่าความเชื่อมั่นมากเกินไปเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนที่มีประสบการณ์ยาวนาน หรือนักลงทุนที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นที่มากเกินไปอาจทำลายความสำเร็จ ที่เคยได้รับให้หมดไปได้อย่างรวดเร็ว การตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาทจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนพึงกระทำ

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น