วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

ว่าด้วยเรื่องของภาษีคนโสด

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา New feed ของผมเต็มไปด้วยความเห็นเกี่ยวกับการเก็บภาษีคนโสด ที่มีนักวิชาการท่านหนึ่งนำเสนอขึ้นมาเพื่อปรับโครงสร้างของประชากร ในฐานะที่ผมเป็นนักลงทุนที่ไม่ค่อยเป็นวิชาการนัก ขอยืมความเห็นของแฟนเพจท่านหนึ่งที่วิจารณ์ใน New feed ของผมแบบแรงๆเลยว่า "ไร้สาระ" แนะนำให้ไปหาช่องทางการปรับโครงสร้างประชากรด้วยวิธีอื่นจะดีกว่า เช่น การขยายอายุเกษียณจากเดิมอายุ 60 เป็น 65 แต่เปิดช่องให้สามารถสมัครใจเกษียณ (Early retire) ได้ที่อายุ 60 เป็นต้น เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบเป็นลูกจ้างอยากเป็นกันแต่เถ้าแก่ เกิดมาเยอะๆอาจจะกลายเป็นยิ่งขาดแคลนแรงงานหนักเข้าไปอีกก็ได้ สุดท้ายก็ต้องจ้างแรงงานต่างชาติอยู่ดี

การใช้ภาษีมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายควรเป็นไปในลักษณะการให้ "คุณ" เพื่อจูงใจให้คนทำ ไม่ใช่ให้ "โทษ" กับคนที่ไม่อยากทำ ทุกวันนี้คนโสดก็เสียภาษีเต็มแบบไม่ได้ลดหย่อนอยู่แล้ว และคนโสดหลายๆคนทำงานจนดึกดื่นเพราะไม่มีภาระครอบครัว ซึ่งนับเป็นประโยชน์กับประเภทชาติมากกว่าคนมีครอบครัวแล้วบางคนแต่ง หน้า+เก็บของตั้งแต่ 4 โมง พอสี่โมงครึ่งยืนรอรูดบัตรหน้าประตูเพื่อกลับไปหาครอบครัว การใช้ภาษีเพื่อให้ "โทษ" ควรใช้กับสิ่งที่ไม่สนับสนุนให้ทำเท่านั้น

ถ้าหากรัฐบาลมีรายได้จากภาษีไม่มีเพียงพอจะเอาใช้นโยบายลดแหลก แจก แถม ผมแนะนำให้เก็บภาษีในรายการดังต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมากกว่า ภาษีคนโสดหลายเท่า

1. ภาษีมรดก เป็นภาษีที่ผมว่าน่าเก็บมากที่สุด เพราะมรดกเป็นสิ่งที่ผู้รับได้มาแบบไม่ต้องใช้ความสามารถ หรือทำประโยชน์อะไรให้แก่สังคม แค่บังเอิญได้เกิดมาเป็นลูกหลานเศรษฐีแค่นั้น และอันที่จริงทายาทเศรษฐีบางคนก็เอามรดกเหล่านี้มากดขี่ข่มเหงคนหาเช้ากิน ค่ำเสียอีก ส่วนผู้ให้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สมบัติเหล่านี้อีกแล้ว เพราะตายไปแล้วเอาอะไรไปด้วยไม่ได้ การเก็บภาษีมรดกนี้ควรเก็บเป็นลักษณะขั้นบันได เช่น มรดกส่วนที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทไม่คิดภาษี มรดกส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทคิดภาษี 10% มรดกส่วนที่ไม่เกิน 100 ล้านบาทคิดภาษี 30% มรดกส่วนที่ไม่เกิน 1000 ล้านบาทคิดภาษี 50% มรดกส่วนที่เกินกว่า 1000 ล้านบาทจัดไปเลย 75% เพราะเกินกว่านี้เรียกว่าเหลือกินเหลือใช้แล้ว และควรให้มีการตรวจสอบการโอนทรัพย์สินก่อนเสียชีวิตด้วยเผื่อเศรษฐีหัวหมอ โอนทรัพย์ให้ลูกหลานก่อนตายเพื่อเลี่ยงภาษี

การเก็บภาษีมรดกจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ เพราะไม่ว่ารุ่นพ่อจะสร้างสะสมทรัพย์สมบัติ (หรือโกงเขามา) มากมายซักเท่าไร พอจะส่งต่อไปถึงรุ่นลูกจะต้องแบ่งส่วนหนึ่งคืนแก่สังคมทำให้คนรุ่นทายาท เศรษฐีไม่ได้เปรียบคนทั่วๆไปมากจนเกินไปทำให้เกิดการผูกขาดระบบเศรษฐกิจให้ อยู่ในวงจำกัดของคนไม่กี่ตระกูล และลดแรงจูงใจในการคอร์รับชั่นด้วยเพราะโกงไปมากแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องเอามา คืนประเทศ ยิ่งโกงมากก็ยิ่งคืนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่คุ้มเสี่ยงที่จะโดนจับโกงได้ จะได้โกงกันแบบพอเพียง ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศก็มีการเก็บภาษีมรดกกันอย่างกว้างขวาง มีแต่ประเทศกำลังพัฒนานี่แหละที่ไม่ยอมเก็บเพราะกลัววงศ์ตระกูลจะรวยกันไม่ พอ

2. ภาษีที่ดิน มหาเศรษฐีบางคนรวยแล้วไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร ก็เอาเงินไปสะสมที่ดินตามหัวเมืองต่างๆ เก็บไว้เก็งกำไร บางทีก็เก็บไว้อย่างนั้นแหละไม่ได้ทำประโยชน์อะไร แทนที่ที่ดินเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นที่ดินทำกิน หรือสร้างประโยชน์แก่สาธารณชน รัฐควรเก็บภาษีที่ดินที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ โดยเก็บในอัตราก้าวหน้าเช่นกัน เช่น ที่ดินไม่ใช้ประโยชน์เกิน 10 ไร่ คิดอัตราหนึ่ง ที่ดินไม่ใช้ประโยชน์เกิน 100 ไร่ คิดอัตราสองเท่า ที่ดินไม่ใช้ประโยชน์เกิน 1000 ไร่คิดอัตราสามเท่า เพิ่มไปเรื่อยๆ ถ้าหากสะสมที่ดินแล้วไม่สามารถทำประโยชน์ได้เท่าภาษีที่จะต้องจ่ายก็ควรจะ ขายออกให้คนที่ต้องการใช้ดินทำประโยชน์ได้ดีกว่า แน่นอนการเก็บภาษีที่ดินควรคิดในลักษณะ Chain Principle แบบเดียวกับที่ กลต. ตรวจสอบการถือหุ้นของนักลงทุน โดยนับรวมการถือครองที่ดินของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ Nominee และบริษัทที่มีอำนาจควบคุมด้วย เผื่อมีเศรษฐีหัวหมอเอาที่ดินไปซุกไว้

3. ภาษีบาป เช่น เหล้า บุหรี่ ผับ บาร์ สถานบันเทิง อาบอบนวด ภาษีพวกนี้ขึ้นไปเยอะๆเลย ไม่มีคนกล้าค้านหรอก ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรได้รับการสนับสนุนก็ควรจะเก็บภาษีมากๆ เพื่อเอาเงินมาพัฒนาประเทศชาติ ใครอยากเปิดผับเกินเที่ยงคืนให้เปิดไปแต่เก็บภาษีให้หนักๆ 50% หรือ 75% เก็บไปมากๆไม่คุ้มทุนเดี๋ยวก็ปิดกันไปเอง แต่ถ้าจ่าย 75% แล้วยังอยู่กันได้ก็ให้เปิดไป แสดงว่าลูกค้ากระเป๋าหนักจริงอยากจ่ายเงินเพื่อพัฒนาสังคมก็ไม่ว่ากัน


4. ภาษีบุคคลธรรมดา อัตราสูงสุดของบุคคลธรรมดาปัจจุบันอยู่ที่ 35% ซึ่งนับว่าต่ำ ความจริงถ้ารัฐร้อนเงินก็ควรเพิ่มขั้นภาษีขึ้นไปอีก เช่น รายได้เกิน 10 ล้านบาทต่อปีคิด 40% รายได้เกิน 100 ล้านต่อปีคิด 50% รายได้เกิน 500 ล้านต่อปีคิด 75% เป็นต้น ในขณะเดียวกับก็คงภาษีเงินได้นิติบุคคลให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อจูงใจให้เศรษฐีรายได้สูงเหล่านี้เอาเงินมาลงทุนให้เกิดรายได้ในรูปของ บริษัทจำกัด เพื่อให้เกิดการการลงทุนและการจ้างงาน รวมถึงการตรวจสอบแหล่งที่มาและที่ไปของเงินเพื่อการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น อังกฤษมีพิกัดภาษีคนรวยที่ 50% ฝรั่งเศสมีพิกัดภาษีคนรวยที่ 75%

ความจริงแค่เก็บภาษีสองข้อแรกได้ ผมว่าปัญหาการคลังของประเทศไทยก็จะโล่งไปได้เยอะแล้ว และเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะหลักการสำคัญของการเก็บภาษีคือเอารายได้เหลือกินเหลือใช้ของคนรวยมา ช่วยเหลือคนจนที่ขาดโอกาสให้ตั้งตัวได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ใช่เน้นเก็บภาษีคนส่วนใหญ่ที่หาเช้ากินค่ำ แล้วมาเอื้อประโยชน์แก่คนรวยแล้วเหลือเป็นมรดกกินไปถึงลูกถึงหลาน

ผมยืนยันว่าผมไม่ใช่คนเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือเสื้อสีใดๆ และไม่ใช่คนที่มีหัวเอียงทางสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ คนที่รู้จักผมดีจะรู้ว่าผมนี่แหละเป็นทุนนิยมแบบสุดๆแล้ว แต่ผมก็เชื่อว่าทุนนิยมก็ควรจะมีคำว่าพอเพียง ภาพลักษณ์ของการเป็นมหาเศรษฐี ไม่ควรเป็นแบบอย่างของการเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ หรือคอร์รับชั่น มหาเศรษฐีก็สามารถแสดงออกถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้ อย่างที่ Warren Buffet ยอมบริจาคทรัพย์สินมากกว่าครึ่งของเขาให้กับกองทุนการกุศลที่จัดตั้งขึ้นโดย Bill Gates

น่าเสียดายที่ผมไม่เชื่อว่าจนวันสุดท้ายของชีวิตผม ผมจะได้เห็นการเก็บภาษีสองข้อแรก เพราะผมเชื่อว่านักการเมืองไทยยังห่างไกลกับคำว่า “พอ” นัก มีแล้วก็อยากมีเพิ่ม รวยแล้วก็อยากรวยขึ้น ต่อให้รวยเป็นมหาเศรษฐีก็ยังอยากรวยขึ้นเพื่อไปติดอันดับโลกในนิตยสาร Forbe

อนิจจาตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้...

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Survival of the Fittest


วันนี้ก่อนกลับบ้านไปนั่งกินข้าวรอฝนหยุดตกในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ได้ยินน้องๆโต๊ะข้างๆคุยกันเรื่องหุ้นแบบเซ็งๆกันอยู่ 3-4 คน ติดดอยสูงบ้าง ถัวจนเงินหมดบ้าง ยอมขายตัดขาดทุนหนักๆบ้าง
ต่างคนต่างเต็มไปด้วยอารมณ์หดหู่กันคนละแบบ

แต่ที่เหมือนกันอย่างนึงคือ ทุกคนบอกว่าหุ้นที่ถือเป็นหุ้นพื้นฐานดี เดี๋ยวราคาก็กลับมาให้ขายกำไร ทั้งๆที่บางตัวผมฟังชื่อแล้วก็นึกขำอยู่ในใจ มันพื้นฐานดีในมุมไหนกันนะ

ในฐานะที่ผมเคยผ่านวิกฤติปี 2008 มา (ไม่ทันปีวิกฤติปี 1997 เพราะยังเรียนหนังสืออยู่) ขอแชร์ประสบการณ์ที่เคยผ่านช่วงหนีตายตอนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เล็กน้อยให้น้องๆหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นมาไม่นาน (ส่วนที่เซียนแล้วก็ขอให้ข้ามไปเลย บทความนี้ไม่มีความสำคัญอะไรกับท่าน)

นี่เป็นข้อสรุปของประสบการณ์ในตลาดหุ้นกว่า 10 ปีของผม

ในตลาดหุ้นปกติ นักลงทุนจะมองหาหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีกำไรเติบโตต่อเนื่องและราคาไม่แพงเพื่อลงทุน

ในตลาดหุ้นกระทิง นักลงทุนจะมองหาหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐาน มีกำไรเติบโตต่อเนื่อง แต่อาจมองหุ้นเรื่องราคาถูกหรือแพงไป เพราะในตลาดกระทิงหุ้นทุกตัวมันก็แพงหมดเมื่อเทียบกับตัวมันเองในอดีต นักลงทุนมักจะเปรียบเทียบมูลค่าหุ้นกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมบ้าง หรือเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยตลาดในขณะนั้นบ้าง เพื่อหาเหตุผลมาสนับสนุนการซื้อหุ้นของตนเอง

ไม่ว่าหุ้นที่ตัวเองซื้อจะมี P/E 20 เท่า หรือ P/E 25 เท่า นักลงทุนก็ยังบอกว่าถูก เพราะดูสิค่าเฉลี่ย P/E ของหุ้นในอุตสาหกรรมอยู่สูงถึง 35 เท่า หุ้น P/E 20 เท่า เทียบกับกำไรเติบโต 20-30% ต่อปีนับว่าถูกมาก (โดยไม่สนว่ามันจะโต 20-30% ต่อปีตลอดไปหรือไม่) คนที่ลังเลว่า P/E สูง หรือราคาหุ้นขึ้นจากจุดต่ำสุดในอดีตมากๆ ก็จะกลายเป็นไดโนเสาร์ ตกขบวนไปโดยปริยาย

แล้วในตลาดหมีล่ะ คุณคิดว่านักลงทุนจะทำอย่างไร

นักลงทุนก็คงจะหาหุ้นที่มีพื้นฐานดี กำไรสม่ำเสมอ มีหนี้สินน้อย และเข้าซื้อในราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยตัวเองในอดีต หรือค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเพื่อรอให้ราคาหุ้นกลับเข้าสู่มูลค่าที่แท้จริงละมั้ง

เปล่าเลย ความจริงมันโหดร้ายกว่านั้นมาก

ในตลาดหมีโดยสมบูรณ์ นักลงทุนจะมองข้ามปัจจัยพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าเป็นกำไรสุทธิ กระแสเงินสด ความแข็งแกร่งทางการเงิน หรือ Valuation นักลงทุนจะเทขายหุ้นไปตามอารมณ์ของเขาจนกว่าเขาจะพอใจ ไม่ว่าหุ้นพื้นฐานดี จะมีราคาถูกแค่ไหน P/E 10 เท่า 8 เท่า หรือ 6 เท่า เขาก็จะขายจนกว่าเขาจะรู้สึกว่ามันปลอดภัย และเมื่อทุกคนรู้สึกว่าปลอดภัยตลาดก็จะหยุดตก

ในปี 2008 ผมเคยเห็นหุ้นพื้นฐานดีซื้อขายกันด้วย P/E 2-5 เท่าอยู่เยอะแยะ นักลงทุนที่เน้นปัจจัยพื้นฐานเข้าซื้อหุ้นที่ P/E 6-8 เท่า ก็อาจขาดทุนได้ถึง 30-50% โดยที่เขาไม่เข้าใจว่าราคามันลงไปได้อย่างไรต่ำขนาดนั้น จนกระทั่งผลประกอบการไตรมาสต่อๆมาจึงเฉลยว่าหุ้นที่เขาถืออยู่ P/E พุ่งจาก 6-8 เท่าไปเป็น 12-16 เท่า เพราะกำไรของบริษัทที่ถือหุ้นอยู่มันหายไปครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ดีหุ้นพื้นฐานดีก็คือหุ้นพื้นฐานดี สุดท้ายแล้วหุ้นเหล่านั้นก็สามารถกลับมายืนซื้อขายด้วยราคาที่่สูงกว่าเดิมเกือบทั้งหมด บางตัวในกลุ่มนั้นกลับมาซื้อขายด้วย P/E 40-50 เท่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำ

บทเรียนที่ผ่านมาของผมมันบอกอะไรเรา

บทสรุปของคำแนะนำของผมก็คือ

ถ้าคุณเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าจริงๆ คุณต้องทำการบ้านให้หนัก ดูให้ออกว่าตัวไหนเป็นหุ้นพื้นฐานดี ตัวไหนเป็นหุ้นเก็งกำไร ตัวไหนเป็นหุ้นตามกระแส แล้วเลือกซื้อจะเฉพาะหุ้นพื้นฐานดีจริงๆเท่านั้น ที่สำคัญคุณต้องทำการบ้านด้วยตัวเองอย่างละเอียดว่าอนาคตของกำไรแต่ละบริษัทจะเป็นอย่างไร ธุรกิจของบริษัทนั้นๆอยู่ในช่วงใดของวัฎจักรธุรกิจ (Bussiness cycle) กำไรบริษัทไม่ใช่สิ่งที่จะเพิ่มขึ้นได้ทุกปี ปีละ 30-40% ตลอดไป ทุกธุรกิจมีรุ่งเรืองมีล่มสลายไม่มีใครมีหนีพ้น สุดท้ายคุณต้องเข้าใจว่านักลงทุนในตลาดอาจคิดไม่เหมือนคุณ และเทขายทุบหุ้นดีๆของคุณให้ตกไป 50-60% จากจุดที่คุณซื้อได้ แม้ว่าคุณจะคิดว่ามันเป็นขายแบบไร้เหตุผลก็ตาม เพราะในตลาดหมีไม่ค่อยมีใครมาดูปัจจัยพื้นฐานแข่งกับคุณหรอก

บางคนอาจแย้งผมว่า VI เทพๆ อย่าง Warren Buffet หรือ ปรมจารย์ VI ท่านอื่นถือหุ้นได้ยาวนาน 5-10 ปี แบบไม่ขายได้ คุณต้องไม่ลืมว่าปรมจารย์เหล่านั้นเข้าซื้อหุ้นที่ตีนดอย ไม่ได้มาไล่ซื้อที่ยอดดอย พวกเขารู้ว่าในวัฎจักรของหุ้นราคาไหนเรียกถูก ราคาไหนเรียกแพง พวกเขารอที่จะซื้อหุ้นได้เป็นปีๆถ้าราคาหุ้นไม่อยู่ในระดับที่น่าสนใจ จุดสำคัญมันอยู่ที่ราคาที่เข้าซื้อ ไม่ได้อยู่ที่ว่าถือทนแค่ไหน ถ้าคุณซื้อที่แพงแล้วโอกาสกำไรของนักลงทุนแบบ VI จะลดลงไปมากเลยทีเดียว

ถ้าคุณเป็นนักลงทุนแบบตามกระแส คุณต้องดูให้ออกว่าตลาดกำลังอยู่สภาวะไหน ปกติ กระทิง หรือหมี เลือกลงทุนเฉพาะหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ที่อยู่ในกระแสในสภาวะตลาดปกติหรือกระทิงเท่านั้น ให้ความสำคัญกับ Valuation น้อยกว่าการอ่านอารมณ์ตลาด ที่สำคัญที่สุด ห้ามซื้อหุ้นในสภาวะตลาดหมีโดยเด็ดขาด ไม่ว่าราคาหุ้นจะตกลงไปต่ำหรือถูกขนาดไหนก็ตาม อย่าลืมว่านักลงทุนแบบตามกระแสซื้อหุ้นเพราะหวังจะขายให้คนนักลงทุนอื่นที่อยากซื้อต่อในราคาที่สูงกว่า ไม่ได้ซื้อหุ้นเพราะราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง อย่ากลัวที่จะไล่หุ้นในภาวะตลาดกระทิง และหากจำเป็นที่จะต้องขายตัดขาดทุนในภาวะตลาดที่มั่นใจว่ามันเป็นหมี จงอย่าลังเลที่จะทำ ยิ่งตัดใจช้า ก็ยิ่งขาดทุนมาก อย่าเป็นประเภทที่ว่าตอนซื้อก็ซื้อตามกระแส พอหุ้นตกกลายสภาพเป็น VI ถือยาวซะงั้น เพราะที่ผมเห็นส่วนใหญ่จะไม่รอด

ผมบอกคุณไม่ได้หรอกว่าตลาดปัจจุบันมันเป็นหมีหรือกระทิง มันเป็นงานของนักวิเคราะห์กลยุทธ์ของบริษัทหลักทรัพย์ที่ท่านใช้บริการอยู่ต่างหากที่จะแนะนำท่านว่าควรซื้อหรือขายตอนนี้ เพราะอะไร คุณจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้พวกเขาแล้ว ก็จงใช้พวกเขาให้คุ้ม ผมไม่ได้อะไรจากพวกคุณ จึงให้ได้แค่การแบ่งปันประสบการณ์เท่านั้น ที่สำคัญผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่งกาจหรือเหนือชั้นกว่าใครๆ ก็แค่นักลงทุนธรรมดาๆที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆเท่านั้น

ขอให้ทุกท่านโชคดี

ปล. ภาพประกอบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทความ

วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

ทองสี่เหล่า


มีคำถามเรื่องเกี่ยวกับ Demand ทองเข้ามาค่อนข้างเยอะ เลยเอาเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ Demand ของทองคำมาฝากกัน

ผู้เชี่ยวชาญแบ่งความต้องการใช้ทองคำหลักๆออกเป็น 4 กลุ่ม

1. กลุ่ม Jewellery เป็นกลุ่มที่ต้องการใช้ทองคำจริง เพื่อการนำไปทำเป็นเครื่องประดับเพื่อจำหน่ายทำกำไรอีกที ความต้องการกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่กับความนิยมของสินค้าของตน เช่น สร้อยคอ แหวน กำไรข้อมือ เป็นต้น ส่วนราคาทองจะขึ้นจะลงถ้าของยังขายได้ก็ต้องซื้ออยู่ดี ไม่งั้นก็ต้องไปประกอบอาชีพอื่น แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยตุนทองไว้นานเพราะกำไรของกลุ่มเหล่านี้อยู่ที่มูลค่า เพิ่มของชิ้นงานที่ผลิต ไม่ได้อยู่ที่การเก็งกำไรทอง ส่วนมากเครื่องประดับทองเหล่านี้ตลาดสำคัญอยู่ที่ประเทศในเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง อินเดีย

2. กลุ่ม Technology เป็นอีกกลุ่มที่ต้องใช้ทองคำจริงในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ เช่น Intrigated circuit (IC) เป็นต้น ความต้องการกลุ่มนี้ค่อนข้างคงที่ และถ้าเป็นไปได้จะพยายามลดการใช้ทองให้มากที่สุด (เพราะทองมันแพง)

3. กลุ่มผู้ซื้อทองเพื่อการลงทุน (Investment) เป็นผู้ซื้อที่ไม่ได้ต้องการใช้ทองจริง แต่ซื้อทองเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไร ซื้อเพื่อป้องกันเงินเพ้อ ซื้อเพื่อกระจายการลงทุน กลุ่มเหล่านี้มีค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อย กองทุนรวม กองทุน ETF กองทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedged Fund) กองทุนบำเน็จบำนาณ (Pension fund) เป็นต้น ความต้องการผู้ซื้อในกลุ่มนี้ค่อนข้างผันผวนคาดการณ์ยาก เนื่องจากผู้ลงทุนมีหลากหลายทั่วโลก และวัตถุประสงค์การซื้อก็แตกต่างกันไป เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่สร้างความปวดหัวให้กับตลาดทองคำมากที่สุด

4. กลุ่มธนาคารกลาง (Central bank) ในสมัยโบราณที่สกุลเงินต่างๆยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ธนาคารกลางที่จะพิมพ์ธนบัตรออกมาให้ใช้จ่ายก็จะต้องสำรองทองคำเอาไว้รองรับ เงินที่ตนเองพิมพ์ออกมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสกุลเงินของตน ต่อมาก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลอื่นมาใช้เงินทุนสำรองของประเทศมากขึ้น และทยอยขายทองคำออกมา ทีนิยมกันมาก็คงเป็นค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ สกุลยูโร และสกุลเยน มาช่วงหลังๆประเทศเจ้าของเงินสกุลดังกล่าวขยันพิมพ์เงินออกมามากๆ ธนาคารกลางประเทศต่างๆก็เริ่มกลัวว่าเงินสกุลหลักเหล่านั้นจะกลายเป็นแบงค์ กงเต็กในที่สุด จึงทยอยกลับเข้ามาซื้อทองเก็บ โดยเฉพาะประเทศที่ยังมีทองเป็นทุนสำรองต่ำ เช่น จีน และอินเดีย

ก่อนปี 2003 ที่กองทุนรวมทองคำ หรือกองทุน ETF ยังไม่แพร่หลาย Demand จากกลุ่มนักลงทุนมีน้อยมาก ความต้องการใช้ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่ม Jewellery เป็นหลัก มีกลุ่มเทคโลยีเล็กน้อย ส่วนกลุ่มธนาคารกลางทยอยขายโดยตลอดเนื่องจากทองไม่มีดอกเบี้ยจึงหันไปสะสม พันธบัตรรัฐบาลประเทศหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่นแทน เนื่องจากธรรมชาติของกลุ่ม Jewellery และ เทคโลโลยีจะค่อนข้างสม่ำเสมอ การซื้อต้องพยายามซื้อให้ได้ราคาต่ำที่สุดเนื่องจากเป็นต้นทุนของสินค้าตน ไม่แย่งกันซื้อแบบไล่ราคา ทำให้ช่วงก่อนปี 2003 เป็นช่วงที่ราคาทองคำค่อนข้างมีเสถียรภาพ

หลังจากกองทุน ETF เริ่มเป็นที่นิยม ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในทองคำกันสะดวกขึ้น ประกอบกับการเติบโตของบรรดา Hedge Fund ที่มุ่งเน้นการเก็งกำไร ทำให้ความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐปี 2008 ความต้องการทองคำพุ่งกระฉูดเพราะสหรัฐดำเนินนโยบายพิมพ์เงินออกมากระตุ้น เศรษฐกิจอย่างมหาศาล ประเทศอื่นๆในโลกก็ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำปั๊มเงินออกมากู้ชาติเช่นกัน ทำให้นักลงทุนกังวลว่าค่าของเงินสกุลต่างๆที่พิมพ์ออกมาไม่หยุดหย่อนจะลดลง โดยเฉพาะสหรัฐ (คิดง่ายๆ เงินเยอะ ค่าน้อย เงินก็เฟ้อ) จึงแห่ตุนทองคำ ไม่ว่าจะเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ เก็งกำไร หรือกระจายความเสี่ยง (สำหรับผมแล้วคำเหล่านี้มันไม่ต่างกันเท่าไร เพราะทุกคนต้องการกำไรเพื่อมาชดเชยค่าของเงินที่ลดลง) ทำให้ราคาทองพุ่งทะลุโลกถนนทุกสายมุ่งเข้าสู่ตลาดทองคำ จนในที่สุดธนาคารกลางประเทศต่างๆต้องหันกลับมาทบทวนเงินทุนสำรองของตนที่เคย ขายทองมาซื้อพันธบัตร ก็เปลี่ยนกลับมาถือทองมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยพันธบัตรมันต่ำเตี้ย และก็กลัวว่าเงินที่พิมพ์มาเยอะๆทำให้ค่าเงินสกุลที่ตนใช้สำรองอยู่มันจะลด ลงฮวบๆ จึงกลับมาซื้อทองอีกทีตอนเกือบจะพีค โดยให้เหตุผลว่าเพื่อกระจายความเสี่ยงของเงินทุนสำรอง (คำนี้อีกแล้ว) ส่วนกลุ่ม Jewellery เมื่อราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น เครื่องประดับก็เริ่มมีราคาแพงกำลังซื้อก็ลดลงไป กลุ่ม Jewellery จึงต้องหันไปใช้วัตถุดิบอื่นที่ราคาถูกกว่ามาแทนที่เพื่อลดต้นทุน เช่น เงิน พลอย และอัญมณี ทำให้ความต้องการทองคำของกลุ่มนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีหลังจากทุกคนตุนทองเพื่อรับมือเงินเฟ้อกันครบ เงินเฟ้อมันก็ไม่มาซะที ทั้งๆที่พี่ใหญ่อย่างสหรัฐก็ขยันพิมพ์เงินกันออกมา คนก็ไม่เอาเงินมาลงทุนใช้จ่าย ดันเอากลับไปซื้อพันธบัตรทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐต่ำเตี้ยเรี่ยราด สถาบันการเงินก็กลัวตัวเองจะล้มหายตายจากเหมือนเลห์แมน บราเธอร์ ก็กอดเงินที่พิมพ์ออกมาไม่ค่อยจะไปปล่อยกู้ ผ่านมาสามสี่ปีเศรษฐกิจสหรัฐก็ฟื้นช้าเหลือเกิน แต่เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ก็โตแบบพรวดพราด ในที่สุดนักลงทุนก็พบทางเลือกอื่นที่น่าสนใจกว่าในการป้องกันการลดลงของค่า เงินสกุลหลัก นั่นคือพันธบัตรประเทศเกิดใหม่ และตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ที่เติบโต ซึ่งสองอย่างนี้มีดอกเบี้ย มีปันผล มีการเติบโตของกำไร มี Reinvest return มีหลายๆอย่างที่ทองไม่สามารถให้ได้ ความต้องการทองเพื่อการลงทุนก็ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ

จนกระทั่งวันที่ 14 เมษายน 2013 นี้เองเป็นวันที่ "Margin Call" สำหรับตลาดทองคำ นักลงทุนเทขายทองคำออกมาอย่างรุนแรง กดราคาทองลงมาต่ำสุดๆ แถว 1323 เหรียญต่อออนซ์ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี หลังจากวันนั้นนักวิเคราะห์เกือบทั้งโลกพูดไปในทางเดียวกันว่าทองคำได้ เปลี่ยนไปเป็นขาลงเรียบร้อยแล้ว ราคาเป้าหมายต่ำๆเริ่มโผล่มา 1370 1200 1150 หรือ 1000 ก็มี แต่ก็อย่างที่ผมเคยบอกแหละว่าทองคำมัน Valuation ยาก ใกล้เคียงสุดก็คงเป็น Marginal Cost of Production ซึ่งว่ากันว่าอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,300 เหรียญต่อออนซ์ที่ผมไปอ่านเจอตามเวปไซด์ต่างๆเขียนไว้ใกล้เคียงกัน จริงเท็จอย่างไรผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

ผมก็ไม่ได้เทพขนาดจะบอกได้ว่าราคาทองคำจะตกลงไปได้ถึงขนาดไหน หรือจะดีดกลับไปทำ New high หรือเปล่า เพราะผมไม่ใช่เซียนใบ้หวย แต่ผมเชื่อว่าราคาทองคำที่ลดลงจะทำให้ความต้องการของกลุ่ม Jewellery กลับมาอีกครั้ง อย่างที่เราได้เห็นผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำแห่ไปร้านทองจนทองหมดร้านต้อง แจกบัตรคิวกัน และมันก็ไม่ได้เป็นแต่ประเทศไทย ที่จีน ฮ่องกง และอินเดีย ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ตรงกันข้ามกับความต้องการของกลุ่มนักลงทุนที่จะลดลงเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากกองทุนรวม ETF ที่ทยอยขายทองคำออกมาตลอดในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทิศทางราคาทองคำจากนี้ไปคงจะถูกกำหนดโดยผู้ซื้อสองกลุ่มดังกล่าวเป็นหลักว่า ใครจะอดทนกว่ากัน (แต่ถ้าดูจากที่อดีตผ่านมานักลงทุนเป็นกลุ่มที่มีความอดทนต่ำที่สุดใน 4 กลุ่ม) ส่วนกลุ่มธนาคารกลางที่เพิ่งกลับมาซื้อคงต้องทำใจนานหน่อยที่จะกลับมาขาย ราคาต่ำกว่าที่ซื้อไป เผลอถ้าเป็นธรรมเนียมประเทศแถวนี้ซื้อขายขาดทุนอาจถูกสอบสวนเอาซะด้วย 555+

สำหรับผมแล้วทองคำมันก็เป็นเงินสกุลหนึ่งที่ทุกคนในโลกมีสิทธ์จะเป็นเจ้าของ ได้ สามารถเอาไปแลกเป็นเงินได้ทุกสกุล ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีการเติบโต ไม่มีธนาคารกลาง ไม่มีการแทรกแซง ไม่มีข้อจำกัดการเปลี่ยนมือ มูลค่าของมันขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายเป็นหลัก เงินส่วนใหญ่อยากให้มันไปทางไหน มันก็เป็นไปในทางนั้นแหละ

"Gold is money, itself, and nothing else"
- JP Morgan 1912 -

หมายเหตุ ความต้องการทองคำในภาพไม่รวมถึงตราสารอนุพันธ์หรือหลักทรัพย์ที่อ้างอิงทองคำ

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

ดราม่าตลาดหุ้น


เมื่อวันศุกร์ตลาดหุ้นลบไป 3.30% มาวันนี้บวกกลับไป 3.04% ตลาดหุ้นนี้จะว่าไปเปรียบได้กับละครดราม่า ที่มีนักแสดงทั้งพระเอก นางเอก ตัวโกง ตัวประกอบนับหมื่นนับแสนที่ผลัดเปลี่ยนกันมาแสดงบทของตัวเองในแต่ละวัน โดยที่ไม่รู้ว่าบทของตนในวันรุ่งขึ้นจะได้แสดงเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย

ถ้าเป็นคนที่เล่นหุ้นไม่เป็น ยืนอยู่นอกตลาดแล้วมองดูอารมณ์ของนักแสดงในตลาดหุ้นแต่ละคนก็คงจะนึกขำอยู่ในใจ เพื่อนของผมคนหนึ่ง (ขอสงวนไม่เอ่ยนาม) สถาปนาตนเองเป็นเซียนหุ้นหนึ่งในใต้หล้าเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมชักชวนเพื่อนๆเอาเงินกำไรจากหุ้นไปเที่ยวยุโรป พอเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเขาก็บอกกับผมว่า "ลาแล้วตลาดหุ้น พบกันใหม่ชาติหน้า" มาวันนี้เพื่อนคนเดียวกันนี้แหละบอกกับผมว่า "รีบซื้อหุ้นให้เต็มพอร์ต SET Index จะทำ New high ในอีกไม่กี่วัน" ไม่รู้เหมือนกันว่าเพื่อนผมคนนี้ซื้อหุ้นตั้งแต่วันศุกร์หรือวันนี้กันแน่

ผมก็ไม่รู้หรอกว่า SET Index จะทำ New high หรือไม่วันไหน เพื่อนผมอาจจะถูกก็ได้อาจจะผิดก็ได้ แต่มีปรมาจารย์ชั้นเซียนท่านหนึ่งที่ไม่เคยแสดงตัวในหน้าสื่อให้ใครสรรเสริญ เคยสอนผมสมัยเริ่มทำงานด้านการลงทุนใหม่ๆ ว่าจงเชื่อมั่นในหุ้นทุกตัวที่ลงทุนอยู่ และติดตามความเปลี่ยนแปลงของมันอยู่เสมอ มีเงินเพิ่มให้ก็ทยอยซื้อเข้าไป ระหว่างที่ถือก็ให้ศึกษาหาหุ้นที่น่าสนใจตัวใหม่ไปเรื่อยๆแบบไม่ต้องรีบร้อนอะไร เมื่อไรที่หุ้นที่เราถืออยู่มีแนวโน้มจะแย่ลง หรือมีหุ้นตัวอื่นที่เรามั่นใจมากกว่า ก็ขายหุ้นที่มีไปถือเงินสดหรือไปซื้อหุ้นใหม่ที่น่าสนใจกว่า ง่ายๆแค่นี้ ไม่ต้องสนใจดัชนี ไม่ต้องสนใจคนรอบข้างจะว่าอะไร ไม่ต้องสนใจโบรกเกอร์จะแนะนำให้เล่นหุ้นตัวไหน จงทำการบ้านให้หนัก และเชื่อมั่นในตัวเองเป็นพอ ดัชนีและคนรอบข้างเรานั่นแหละที่เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของการลงทุน

ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเพื่อนผมที่เทรดหุ้นตามอารมณ์นี้ได้กำไรจากตลาดหุ้นมากน้อยแค่ไหน แต่ผมยังคงติดตามการลงทุนปรมาจารย์ไอดอลของผมนี้ได้ตามรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนอยู่เสมอๆ ทั้งที่เขาก็มีจุดเริ่มต้นเป็นพนักงานกินเงินเดือนธรรมดาๆคนนึงมาก่อน ผ่านวัฎจักรขาขึ้นและลงมาหลายวิกฤติ ทั้งต้มยำกุ้ง ซาร์ ซึนามิ แฮมเบอร์เกอร์ หนี้สเปน ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้สะทกสะท้านแต่อย่างใด น่าเสียดายที่เขาไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเนื่องจากเป็นคนสันโดษไม่ค่อยออกสื่อ ไม่ค่อยเข้าสังคม ขนาดเคยทำงานด้วยกันยังได้คุยกันแค่ไม่กี่ครั้ง แต่ซื้อหุ้นแต่ละตัวบริษัทต้องมาเชิญไปเป็นกรรมการในบอร์ด (เพราะซื้อเยอะ)

ใครที่เบื่อหน่ายกับการเทรดหุ้นไปวันๆ ซื้อขายตลาดอารมณ์ตลาด อารมณ์แปรปรวนมากๆเวลากำไรหรือขาดทุนหนักๆ อาจจะลองประยุกต์แนวทางลงทุนแบบเรื่อยๆเฉื่อยๆนี้ดูก็ได้ แม้มันอาจไม่ได้กำไรหรือหวาเป็นที่โจทย์จันทน์ของวงการนักเลงหุ้น แต่มันก็เป็นแนวทางการลงทุนที่ผมดูแล้วสบายๆที่สุด

ดัชนีและคนรอบข้างในตลาดหุ้นคือศัตรูตัวฉกาจที่จะทำให้เราเบี่ยงเบนความสนใจจากการลงทุนในหุ้น ไปเป็นการ "เล่น" หุ้นได้ง่ายๆ

ลองนึกดูว่าเราลงทุนในหุ้นเพราะต้องการอะไร ชนะดัชนี รวยกว่าเพื่อนๆ หรือว่ากำไรกันแน่ (^ ^)

วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทุนนิยมกับโลกาภิวัฒน์


เรื่องนี้คงคล้ายๆ กับระบบทุนนิยม VS ระบบสังคมนิยม สะท้อนให้เห็นความเป็นไปของโลกได้เป็นอย่างดี

"อ. เศรษฐศาสตร์เถียงเรื่องนโยบายของรัฐ (ในที่นี้คือ Democrat)
ไม่มีทางเป็นไปได้ ที่จะทำให้คนทั้งหมดในประเทศเท่ากัน
ไม่มีคนจนและไม่มีคนรวยเลย ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
และมันคงจะเป็นดินแดนในฝันแน่ ๆ

อ. บอกว่าไม่มีทาง แต่ถ้าอยากจะลองดูก็ได้นะ
เริ่มจากในห้องนี้ก่อนเป็นอย่างไร เราจะมาทดลองระบบนี้กัน
เกรดทุกคนในห้องนี้จะเป็นค่าเฉลี่ย และทุกคนจะได้เท่ากันหมด
ไม่มีคนตก และไม่มีใครได้สูงกว่าใคร ดีไหม

หลังการสอบครั้งแรก ค่าเฉลี่ยของเกรด คือ B
นักเรียนหลาย ๆ คนในห้องเริ่มพอใจ ส่วนนักเรียนที่เรียนดี
รู้สึกไม่พอใจ เพราะพยายามแทบตายได้แค่ B

ดังนั้นในการสอบครั้งต่อมา คนที่ไม่เรียน ไม่ขยันก็ไม่ตั้งใจเหมือนเดิม
คนที่ขยันบ้างก็ เลิกขยัน หรือขยันน้อยลง เพราะรู้สึกสบาย ๆ ขึ้น
ส่วนพวกขยันมาก ก็แทบจะเลิกขยันไปเลย

ผลการสอบครั้งต่อมา ทั้งห้องได้ D ..... ทุกคนเริ่มไม่พอใจ

ผลการสอบครั้งที่ 3 ทั้งห้องได้ F .... ทุกคนเริ่มโทษกันเอง ...

อ. จึงบอกว่า คุณค่าของความพยายามมันจะมีค่าเมื่อผลที่ได้รับมันคุ้มค่า ใครเล่าจะพยายามเมื่อผลลัพท์มันได้เท่าไม่พยายาม"

ระบบทุนนิยมให้รางวัลกับคนที่มีความพยายามเพื่อผลักดันโลกไปข้างหน้า และลงโทษคนที่ไม่พยายามเพื่อให้เขาเหล่านั้นได้ปรับปรุงตัวเสียใหม่ โลกมันจึงก้าวไปข้างหน้า

ระบบสังคมนิยมไม่ได้ให้อะไรนอกจาก ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ได้ให้รางวัลคนทำดีและไม่ได้ลงโทษคนที่ทำไม่ดี โลกจึงอยู่กับที่รอวันถอยหลัง

กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าระบบหลังล้มหายตายจาก แม้กระทั่งประเทศที่เป็นผู้ริเริ่มยังต้องละทิ้งมันไปสู่ทุนนิยม

ระบบทุนนิยมเองก็มีจุดอ่อนตรงที่ความแตกต่างกันของชนชั้นนำกับชนชั้นล่างจะ ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจแก้ด้วยการเก็บภาษีคนรวยให้หนัก เพื่อเอามาพัฒนาศักยภาพของชนชั้นล่างเพื่อให้วันหนึ่งพวกเขาสามารถผลักดัน ตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นนำได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการให้การศึกษา การพัฒนาอาชีพ การให้โอกาสทำกิน และการจัดหาแหล่งเงินทุนครับ ไม่ใช่สนับสนุนการก่อหนี้เพื่อการบริโภคที่เกินตัว หรือแจกเงินทองให้พวกเขาใช้ไปวันๆ แต่ยังคงสถานะให้เป็นชนชั้นล่างเหมือนเดิม

โลกจึงจะยังเดินอยู่ต่อได้อย่างที่มันเป็นอยู่

ป.ล. ผมว่าตามหลักทุนนิยมทั่วๆไป ไม่เกี่ยวกับการเมืองไทยนะครับ :)

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บททดสอบแห่งศรัทธา


ตั้งแต่ต้นปีมาตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไม่เยอะนัก แต่ถ้าไปลองดูหุ้นรายตัวปรากฎว่าพุ่งกระฉูด Ceiling มีให้เห็นกันได้ทุกวัน บางตัวก็ Ceiling มันติดๆกันหลายวัน มันคงเป็นเรื่องปกติที่จะทำให้เซียนหุ้นไขว้เขวไปกับแนวทางที่ตนเองยึดมั่น

นักลงทุนที่ประกาศตัวเป็น Value Investor หรือ VI ก็อาจชักจะอยากขายหุ้น Value ของตัวเองที่อืดเหลือเกิน ไปไล่หุ้นที่กำลังแรงมั่ง มองซ้ายมองขวาเห็นเพื่อนๆไล่หุ้นร้อนกันรวยเละเทะ แล้วจะช้าอยู่ไยขายหุ้น VI มันให้หมดเลยดีกว่า แปลงสภาพจาก VI เป็น ไวไว ในบัดดล

ส่วน ขาลุยเล่นตามเทคนิคก็กำลังใจฮึกเหิม เทรดหุ้นกำไรเยอะชักอยากเล่นมาจิ้น เล่นด้วยเงินตัวเองมันรวยช้า อย่ากระนั้นเลยเทรด Futures มันเลยดีกว่าจะได้รวยเร็วๆ โบราณว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก

ในตลาด ตะลุมบอนอย่างปัจจุบัน มันเป็นการยากถึงยากมากที่จะรักษาศรัทธาในแนวทางลงทุนของตนเองให้คงมั่นได้ เมื่อตลาดเปลี่ยนตัวเราก็เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นปรัญญา วิธีการลงทุน ความเสี่ยงที่ตนอยากจะเข้ารับ

แต่เชื่อผมเถอะว่านักลงทุนแต่ ละคนมีแนวทางการลงทุนในเหมาะสมกับตัวเองแค่แนวทางเดียวเท่านั้น หากเราเคยประสบความสำเร็จกับแนวทางไหน ก็ควรยึดมั่นกับแนวทางนั้นๆ ไม่ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร

ตลาดหุ้นแต่ละช่วงเวลาก็ให้รางวัล กับการลงทุนในแต่ละแนวทางไม่เท่ากัน บางปีหุ้น Value ก็ดีกว่า บางปีหุ้น Growth ก็ดีกว่า บางปีหุ้นปั่นก็ดีกว่า ถ้าเรายึดมั่นในแนวทางที่เราทำได้ดี เราก็จะมีปีที่ดีบ้างแย่บ้าง แต่ในระยะยาวแล้วการทำในสิ่งที่เราถนัดจะให้ผลได้ดีกว่าพยายามตามกระแสฝืนไป ทำสิ่งอยู่นอกขอบเขตความชำนาญของตัวเองอย่างแน่นอน

นักลงทุน ที่ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักเป็นการทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น Warrent Buffet, George Soros, Phillip Fisher, Sir John Templeton หรือ Benjamin Graham ก็เพราะพวกเขายึดมั่นในแนวทางที่ตัวเองถนัด แม้ว่าจะมีปีที่พวกเขาทำได้แย่แต่เขาก็ไม่เปลี่ยนแนวทางจนกระทั่งกลายเป็น ตำนานกันไปหมด

มีนักลงทุนน้อยคนมากที่จะประสบความสำเร็จจาก การเปลี่ยนแนวทางการลงทุนจากแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่งได้อย่างถูกต้องเหมาะ เจาะกับตลาดในช่วงนั้นๆได้ตลอดเวลา เพราะลักษณะนิสัยของคนเรามันเปลี่ยนกันยาก ถ้ามีนักลงทุนอย่างที่ว่าอยู่จริงก็คงจะประสบความสำเร็จเหนือไปกว่ารายชื่อ ที่กล่าวมาข้างต้นอีก จากประสบการณ์ของผมมักจะเห็นประเภทว่าเปลี่ยนจากผิดแนวนี้ไปผิดแนวโน้นซะ มากกว่า

ผมย้ำเสมอว่าสิ่งแรกที่ต้องพิจารณาก่อนเริ่มลงทุนคือ ต้องหาตัวเองให้เจอเสียก่อน ลองทบทวนตัวเองดูครับว่าตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นอย่างไรกันแน่

คุณค่าของเงินล้าน




เมื่อหลายวันก่อน ผมได้ยินคำถามจากนักลงทุนท่านหนึ่งใน Facebook ว่าตลาดหุ้นขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนได้กำไรแล้วใครขาดทุน มีหลายคนแสดงความเห็นในหลายแง่มุม บ้างก็ว่าเจ้ามือขาดทุน กองทุนขาดทุน เจ้าของขาดทุน และที่เด็ดสุดๆคือคำตอบที่ว่าไม่มีใครขาดทุนทุกคนได้กำไร ไม่เป็นไรครับเพราะหุ้นมันขึ้นต่อเนื่องมาสามเดือนติด คิดอย่างไรคงไม่สำคัญนัก

มาวันนี้ตลาดหุ้นตก 17 จุด แบบตั้งตัวไม่ทัน ผมขอตั้งคำถามกลับว่าวันนี้ใครขาดทุน หลายๆคนมองพอร์ตตัวเองแล้วคงจะรู้สึกว่าเรารวยลดลง หรือถ้าโชคร้ายหน่อยก็ขาดทุน แต่ไม่เป็นเพราะยังไม่ขายถือว่ายังไม่ขาดทุน 555+ (ว่าเข้าไปนั้น)

เช่นนั้นแล้วกำไรและขาดทุนแท้จริงเป็นเช่นไร?

ตลาดหุ้นอยู่ในขาขึ้นคนมีหุ้นได้กำไร คนไม่มีหุ้นขาดทุนเพราะเสียโอกาสได้กำไร

ตลาดหุ้นอยุ่ในขาลงคนไม่มีหุ้นได้กำไรจากโอกาสที่จะซื้อหุ้นได้ที่ราคาที่ถูกลง ส่วนคนที่ถือหุ้นอยู่ขาดทุน

ในระยะยาวแล้วการไม่ลงทุนเลยก็เป็นต้นทุนชีวิตเช่นกัน เพราะค่าของเงินมันไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขเงินที่คุณมี แต่มันอยู่ที่ตัวเลขเงินที่คุณมีเมื่อเทียบกับเงินที่คนอื่นมีต่างหาก

พ่อผมเล่าให้ฟังว่าเมื่อ 60 ปีก่อนก๋วยเตี๋ยวชามละไม่ถึงบาท มีเงิน 10 บาทเที่ยวรอบกรุงเทพได้ ถ้ามีเงินล้านเรียกมหาเศรษฐี มีสิบล้านเรียกอภิมหาเศรษฐี

หกสิบปีผ่านไป ผมรู้สึกว่าคนมีเงินล้านมันช่างธรรมดาเหลือเกิน มีสิบล้านก็แค่พอมีอันจะกินเท่านั้น สมัยนี้เศรษฐีเขาเริ่มคุยกันที่ 100 ล้านบาท

นั่นเพราะว่าระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ผู้คนต่างก็ทำมาค้าขาย ประกอบกิจการ อาชีพต่างๆ และสะสมเงินของพวกเขาเรื่อยมา ถ้ามหาเศรษฐีที่กลัวความเสี่ยงในสมัยนั้น เอาเงินไปฝังตุ่ม ก็ต้องบอกว่าพวกเขาจนลงไปมาก เพราะในสมัยนี้เงินล้านของเขาซื้อบ้านอยู่ซักหลังยังแทบไม่ได้

นี่ขนาดเมื่อหกสิบปีก่อนยังไม่มีตลาดหุ้นนะครับ เงิน 1 ล้านบาทยังมีค่าลดลงขนาดนั้น แล้วลองนึกภาพดูว่าปัจจุบันมีเซียนหุ้นบังเกิดขึ้นมากมาย พวกเขารวยขึ้นพร้อมๆกัน 3-4 เท่าในเวลาแค่ 3-4 ปี ถ้าคุณยังหลีกเลี่ยงการลงทุน เอาเงินไปฝากธนาคาร เวลาอีก 20-30 ปีข้างหน้า คุณคิดว่าเงิน 1 ล้านบาทของคุณจะมีค่าแค่ไหนกัน (เชียว)

ถ้าคุณไม่เริ่มลงทุนซะที แม้ว่าคุณจะไม่ขาดทุนในรูปตัวเงิน แต่คุณกำลังขาดทุนในแง่ความมั่งคั่งในอนาคตของคุณอย่างแน่นอน ถ้าคุณลงทุนแม้ว่าจะขาดทุนบ้างในบางปี แต่มันจะทำให้คุณมีโอกาสที่จะรักษามูลค่าของเงินในกระเป๋าของคุณได้บ้าง และความจริงการลงทุนก็ไม่จำเป็นต้องเล่นหุ้นเท่านั้น คุณจะทำธุรกิจอะไรก็ได้ที่หวังว่าจะได้ผลกำไรมากกว่าดอกเบี้ยแล้วกัน คุณถนัดอะไรก็ทำอย่างนั้นแหละ

เริ่มเรียนรู้ที่จะลงทุนกันเถอะครับ

ฤ สูงสุด จะคืนสู่สามัญ?





วัฎจักรเทคโนโลยีผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ผู้ชนะเป็นจ้าว ผู้แพ้ล้มหายตายจาก

วันนี้ราคาหุ้น Apple ไหลรวดเดียว 10% ลงจากจุดสูงสุด $700 เหลือ $460 ในเวลาแค่ 5 เดือน นักวิเคราะห์ใน Wallstreet มีคำอธิบายมากมายว่าทำไมราคาหุ้น AAPL ถึงร่วงระนาว ทั้งศาสดาตายไปแล้ว สินค้าไม่มีอะไรแปลกใหม่ คู่แข่งเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีมาแข่งขันมากขึ้น บลา บลา บลา บางคนถึงกับแนะนำผู้บริหาร Apple เอาซะด้วยว่าควรทำอย่างไรเพื่อเอาราคาหุ้นกลับมาจุดสูงสุดอีกครั้ง

สำหรับผมแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเห็นวัฎจักรนี้ หุ้นบริษัทเทคโนโลยีล้วนแล้วแต่เป็นเช่นนี้ ตั้งแต่ Olympia Kodak Nokia Panasonic Sony ฯลฯ ใครคิดจะลงทุนหุ้นเทคโนโลยีก็ต้องติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ รสนิยมผู้บริโภค และการแข่งขันในตลาด นี่อาจเป็นเหตุผลที่ Value Investor ระดับ Hardcore ไม่ค่อยเน้นการลงทุนในหุ้นเทคโนฯ มากนัก

สำหรับผมผู้ซึ่งโบราณมาเวลาพูดถึงเทคโนโลยี คงไม่หาญกล้าไปลงทุนอะไรที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนั้น แค่ใช้สินค้าที่ออกมามีลูกเล่นแปลกใหม่ ให้ชีวิตสบายขึ้นก็พอ ปล่อยให้ผู้ผลิตเขาแข่งกันไป ผู้บริโภคได้ประโยชน์โลด ^__^

หุ้นตามโพยนั้น สำคัญไฉน?


พักหลังผมรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเวลาเปิดดู Financial Page แล้วพบว่าบางเพจมีการใบ้หวย ให้โพยกัน เชียร์ชื้อหุ้นโดยไม่ให้เหตุผล ประมาณว่า "หุ้น ABCD ขึ้นแน่ๆอย่างน้อย 3 ลิ่ง" "หุ้น EFG จะไป 50 บาทภายในสิ้นปี" "ซื้อหุ้น HIJ เดี๋ยวนี้ มันขึ้นแน่ๆ ผมขอร้อง" ฯลฯ

ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นตลอด นักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดใน 2-3 ปีหลังยังอาจไม่รู้ว่าหุ้นมันก็ตกเป็นเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมาหุ้นตามโพยวิ่งนำหุ้นพื้นฐานมาตลอด เข้าตามโพยได้กำไรเสมอ ถ้าเข้าเร็วได้มาก เข้าช้าได้น้อย เพราะฉะนั้นฟังมาแล้วไม่ต้องคิดมากให้รีบเคาะขวาให้เร็วที่สุด ถ้าคิดมากตัดสินใจช้ากำไรจะน้อยลง

เมื่อทุกคนฟังแล้วชื้อทันที หุ้นตัวนั้นมันก็ขึ้นตามโพยจริงๆ คนให้โพยก็เลยกลายเป็นเซียนขึ้นมาในบัดดล นานวันไปนักลงทุนก็เชื่อโดยไม่ต้องการเหตุผลอะไรอีก เซียนจะยกหุ้นอะไรขึ้นมาก็ได้คนก็เชื่อหมด ไม่ว่าเหตุผลที่จะยกมาอ้างจะจริงเท็จก็ตามที

ลองหยุดซักนิด ย้อนกลับมาคิดซักหน่อยว่าเรามีบุญคุญอะไรกับเซียนนักหนาหรือเขาถึงได้เอาหุ้นพวกนั้นมาบอกเรา

ถ้ามองโลกในแง่ดี เซียนเขาจิตใจดีปานเทพ วิเคราะห์พื้นฐาน เทคนิค โหราศาสตร์แล้วก็มาบอกนักลงทุนตาดำๆให้ได้กำไรติดไม้ติดมือกันบ้าง

ถ้ามองแบบกลางๆ เซียนเขามีน้ำใจซื้อแล้วบอกต่อ จะได้ช่วยกันดัน ช่วยกันรวยไปด้วยกัน

ถ้ามองโลกในแง่ร้าย เซียนเขาเก็บของครบแล้ว ไล่ราคาแล้ว บอกรายย่อยมาช่วยกันรับเยอะๆ เขาจะได้ออกของสบายๆ

แต่ไม่ว่าจะมองโลกในแง่ไหน ผมแน่ใจ 100% ว่าเซียนที่บอกโพยคุณเขาซื้อหุ้นตัวนั้นไปครบแล้ว รอแค่ท่านซื้อตามดันราคาหุ้นให้เซียนรวยมากขึ้นเท่านั้น อยู่ที่คุณเองจะไปเข้าไม้ท้ายๆตอนเซียนออกของพอดีหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่ผมเห็นเซียนบอกแต่ตอนเข้า ตอนออกไม่ค่อยจะบอกไม่รู้เพราะอะไร

ผมก็ไม่รู้ว่าตลาดหุ้นจะเป็นขาลงเมื่อไร แต่ผมเคยผ่านวัฎจักรขาลงมาแล้ว 2 ครั้ง อยากจะบอกว่าเวลาหุ้นเป็นขาลงนี้มันลงได้ใจ โดยเฉพาะหุ้นตามโพยนี้แหละลงหนักที่สุด เพราะเจ้าของโพยมักชิงออกของก่อนรายย่อยผู้รับโพย ทำเอาติดดอยสูงลิ่ง อยากออกก็ออกไม่ได้เพราะไม่มีคนเสนอซื้อ ก็พื้นฐานไม่มีนี่ พอขาดทุนแล้วก็พาลมาโทษตลาดหุ้นเป็นการพนันไปซะอีก

Social Media ในปัจจุบันมันมีหลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย หน่วยงานกำกับดูแลเขาก็ไม่สามารถจะสอดส่องได้หมด ถึงจะเจอก็สั่งลงโทษไม่ถนัด สั่งปิดก็ไม่ได้ ได้แต่แจ้งเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการรับฟังข้อมูลข่าวสาร พอบอกชื่อไปกลับกลายเป็นไปสร้างความดังให้บรรดาเซียนเหล่านั้นมีสาวกมากขึ้นไปอีก

"ใครใคร่ค้าม้าค้า ใครใคร่ค้าช้างค้า" ประโยคเด็ดสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังคงใช้มาได้จนถึงยุคมิลเลเนี่ยม ผมไม่อยากขัดลาภท่านนักลงทุนทั้งหลายหรอก ใครจะลงทุนด้วยเหตุผลอะไรก็ได้ ท่านตามโพยแล้วได้กำไร ผมก็ยินดีด้วย แต่ถ้าตามโพยแล้วติดดอยผมก็ขอให้ทำใจ เพราะท่านเลือกที่จะเชื่อเซียน แทนที่จะเชื่อตรรกะและการวิเคราะห์ของท่าน ท่านก็ต้องยอมรับผลที่ตามมาอย่าไปตีโพยตีพายว่าโดนเซียนหลอก

คำแนะนำเป็นของเขา การตัดสินใจและเงินเป็นของท่าน