ก่อนอื่นของบอกผู้อ่านไว้ก่อนเลยว่าถ้าใครยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ ผมแนะนำให้เลิกอ่านบทความของผมเดี๋ยวนี้ รีบไปหา DVD หนังเรื่องนี้มาดูแล้วค่อยกลับมาอ่านบทความของผมต่อ ถ้าคุณยังไม่อยากเสียอรรถรสจากดูหนังที่ผมคิดว่ามีสาระเกี่ยวกับการลงทุนมาก ที่สุดเท่าที่เคยดูมา ถ้าท่านเคยดูแล้ว หรือคิดว่าจะไม่ดูแน่ๆก็เชิญอ่านต่อไปได้ครับ
Moneyball เป็นหนังที่สร้างมาจากนิยายเรื่อง Moneyball: The Art of Winning an Unfair Game ซึ่งเขียนเกี่ยวกับชีวประวัติจริงๆของ Billy Beane ผู้จัดการทั่วไปของทีมเบสบอล Oakland Athletics ในช่วงปี 2002 หลังจากทีม Athletics พ่ายแพ้แก่ New York Yankees ในปี 2001 Beane ต้องทนเห็นซุปเปอร์สตาร์ในทีมทยอยเดินจากทีมไปอยู่กับทีมที่เงินหนากว่า ด้วยงบประมาณที่มีอยู่จำกัด การจะหาผู้เล่นระดับท๊อปมาแทนที่ก็เป็นไปไม่ได้ แค่การรักษาผู้เล่นเก่าก็ยากแล้ว Beane ไม่สามารถเล่นตามเกมของทีมเงินหนาอย่าง Yankees ได้จึงจำเป็นต้องหาวิธีการทำทีมใหม่เพื่อสู้กับทีมที่มีงบประมาณมากกว่า 3 เท่า (41 ล้านเหรียญกับ 125 ล้านเหรียญ)
Peter Brand นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มจบใหม่เสนอวิธีการจัดหาผู้เล่นที่เหมาะสมเข้าทีมในรูป แบบที่วงการเบสบอลไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเสนอให้มองข้ามรูปลักษณ์ที่เห็นอยู่ภายนอก ด้วยการนำเอาสถิติของผู้เล่นแต่ละคนในด้านต่างๆมาพิจารณา แล้วเลือกผู้เล่นจากสิ่งที่ทีมอยากได้จากเขาเหล่านั้นจริงๆ
วิธีการทั่วๆไปที่แมวมองเบสบอลสมัยนั้นใช้จะเป็นการพิจารณาแบบผิวเผิน เช่น ดูจากการทำแต้ม สถิติการขว้าง หรือสถิติการตี รวมถึงรูปลักษณ์ภายนอก เช่น ความเป็นดาราดึงดูดแฟนเบสบอลเข้าสนาม ดูหน่วยก้าน หรือกระทั่งดูแฟน (ถ้านักเบสบอลคนไหนแฟนสวย แสดงว่ามีความมั่นใจสูงถึงกล้าจีบคนสวย) ผลก็คือแมวมองเหล่านี้ก็มันจะมาสนใจนักเบสบอลคนเดียวกัน ส่งผลให้ค่าตัวของนักเบสบอลเหล่านั้นพุ่งสูงเกินจริง ทั้งๆที่ทีมอาจไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่า นี้ก็ได้ ทีมเบสบอลมี Pitcher ขว้างได้ครั้งละคน มี Butter ตีได้ครั้งละคน คนทำแต้มได้ไม่ใช้คนตีโดน หรือขว้างดี แต่เป็นคนที่ทำเบสได้มากที่สุดต่างหาก
Brand นำเอาสถิติต่างๆมาพิจารณาอย่างละเอียด แล้วเลือกผู้เล่นที่ทำได้ดีที่สุดในสิ่งที่แผนการเล่นของทีมต้องการ เขาไม่ได้เลือกนักเบสบอลที่ทำแต้มได้มากที่สุด แต่เขาเลือกคนที่ทำเบสได้มากที่สุด เขาไม่ได้เลือกคนที่ตีแม่นที่สุด แต่เขาเลือกคนที่เอาฟาวล์จากคู่แข่งได้มากที่สุด เขาไม่ได้เลือกคนที่ขว้างแรงที่สุด แต่เขาเลือกคนที่ท่าขว้างประหลาดที่สุดจนคู่แข่งจับทางไม่ได้ ทำให้ทีมของ Beane เต็มไปด้วยนักเบสบอลที่เข้าข่าย “ประหลาด” แต่ค่าตัวถูก เช่น แก่เกินแกง หัวเข่าไม่สมบูรณ์ หรืออ้วนลงพุง เป็นต้น ในจำนวนนี้บางคนต้นสังกัดเดิมถึงกับยอมออกค่าเหนื่อยช่วยเพื่อผลักไสให้ไป พ้นๆทีมเสียด้วยซ้ำไป
ในช่วงต้นฤดูกาล 2002 ผลงานของทีมประหลาดของ Beane ย่ำแย่ถึงขีดสุด พ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องลงไปกองบ๊วยของ Major League นั่นเพราะโค้ชของทีมไม่ได้ศรัทธาในแนวทางของ Beane จึงยังจัดผู้เล่นลงสนามแบบเดิมๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับผู้เล่นที่ถูกดึงเข้ามาเพื่อให้เล่นตามแผนการเล่นของ Beane และ Beane เองก็ไม่สามารถก้าวก่ายอำนาจของโค้ชในการจัดทีมลงสนามได้ จนในที่สุด Beane ตัดสินใจล้างบางผู้เล่นในสไตล์ “แบบดั้งเดิม” เขาทำกระทั่งปล่อย Carlos Pena ซึ่งเป็นซุปเปอร์สตาร์คนสุดท้ายของทีมออกไปเพื่อกดดันให้โค้ชจัดทีมลงสนาม ตามปรัชญาของเขา
มาถึงจุดนี้ทุกคนมองว่า Beane บ้าไปแล้ว และนั่งนับวันรอว่าเมื่อไร Beane จะโดนไล่ออกซะที แต่ผลกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เหล่าผู้เล่นที่โค้ชถูกบังคับให้จัดลงสนามกลับทำผลงานได้ตามแผนของ Beane แม้รูปแบบการเล่นจะไม่สวยงามแต่ทรงประสิทธิภาพ จนกระทั่ง Athletics ทำสถิติชนะ 20 เกม ต่อเนื่องกันและเป็นสถิติของ Major league ในสมัยนั้น
แม้ว่าสุดท้ายแล้ว Athletics จะไปไม่ถึงฝันไปจอดอยู่แค่รอบ Knock out (Post season) แต่แนวทางการทำทีมของ Beane ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการเบสบอล จนกระทั่ง John William Henry II แห่ง Fenway Group (แฟนบอลหงส์แดงน่าจะรู้จักดี เพราะเป็นเจ้าของสโมสรลิเวอร์พูลในปัจจุบัน) เสนอให้ Beane มาทำทีม Boston Red Sox ด้วยค่าจ้าง 12.5 ล้านเหรียญต่อปี ซึ่งสูงที่สุดในวงการเบสบอลสมัยนั้น แต่ Beane ก็ปฎิเสธข้อเสนอของ Red sox และเป็นผู้จัดการทีม Athletics ต่อไปอย่างน่ายกย่อง
เล่ามาถึงตอนนี้แล้ว Moneyball มันเกี่ยวกับการลงทุนตรงไหน Moneyball สะท้อนความจริงหลายประการในตลาดทุนผ่านมุมมองของกีฬาเบสบอล
Moneyball แนะให้เรามองข้ามรูปลักษณ์ภายนอก และมองให้เห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงของมัน (Valuation) หุ้นบางตัวอาจขึ้นได้เพราะออกสื่อบ่อย โฆษณาเยอะ หรือมีนักวิเคราะห์พูดถึงมาก แต่มันก็ทำให้ราคาหุ้นเหล่านี้สูงเกินจริงตลอดเวลา (Overvalue) แม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะสามารถเติบโตได้จริงตามคาดการณ์แต่ราคาหุ้นที่พุ่ง ขึ้นไปสูงมากก็จะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่น้อยลง (กำไรบริษัทจะโตไม่ทันราคาหุ้นทันซะที) หุ้นพวกนี้ P/E ก็จะสูงตลอดเวลา ซึ่งคนได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จาก PR เหล่านี้ก็คือเจ้าของกิจการนั่นเอง นักลงทุนทั่วไปที่เข้าซื้อหุ้นหลังจากที่ตลาดรู้จักกันแล้วอาจไม่ได้กำไร อะไรมากนักเพราะกว่าจะมาซื้อเอาก็ตอนที่คนพูดถึงกันทั่วแล้วราคาก็วิ่งขึ้น ไปเยอะแล้ว และวันใดหากบริษัทไม่สามารถรักษาการเติบโตของกำไรให้อยู่ในระดับสูงเช่นนั้น ได้ต่อไป (ซึ่งวันนั้นจะต้องมาถึงแน่ๆ เพระาไม่มีธุรกิจใดที่จะเติบโตในอัตราสูงๆได้ตลอดไป) ปาร์ตี้ก็จะเลิกใครที่ลุกจากโต๊ะช้าสุดก็ต้องจ่ายแทนทุกคนที่ลุกไปก่อน เช่นเดียวกับ นักกีฬาเบสบอลที่เป็นที่สนใจของพวกแมวมองด้วยวิธีการมองแบบผิวเผิน ค่าตัวที่แพงไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับทีมที่ซื้อ เพราะเล่นดียังไงก็ไม่คุ้มค่าตัวอยู่ดี และที่สุดเมื่อสัญญาหมดลงเงินลงทุนทั้งหมดที่ใส่ใหันักเบสบอลคนนี้ก็เหลือ แค่ 0
แท้จริงแล้วหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีไม่จำเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน อาจเป็นหุ้นที่ไม่มีใครสนใจเลยก็ได้ แต่หากเราหมั่นแสวงหาหุ้นใหม่ๆ ไม่รังเกียจที่จะต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองโดยไม่พึ่ง Analyst เราจะได้หุ้นชั้นดีที่ไม่มีใครรู้จักที่สามารถทำกำไรให้เราได้มหาศาล ผมเคยวิเคราะห์หุ้น BJC สมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ เมื่อ 8 ปีก่อนสมัยที่มันยังราคา 4 บาท กำไรสุทธิ ประมาณ 1,187 ล้าน (สมัยนั้นยังไม่ปรับพาร์ราคา 40 บาท) ผลก็คือไม่มีใครสนใจบริษัทที่ผมแนะนำนี้เลยแม้แต่คนเดียวทั้งที่บริษัทมี ศักยภาพในการเติบโต มีเงินสดเยอะมาก และราคาก็ถูกมากๆ ราคาหุ้นสมัยนั้นเทรดกันที่ P/E ระดับ 5 เท่าเอง มาวันนี้หุ้น BJC ราคา 43.50 ซื้อขายกันที่ P/E 31 เท่า กำไรสุทธิปี 2554 อยู่ 2,523 ล้านบาท กำไรเติบโตจากตอนผมวิเคราะห์ 1.12 เท่า แต่ราคาหุ้นขึ้นมา 10 เท่า คุณว่าราคาหุ้นตัวนี้ขึ้นมาเพราะกำไรมันโตเร็ว หรือขึ้นเพราะความคลั่งไคล้หุ้นกลุ่มค้าปลีกของนักลงทุนกันแน่ ถ้าเป็นอย่างหลังทำไมคุณไม่ลองไปหาหุ้นที่ยังไม่มีใครรู้จักแต่กำไรเติบโต ได้ดี ลงทุนเสียแล้วรอให้คนอื่นหันมาบ้าคลั่งหุ้นของคุณ
ในความเป็นจริงการทำอย่างที่ผมบอกนั้นยากมากๆ ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ดังนี้
คุณต้องมีความพยายามมากพอที่จะเข้าไปค้นหาข้อมูลของบริษัทจากงบการเงิน รายงานประจำปี รวมถึงต้องเข้าประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อสอบถามผู้บริหาร เพราะหุ้นที่คนไม่รู้จักเหล่านี้จะไม่ออกสื่อ ไม่มีนักวิเคราะห์ให้ข้อมูล ไม่มี Roadshow คุณต้องทำการวิเคราะห์ด้วยตัวคุณเอง ไม่มีตัวช่วย ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ชอบทำอะไรยุ่งยากด้วยตัวเองคุณไม่เหมาะกับแนวทางลงทุนแบบนี้
คุณต้องมีความอดทนมากพอที่จะรอให้ตลาดหุ้นหันมาสนใจหุ้นของคุณ แม้ว่าหุ้นคุณจะดีแค่ไหน ถ้ามันอยู่ “นอกสายตา” ของตลาด หุ้นมันก็จะไม่ขึ้น และไม่ว่าคุณจะพยายามแค่ไหนก็จะไม่มีมาสนใจหุ้นของคุณ เพราะคุณเป็นแค่คนธรรมดาที่คำแนะนำของคุณจะกลายเป็น “เสียงนกเสียงกา” ในสายตาของตลาด สิ่งที่ยากที่สุดในกระบวนการนี้ก็คือ คุณต้องทำให้ตัวคุณเองเชื่อมันในวิธีการของคุณต่อไป แม้ว่าเพื่อนคุณจะหัวเราะเยาะคุณ เจ้านายคุณจะบอกว่าสิ่งที่คุณคิดมันผิด และที่สุดแล้วตัวคุณนั่นแหละที่จะเริ่มสงสัยในแนวทางของคุณเอง Money ball สอนให้เรารู้จักศรัทธาในแนวทางของเรา และพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อจะรักษาศรัทธาอันแน่วแน่ของเราเอาไว้ เช่นที่ Beane ถูกกดดันจากสื่อ เพื่อนร่วมงาน ลูกทีม หรือกระทั่งเจ้านายของเขาที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแปลกใหม่ของ Beane จนกระทั่ง Beane ต้องขายซุปเปอร์สตาร์คนสุดท้ายของทีมออกไปเพื่อให้ทีมเดินไปในแนวทางที่เขา เชื่อมั่นอย่างไม่กลัวโดนไล่ออกนั่นแหละ
สุดท้ายเมื่อหุ้นของคุณได้รับความสนใจจากตลาด คุณจะต้องไม่ด่วนขายมันออกไปเร็วเกินไป นักลงทุนมักยึดติดกับคำว่า Fair Value โดยพยายามจะซื้อหุ้นที่ Under Value และขายมันที่ราคา Fair Value แต่นักลงทุนมักจะลืมไปว่าหุ้นมันสามารถ Overvalue ไปได้ตราบเท่าที่ตลาดจะยังคลั่งไคล้มันอยู่ และ Fair Value ก็สามารถปรับขึ้นได้ถ้ากำไรของบริษัทเติบโต ถ้าคุณต้องอดทนถูกเพื่อนๆเยาะเย้ยอยู่เป็นปีๆ ผลตอบแทนที่ได้รับจากความอดทนก็สมควรจะเป็นกอบเป็นกำไม่ใช่แค่ 20-30%
โอกาสในการลงทุนในหุ้นนอกสายตาเหล่านี้มันมีอยู่ตลอดเวลา เชื่อหรือไม่ แม้ว่าดัชนี SET จะอยู่ที่ 1200 จุด วันนี้ผมยังสามารถหาหุ้นที่ P/E 5 เท่า P/B 0.5 เท่า Dividend yield 9% อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นที่นิยมได้อยู่เลย แต่ไม่ว่าผมจะแนะนำอย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อผมซักทีมา 2 ปีแล้ว และมันก็อาจจะเป็นอย่างนี้ไปอีก 2-3 ปีก็ได้ ถ้าเป็นคุณจะทิ้งตัวนี้แล้วไปซื้อตัวอื่นที่กำลังวิ่ง หรือคุณจะอดทนกอดมันเอาไว้โดยที่ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีมันจะขึ้น นี่แหละความยากของการลงทุนในหุ้น “นอกสายตา”
จริงๆแล้วหุ้น P/E ต่ำในปีใดปีหนึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นหุ้นที่ดี เพราะกำไรอาจมาจากรายการพิเศษที่ไม่เกิดขึ้นอีก แต่ถ้าเป็นหุ้นที่ P/E ต่ำติดต่อกันหลายๆปี แปลว่ากำไรมันดีจริงๆ แต่ไม่มีคนเห็นค่าของมัน ยกตัวเอย่าง BJC เองผมวิเคราะห์มันตอนราคา 4 บาทในปี 47 (เทียบเป็นราคาก่อนปรับพาร์ 40 บาท) ตอนวิกฤติเศรษฐกิจ 51 มันก็ตกลงไปเหลือ 2.8 บาท (เทียบเป็นราคาก่อนปรับพาร์ 28 บาท) เหมือนกัน แต่เมื่อถึงเวลาของมันก็วิ่งรวดเดียวจาก 2.8 บาทเป็น 43.50 บาท (เทียบเป็นราคาก่อนปรับพาร์ 435 บาท) ขึ้นมา 15 เท่า Value investor ที่แท้จริงต้องสามารถอดทนเห็นมันลงจาก 40 บาทมาเหลือ 28 บาทได้ และถือต่อไปเพราะเชื่อมันในวิธีการของตัวเอง หรือกระทั่งอาจซื้อเพิ่มอีกเพื่อเฉลี่ยต้นทุน แต่ก็นั่นแหละ ถ้าคุณเชื่อผมเมื่อปี 47 คุณก็คงถูกเพื่อนๆล้อไป 6 ปีกว่าที่หุ้นมันจะเริ่มขึ้นจริงๆจังๆในปี 53 แต่คุณก็ยังได้รับ Dividend 6-8% มาตลอดปี 47-53 เป็นการปลอบใจ อยากเป็น VI ต้องท่องคาถาอดทนครับ แต่ถ้าอยากได้กำไรเร็วก็เล่นเป็น Momentum รอมันวิ่งทะลุ 8 บาทตอนปี 53 แล้วค่อยซื้อก็ได้ (ถ้าตอนนั้นเห็นหุ้นขึ้นจาก Bottom มาเกือบ 4 เท่าแล้วยังกล้าไล่อยู่นะครับ)
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นแง่คิดเกี่ยวกับการลงทุนด้าน Valuation ที่ได้รับจาก Moneyball ความจริงแล้ว Moneyball ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการลงทุนอื่นๆอีกหลายประเด็น ซึ่งผมจะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป :)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น