วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

ว่าด้วยเรื่องของภาษีคนโสด

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา New feed ของผมเต็มไปด้วยความเห็นเกี่ยวกับการเก็บภาษีคนโสด ที่มีนักวิชาการท่านหนึ่งนำเสนอขึ้นมาเพื่อปรับโครงสร้างของประชากร ในฐานะที่ผมเป็นนักลงทุนที่ไม่ค่อยเป็นวิชาการนัก ขอยืมความเห็นของแฟนเพจท่านหนึ่งที่วิจารณ์ใน New feed ของผมแบบแรงๆเลยว่า "ไร้สาระ" แนะนำให้ไปหาช่องทางการปรับโครงสร้างประชากรด้วยวิธีอื่นจะดีกว่า เช่น การขยายอายุเกษียณจากเดิมอายุ 60 เป็น 65 แต่เปิดช่องให้สามารถสมัครใจเกษียณ (Early retire) ได้ที่อายุ 60 เป็นต้น เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบเป็นลูกจ้างอยากเป็นกันแต่เถ้าแก่ เกิดมาเยอะๆอาจจะกลายเป็นยิ่งขาดแคลนแรงงานหนักเข้าไปอีกก็ได้ สุดท้ายก็ต้องจ้างแรงงานต่างชาติอยู่ดี

การใช้ภาษีมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายควรเป็นไปในลักษณะการให้ "คุณ" เพื่อจูงใจให้คนทำ ไม่ใช่ให้ "โทษ" กับคนที่ไม่อยากทำ ทุกวันนี้คนโสดก็เสียภาษีเต็มแบบไม่ได้ลดหย่อนอยู่แล้ว และคนโสดหลายๆคนทำงานจนดึกดื่นเพราะไม่มีภาระครอบครัว ซึ่งนับเป็นประโยชน์กับประเภทชาติมากกว่าคนมีครอบครัวแล้วบางคนแต่ง หน้า+เก็บของตั้งแต่ 4 โมง พอสี่โมงครึ่งยืนรอรูดบัตรหน้าประตูเพื่อกลับไปหาครอบครัว การใช้ภาษีเพื่อให้ "โทษ" ควรใช้กับสิ่งที่ไม่สนับสนุนให้ทำเท่านั้น

ถ้าหากรัฐบาลมีรายได้จากภาษีไม่มีเพียงพอจะเอาใช้นโยบายลดแหลก แจก แถม ผมแนะนำให้เก็บภาษีในรายการดังต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมากกว่า ภาษีคนโสดหลายเท่า

1. ภาษีมรดก เป็นภาษีที่ผมว่าน่าเก็บมากที่สุด เพราะมรดกเป็นสิ่งที่ผู้รับได้มาแบบไม่ต้องใช้ความสามารถ หรือทำประโยชน์อะไรให้แก่สังคม แค่บังเอิญได้เกิดมาเป็นลูกหลานเศรษฐีแค่นั้น และอันที่จริงทายาทเศรษฐีบางคนก็เอามรดกเหล่านี้มากดขี่ข่มเหงคนหาเช้ากิน ค่ำเสียอีก ส่วนผู้ให้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สมบัติเหล่านี้อีกแล้ว เพราะตายไปแล้วเอาอะไรไปด้วยไม่ได้ การเก็บภาษีมรดกนี้ควรเก็บเป็นลักษณะขั้นบันได เช่น มรดกส่วนที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทไม่คิดภาษี มรดกส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทคิดภาษี 10% มรดกส่วนที่ไม่เกิน 100 ล้านบาทคิดภาษี 30% มรดกส่วนที่ไม่เกิน 1000 ล้านบาทคิดภาษี 50% มรดกส่วนที่เกินกว่า 1000 ล้านบาทจัดไปเลย 75% เพราะเกินกว่านี้เรียกว่าเหลือกินเหลือใช้แล้ว และควรให้มีการตรวจสอบการโอนทรัพย์สินก่อนเสียชีวิตด้วยเผื่อเศรษฐีหัวหมอ โอนทรัพย์ให้ลูกหลานก่อนตายเพื่อเลี่ยงภาษี

การเก็บภาษีมรดกจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ เพราะไม่ว่ารุ่นพ่อจะสร้างสะสมทรัพย์สมบัติ (หรือโกงเขามา) มากมายซักเท่าไร พอจะส่งต่อไปถึงรุ่นลูกจะต้องแบ่งส่วนหนึ่งคืนแก่สังคมทำให้คนรุ่นทายาท เศรษฐีไม่ได้เปรียบคนทั่วๆไปมากจนเกินไปทำให้เกิดการผูกขาดระบบเศรษฐกิจให้ อยู่ในวงจำกัดของคนไม่กี่ตระกูล และลดแรงจูงใจในการคอร์รับชั่นด้วยเพราะโกงไปมากแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องเอามา คืนประเทศ ยิ่งโกงมากก็ยิ่งคืนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่คุ้มเสี่ยงที่จะโดนจับโกงได้ จะได้โกงกันแบบพอเพียง ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศก็มีการเก็บภาษีมรดกกันอย่างกว้างขวาง มีแต่ประเทศกำลังพัฒนานี่แหละที่ไม่ยอมเก็บเพราะกลัววงศ์ตระกูลจะรวยกันไม่ พอ

2. ภาษีที่ดิน มหาเศรษฐีบางคนรวยแล้วไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร ก็เอาเงินไปสะสมที่ดินตามหัวเมืองต่างๆ เก็บไว้เก็งกำไร บางทีก็เก็บไว้อย่างนั้นแหละไม่ได้ทำประโยชน์อะไร แทนที่ที่ดินเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นที่ดินทำกิน หรือสร้างประโยชน์แก่สาธารณชน รัฐควรเก็บภาษีที่ดินที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ โดยเก็บในอัตราก้าวหน้าเช่นกัน เช่น ที่ดินไม่ใช้ประโยชน์เกิน 10 ไร่ คิดอัตราหนึ่ง ที่ดินไม่ใช้ประโยชน์เกิน 100 ไร่ คิดอัตราสองเท่า ที่ดินไม่ใช้ประโยชน์เกิน 1000 ไร่คิดอัตราสามเท่า เพิ่มไปเรื่อยๆ ถ้าหากสะสมที่ดินแล้วไม่สามารถทำประโยชน์ได้เท่าภาษีที่จะต้องจ่ายก็ควรจะ ขายออกให้คนที่ต้องการใช้ดินทำประโยชน์ได้ดีกว่า แน่นอนการเก็บภาษีที่ดินควรคิดในลักษณะ Chain Principle แบบเดียวกับที่ กลต. ตรวจสอบการถือหุ้นของนักลงทุน โดยนับรวมการถือครองที่ดินของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ Nominee และบริษัทที่มีอำนาจควบคุมด้วย เผื่อมีเศรษฐีหัวหมอเอาที่ดินไปซุกไว้

3. ภาษีบาป เช่น เหล้า บุหรี่ ผับ บาร์ สถานบันเทิง อาบอบนวด ภาษีพวกนี้ขึ้นไปเยอะๆเลย ไม่มีคนกล้าค้านหรอก ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรได้รับการสนับสนุนก็ควรจะเก็บภาษีมากๆ เพื่อเอาเงินมาพัฒนาประเทศชาติ ใครอยากเปิดผับเกินเที่ยงคืนให้เปิดไปแต่เก็บภาษีให้หนักๆ 50% หรือ 75% เก็บไปมากๆไม่คุ้มทุนเดี๋ยวก็ปิดกันไปเอง แต่ถ้าจ่าย 75% แล้วยังอยู่กันได้ก็ให้เปิดไป แสดงว่าลูกค้ากระเป๋าหนักจริงอยากจ่ายเงินเพื่อพัฒนาสังคมก็ไม่ว่ากัน


4. ภาษีบุคคลธรรมดา อัตราสูงสุดของบุคคลธรรมดาปัจจุบันอยู่ที่ 35% ซึ่งนับว่าต่ำ ความจริงถ้ารัฐร้อนเงินก็ควรเพิ่มขั้นภาษีขึ้นไปอีก เช่น รายได้เกิน 10 ล้านบาทต่อปีคิด 40% รายได้เกิน 100 ล้านต่อปีคิด 50% รายได้เกิน 500 ล้านต่อปีคิด 75% เป็นต้น ในขณะเดียวกับก็คงภาษีเงินได้นิติบุคคลให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อจูงใจให้เศรษฐีรายได้สูงเหล่านี้เอาเงินมาลงทุนให้เกิดรายได้ในรูปของ บริษัทจำกัด เพื่อให้เกิดการการลงทุนและการจ้างงาน รวมถึงการตรวจสอบแหล่งที่มาและที่ไปของเงินเพื่อการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น อังกฤษมีพิกัดภาษีคนรวยที่ 50% ฝรั่งเศสมีพิกัดภาษีคนรวยที่ 75%

ความจริงแค่เก็บภาษีสองข้อแรกได้ ผมว่าปัญหาการคลังของประเทศไทยก็จะโล่งไปได้เยอะแล้ว และเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะหลักการสำคัญของการเก็บภาษีคือเอารายได้เหลือกินเหลือใช้ของคนรวยมา ช่วยเหลือคนจนที่ขาดโอกาสให้ตั้งตัวได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ใช่เน้นเก็บภาษีคนส่วนใหญ่ที่หาเช้ากินค่ำ แล้วมาเอื้อประโยชน์แก่คนรวยแล้วเหลือเป็นมรดกกินไปถึงลูกถึงหลาน

ผมยืนยันว่าผมไม่ใช่คนเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือเสื้อสีใดๆ และไม่ใช่คนที่มีหัวเอียงทางสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ คนที่รู้จักผมดีจะรู้ว่าผมนี่แหละเป็นทุนนิยมแบบสุดๆแล้ว แต่ผมก็เชื่อว่าทุนนิยมก็ควรจะมีคำว่าพอเพียง ภาพลักษณ์ของการเป็นมหาเศรษฐี ไม่ควรเป็นแบบอย่างของการเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ หรือคอร์รับชั่น มหาเศรษฐีก็สามารถแสดงออกถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้ อย่างที่ Warren Buffet ยอมบริจาคทรัพย์สินมากกว่าครึ่งของเขาให้กับกองทุนการกุศลที่จัดตั้งขึ้นโดย Bill Gates

น่าเสียดายที่ผมไม่เชื่อว่าจนวันสุดท้ายของชีวิตผม ผมจะได้เห็นการเก็บภาษีสองข้อแรก เพราะผมเชื่อว่านักการเมืองไทยยังห่างไกลกับคำว่า “พอ” นัก มีแล้วก็อยากมีเพิ่ม รวยแล้วก็อยากรวยขึ้น ต่อให้รวยเป็นมหาเศรษฐีก็ยังอยากรวยขึ้นเพื่อไปติดอันดับโลกในนิตยสาร Forbe

อนิจจาตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้...