วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ตลาดหุ้น? โรงละครแห่งความฝัน?


เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้ให้คำแนะนำนักลงทุนหน้าใหม่ท่านหนึ่ง เขามาปรึกษาเรื่องพอร์ทหุ้นที่กำลังขาดทุนอยู่ ผมลองมองดูพอร์ตของเขาแล้วพบว่าเต็มไปด้วยหุ้นขนาดเล็กที่มี Story ของการเก็งกำไรแฝงอยู่เกือบทั้งหมด สอบถามได้ความว่าได้รายชื่อหุ้นมาจากเพื่อนๆที่เล่นหุ้นแล้วได้กำไรกัน เลยลองมาเล่นตามแต่ตัวเองยังติดดอยอยู่ ผมจึงให้คำแนะนำว่าความถนัดในการเล่นหุ้นแต่ละคนมีความแตกต่างกันมาก ลงทุนหุ้นตัวเดียวกันคนนึงอาจได้กำไรส่วนอีกคนอาจขาดทุนก็ได้ ซึ่งถ้าดูจากพฤติการณ์การลงทุนที่ลองสัมภาษณ์ดูแล้ว ผมเชื่อลึกๆว่าเขาไม่เหมาะกับการเล่นหุ้นเก็งกำไรเอามากๆ น่าจะลองศึกษาแนวทางลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่อาจกำไรช้าหน่อยแต่ชัวร์ว่ารักษาเงินต้นไว้และเติบโตอย่างสม่ำเสมอจะดีกว่า จึงแนะนำหนังสือลงทุนด้านคุณค่าให้เขาหลายเล่ม รวมทั้งคอร์สอบรมที่น่าสนใจ ซึ่งเขาก็รับปากว่าจะนำไปศึกษาอย่างถี่ถ้วน

เวลาผ่านไปสองสามเดือน นักลงทุนท่านเดิมกลับมาปรึกษาผมเรื่องติดดอยเหมือนเดิมอีก ผมลองสอบถามพอร์ตหุ้นของเขาพบว่าเปลี่ยนไปมาก แต่ยังคงเป็นพอร์ตลักษณะเดิมที่ยังเน้นหุ้นขนาดเล็กเก็งกำไรอยู่ดี แถมขาดทุนหนักกว่าเดิมอีก ผมจึงสอบถามว่าเหตุใดไม่ลองศึกษาแนวทางลงทุนเน้นคุณค่าดูบ้าง เขาตอบผมว่าถ้าลงทุนแบบกำไรปีละ 10-20% มันจะทำให้เงินลงทุนของเขาโตช้า และไม่พอนำไปใช้จ่ายตามเป้าหมายที่เขาวางเอาไว้ มิสู้ลองลงทุนตามเซียนหุ้นที่รู้จักฝืมือดีกว่า เดี๋ยวเจ้ามือเขาก็ไล่ให้เข้าเป้าเอง ติดดอยแบบเดียวก็หลุด ผมจึงถึงบางอ้อว่าที่แท้แล้วผมผิดเองที่ไม่ได้อธิบายการลงทุนอย่างเป็นขั้นตอนไปตามที่ควร

ความจริงแล้วนักลงทุนหลายๆท่านยังมีทัศนคติต่อการลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่มักคิดแต่ว่าซื้อหุ้นตัวไหนแล้วจะได้กำไรเยอะๆ กำไรเร็วๆ หมุนหลายๆรอบ และเป็นเศรษฐีในช่วงข้ามปี คิดว่าตลาดหุ้นเป็นแหล่งทำเงินที่ได้มาเยอะๆ จากการซื้อหุ้นตามคำบอกถือรอเฉยๆไม่ต้องทำอะไรก็รวยได้ง่ายๆ

ในสายตาของผมบางครั้งตลาดหุ้นก็เหมือนโรงละครแห่งความฝันที่เฝ้าสะกดผู้คนที่อยู่ในตลาดในหลงไปกับความสำเร็จของคนจำนวนน้อยที่ถูกยกย่องให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักลงทุนหน้าใหม่ “จาก 1 ล้านเป็น 500 ล้าน” หรือ “จาก 10 ล้านเป็น 1000 ล้าน” คนเหล่านี้มีอยู่จริง แต่ก็ไม่ได้มีจำนวนมาก และที่น่าเสียดายก็คือนักลงทุนหน้าใหม่ไม่ได้พยายามไปศึกษาวิธีการลงทุนของพวกเขาเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง กลับคิดง่ายๆแค่ว่า “ถ้าเขาทำได้ เราก็น่าจะทำได้ จาก 1 ล้านเป็น 100 ล้านเองไม่น่าจะยาก คนอื่นเขาทำได้ตั้ง 500 ล้านแหนะ” แต่สิ่งที่โรงละครนี้ไม่ได้ค่อยบอกต่อสาธารณะชน ก็คือความล้มเหลวของนักลงทุนที่เหลืออยู่ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีโอกาสออกสื่อเป็นที่ยกย่องเชิดชู จึงอาจไม่รู้ความโหดร้ายของตลาดหุ้นดีพอ คนที่เก็งกำไรในตลาดอนุพันธ์ที่หมดตัวไปก็มีเยอะแยะ

ผมอยู่ในตลาดหุ้นมาเกิน 1 รอบแล้วเห็นผู้คนประสบความสำเร็จด้วยวิธีการที่หลากหลาย แต่ทุกคนที่ผมรู้จักล้วนทุ่มเทให้กับการลงทุน ศึกษาหาความรู้ วิเคราะห์ข้อมูล ฝึกฝนแนวทางการลงทุนของตนจนช่ำชอง อดทนและเรียนรู้ต่อความล้มเหลว มองจากภายนอกวันๆพวกเขาไม่เห็นจะทำอะไร อ่านหนังสือพิมพ์ ดูกราฟ ไปเที่ยวชมโรงงานบ้าง สบายจะตาย ไม่เห็นต้องทำงานหนักๆ เครียดๆ เหมือนงานบริษัทหรือธุรกิจของตัวเองเลย แต่สิ่งที่เราไม่เห็นคือในทุกสิ่งที่พวกเขาทำเหล่านั้นล้วนแต่เชื่อมโยง และเกี่ยวข้องกับการคิด การวิเคราะห์ การตัดสินใจลงทุนแทบทั้งสิ้น

กินก็คิดถึงเรื่องลงทุนว่าอาหารนี้อร่อยดี ร้านไหนขาย อยู่ในตลาดหุ้นไหม

นอนก็คิดเรื่องลงทุน โรงแรมนี้ดี ราคาไม่แพง ลูกค้าเยอะ มีที่ดินขยายได้อีก

เดินก็คิดเรื่องลงทุน ถ้าว่าเห็นสินค้าไหนขายดี ใครเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ เทียบกับสินค้าบนหิ้งข้างๆแล้วเป็นยังไง

ได้ยินก็คิดถึงเรื่องลงทุน ได้ข่าวอะไรมาก็คิดตลอดว่าบริษัทใดได้ประโยชน์ บริษัทใดเสียประโยชน์

ดูกราฟก็จินตนาการอนาคต มองเปรียบเทียบอดีตอยู่ในใจโดยสัญชาติญาณ

ขนาดหายใจยังคิดเลยว่าอากาศบริเวณนี้ไม่ดี อึดอัด สงสัยโรงงานจะมีปัญหาเรื่องควบคุมมลภาวะ น่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในปีต่อๆไป

พวกเขามี Passion ในการลงทุนในทุกอย่างที่เขาทำไป ซึ่งแตกต่างกันมากกับนักลงทุนที่ล้มเหลวในตลาดหุ้นที่คิดง่ายๆว่าตลาดหุ้นเป็นแหล่งทำเงินโดยไม่ต้องออกแรง และไม่พยายามฝึกฝน ศึกษาหาความรู้ วิธีคิดวิเคราะห์ในแนวทางของตัวเอง เฝ้าแต่จะหาเซียนหุ้นให้โพย ลอกการบ้าน แล้วหวังว่าเซียนๆเหล่านั้นจะใจบุญสุนทาน แบ่งบันปันหุ้นเด็ด หรือบางครั้งช่วยดันหุ้นให้ตัวเองขายได้กำไรในที่สุด

สำหรับผมแล้วการลงทุนตลาดหุ้นเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ไม่มีวันสิ้นสุด และที่สำคัญไม่มีทางลัดสู่ความสำเร็จ การก้าวไปอย่างช้าๆในช่วงแรกจะสร้างความมั่นคงในระยะยาวต่อชีวิตของนักลงทุน ความสำเร็จที่ได้มาโดยง่ายในช่วงแรกของการลงทุนจะยิ่งเป็นบาปมหันต์ของการลงทุนในช่วงต่อๆไป เพราะมันจะทำให้เราเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเราสูงจนเกินไป และเมื่อความล้มเหลวมาถึง มันก็สายจนเกินไปที่จะมาระลึกถึงความอ่อนด้อยของตนในขณะที่เราสูญเสียเงินลงทุนทั้งชีวิตของเราไปเกือบหมดแล้ว

จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

Indy Investor Forum
22 พ.ค. 2558