วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความพยายามกับความสำเร็จ



แรงงงงงงงงงส์..... แต่จริง

ผมเชื่อเสมอว่าคนเราจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัย 3 ปัจจัย
1. ปัญญา หมายถึง ความรู้ที่ถูกต้องที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้จริง
2. โอกาส หมายถึง ช่องทางหรือทางเลือกที่จะทำให้ประสบความสำเร็จง่ายขึ้น

3. มานะ หมายถึง ความพยายามที่จะทำตามความเชื่อของตนอย่างไม่ย่อท้อ

ผมเรียงให้ตามลำดับความสำคัญเรียบร้อย

ปัญญาสำคัญที่สุด เพราะจะเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางของการดำเนินชีวิตให้ไปในทางที่ถูก

โอกาสสำคัญรองลงมา เพราะจะทำให้ผู้มีปัญญาสามารถใช้ปัญญาของตนสร้างความสำเร็จให้ตนเองได้โดยง่าย

มานะสำคัญน้อยที่สุด เพราะมันเป็นเพียงแค่ตัวเร่งที่จะทำให้คุณเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แต่ไม่จำเป็นว่าทางที่คุณกำลังวิ่งไปนั้นมันนำไปสู่ความสำเร็จหรือล้มเหลว

หากคุณมีปัญญา แต่ขาดโอกาส คุณยังสามารถประสบความสำเร็จได้ แต่ความสำเร็จนั้นจะยากเย็นกว่าคนที่มีทั้งปัญญาและโอกาส

หากคุณมีปัญญา แต่ขาดมานะ คุณก็ยังสามารถประสบความสำเร็จได้ แต่จะความสำเร็จของคุณก็ต้องใช้เวลานานกว่าคนอื่นๆที่มีปัญญาเหมือนๆกันคุณแต่มีมานะมากกว่า

หากคุณขาดปัญญา ถึงมีโอกาสคุณก็ไขว่คว้าไว้ไม่ได้

หากคุณขาดปัญญา ยิ่งมีมานะจะยิ่งเป็นผลเสียกับคุณมากขึ้นเพราะมันจะทำให้คุณวิ่งเข้าหาความวิบัติได้เร็วขึ้น

ผมยังไม่เห็นด้วย 100% กับข้อความในรูปภาพเพราะความจริงทาสที่มีปัญญาและมานะ ถึงขาดโอกาสก็สามารถประสบความสำเร็จได้ เช่น เบนเฮอร์ ที่เคยเป็นเศรษฐีตกยาก สามารถสร้างตัวขึ้นมาจากทาส กลับมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่ง และเป็นผู้สนับสนุนหลักของศาสนาคริสต์ในยุคพระเยซูได้ เพียงแต่เส้นทางกลับมาเป็นเศรษฐีของเขาก็เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะเขาขาดโอกาสที่ดีนั่นเอง

ผมเชื่อเสมอว่าความพยายามมีค่าน้อยมากในโลกของตลาดทุน และไม่สำคัญอะไรเลยกับการลงทุน ความจริงมานะที่ขาดปัญญาจะยิ่งทำให้คุณพินาศได้เร็วขึ้น ผมรู้จักนักลงทุนหลายคนที่ใช้มานะเป็นที่ตั้ง พยายามลงทุนด้วยวิธีเดิมๆที่ตนเชื่อมั่น ถึงแม้หลักฐานจะพิสูจน์อย่างชัดแจ้งว่าวิธีที่ตนเองใช้มันไม่เหมาะกับตนเอง หรือไม่เหมาะกับสภาวะตลาด แต่ก็ยังมานะที่จะทำแบบนั้นต่อไปโดยไม่ยอมเปลี่ยนวิธีเพียงเพื่อจะพิสูจน์ว่าวิธีของตนเองถูก สุดท้ายแม้เขาเหล่านั้นจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงจนต้องออกจากตลาดไป แต่เขาเหล่านั้นก็ไม่ยอมรับอยู่ดีว่าสิ่งที่คิดมามันไม่เหมาะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก หากพวกเขาเพียงแต่จะหยุดและทบทวนตัวเองเท่านั้น

ผมคิดว่าก่อนที่เราจะออกเดินทาง เราควรต้องใช้ปัญญาให้ถี่ถ้วนก่อนว่าจะหันหน้าไปทางไหน พร้อมทั้งมองหาโอกาสให้รอบคอบก่อนว่ามีเส้นทางใดบ้างที่จะไปถึงที่หมายได้เร็วที่สุด แล้วจึงค่อยออกวิ่ง เพราะหากคุณไม่แน่ใจว่าหันหน้าถูกด้านหรือไม่ ผมแนะนำว่าให้คุณคลานไปจะดีกว่าเผื่อว่าระหว่างที่คลาน คุณจะได้มีเวลาทบทวนตัวเองเพื่อกลับตัวก่อนที่คุณจะเข้าป่าไปในที่สุด

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทางเลือกของการลงทุน


“ ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี ”
不管白猫黑猫,会抓老鼠就是好猫
(ปู้ก่วนไป๋เมาเฮยเมา, ฮุ่ยจัวเหลาสู่จิ้วซื่อห่าวเมา)

ช่วงกำลังพักผ่อนยาว ผมบังเอิญไปสดุดตาวลีอมตะของอดีตประธานธิบดี เติ้ง เสี่ยว ผิง วลีอมตะนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายสถานการณ์ แม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนก็เช่นกัน


ผมลองเคยถามนักลงทุนหลายๆท่าน ว่าเป็นนักลงทุนประเภทไหน เกินกว่า 60% ตอบว่า Value investor ทั้งๆที่ความเป็นจริงวิธีการที่เขาเหล่านั้นลงทุนมันช่างห่างไกลจากสิ่งที่ตำราบอกว่า เป็นลักษณะของ VI เป็นอย่างมาก บางคนเทรดหุ้นทุกวัน ไล่หุ้นร้อนมั่ง ทำตัวเป็นเจ้าภาพมั่ง ซื้อหุ้นตามโพยบ้าง บางคนซื้อหุ้นที่ตัวเองยังไม่รู้ว่าทำอะไรก็ยังอุตส่าห์ตอบว่า VI

ผมลองถามน้องๆนักศึกษาหลายคนว่า โตขึ้นอยากเป็นนักลงทุนเป็นไหน มากกว่า 75% อยากเป็น Value Investor VI อีกแล้ว!!! ทั้งๆที่พื้นเพ ลักษณะอุปนิสัย ไม่ได้เข้ากับการลงทุนสไตล์ VI เลยแม้แต่น้อย พอผมถามคนที่อยากเป็น VI ว่ารู้หรือไม่ว่าโลกนี้มีสไตล์การลงทุนอย่างอื่นอีก 60% ตอบว่า "รู้" แต่ก็ยังเลือก VI

ผมมาลองวิเคราะห์ดูว่าเหตุใดคนส่วนใหญ่จึงชอบตอบว่าตัวเองเป็น VI หรืออยากจะเป็น VI คงเป็นเพราะ VI นี้เป็นแนวทางการลงทุนที่ได้รับยอมรับอย่างกว้างขว้างที่สุุด สอดคล้องกับทฤษฎีทาง Finance มากที่สุด และมี Idol ของนักลงทุนประเภทนี้ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง การเป็น VI นับได้ว่า "เท่ห์" กว่าอย่างมากมาย เด็กๆทั้งหลายโตขึ้นมาจึงอยากเป็น VI กันหมด

แต่การลงทุนในสไตล์อื่นๆ เช่น Growth Momentum Technical Quantative ฯลฯ นั้นดูขาดความน่าเชื่อ ไม่มีตำรารองรับ มีหนังสือน้อยเล่มที่เขียนถึงการลงุุทุนสไลต์ต่างๆเหล่านั้น จึงหาคนที่เข้าใจลึกซึ้งได้น้อย การประกาศตนเป็นนักลงทุนแนวเทคนิค ตามกระแส หรือ Quant จึงมักจะถูกประเมินค่าว่า เป็นแมงเม่าบ้าง ปั่นหุ้นบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง คนส่วนใหญ่จึงมักลังเลที่จะตอบในลักษณะที่ว่า "ใช่ครับ ผมเป็นนักลงทุนประเภทชอบแห่ตาม"

ในความเห็นของผม สไตล์การลงทุนต่างๆมีลักษณะเด่น และข้อด้อยของตัวมันเอง ซึ่งมันจะเหมาะสมกับอุปนิสัย และพื้นเพของนักลงทุนที่แตกต่างกันไป การพยายามมุ่งเน้นจะเป็นแต่ VI เพื่อความเท่ห์ จึงทำให้นักลงทุนบางท่านเลือกที่จะพัฒนาทักษะการลงทุนที่ไม่เหมากับตัวเอง และมักส่งผลให้เกิดความล้มเหลวในที่สุด

"ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี" วลีอมตะของอดีต ปธน. เติ้ง สามารถนำมาประยุกต์ได้ว่า คุณจะลงทุนด้วยวิธีไหนก็ได้ ขอให้ประสบความสำเร็จเป็นพอ จะใช้ Technical Fund flow หรือโหราศาสารย์ก็ไม่ว่ากัน การเป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ไม่จำเป็นต้อง "เท่ห์" ตามความเห็นของคนทั่วไปก็ได้ขอเพียงลงทุนให้ได้กำไรตามเป้าหมายได้ก็ถือเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งนักลงทุนยิ่งเก่ง ยิ่งถ่อมตน และไม่แสดงตน

ผมรู้จักนักลงทุนที่ใช้วิธีการอื่นๆนอกจาก VI แล้วประสบความสำเร็จอยู่มากมาย จึงสามารถยืนยันได้ว่าการลงทุนทุกรูปแบบนั้นสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้จริง เพียงแต่คนเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นทีรู้จักเป็นการทั่วไปเท่านั้น

ถ้านักลงทุนท่านได้ลองพยายามเป็น VI แล้วไม่ประสบความสำเร็จ นั่นอาจหมายความว่าพื้นเพ หรือนิสัยของท่านไม่เหมาะที่จะเป็น VI ความพยายามดึงดันจะเป็น VI อาจทำให้พอร์ตของท่านพินาศได้ ผมแนะนำให้ท่านลองศึกษาวิธีการลงทุนแบบอื่นๆบ้าง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะ "ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี" ^_^