วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จิตวิทยากับการลงทุน (4)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM 



ในเนื้อหาสามตอนแรกได้แนะนำให้นักลงทุนรู้จักกับพฤติกรรมการลงทุนแบบ ต่างๆ ไปมากพอสมควรแล้ว ในครั้งสุดท้ายนี้จะขอนำเสนอข้อแนะนำการลงทุนที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับ นักลงทุนที่สนใจ

เตรียมตัวเองให้พร้อม

นักลงทุนควรเริ่มต้นจากการสำรวจและทำความรู้จักกับตัวเองให้มากที่สุด โดยนักลงทุนควรตอบคำถามต่อไปนี้ให้ได้ นักลงทุนสามารถรับผลขาดทุนได้มากน้อยเพียงไร? นักลงทุนต้องการผลตอบแทนเท่าไร? นักลงทุนต้องการใช้เงินเมื่อไรบ้าง? ข้อจำกัดด้านภาษีและการลงทุนมีอะไรบ้าง? เพื่อนำมาตั้งเป้าหมายการลงทุนที่เหมาะสมและจัดสรรเงินลงทุนเพื่อให้บรรลุ ตามเป้าหมาย การลงทุนโดยไม่สำรวจตัวเองก่อนมักส่งผลให้นักลงทุนมุ่งเน้นผลตอบแทนจากการลง ทุนมากจนละเลยการพิจารณาความเสี่ยงและสภาพคล่องของการลงทุนเป็นผลให้ลงทุน เสี่ยงเกินตัว ในหลายกรณีพบว่ากว่านักลงทุนจะระลึกตัวได้ว่าเสี่ยงเกินไปก็สายเกินแก้เสีย แล้ว

เรียนรู้ให้รอบด้าน

การเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อขยายขอบเขตการลงทุนให้กว้างขวางเป็นสิ่งที่ สำคัญ เนื่องจากสินทรัพย์แต่ละประเภทอาจให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในช่วงเวลาที่แตกต่าง กัน เช่น ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตราสารอื่น ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่น่าดึงดูด หรือในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูงสินค้าโภคภัณฑ์อาจให้ผลตอบแทนที่โดดเด่น เป็นต้น การจำกัดตัวเองอยู่กับความรู้ในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งจะทำให้นักลง ทุนเสียโอกาสในการลงทุน และจะทำให้การกระจายการลงทุนด้อยประสิทธิภาพได้

รักที่จะลงทุน

นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทุนเพียงเพราะเขาเหล่านั้น ต้องการเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะรักที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับการลงทุน ชอบที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับมัน และยอมรับผลที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน การลงทุนโดยเอาผลกำไรเป็นที่ตั้งจะทำให้นักลงทุนขาดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ และอาจทำให้ละเลยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ซึ่งอาจมีนัยสำคัญกับผลลัพธ์ในการลงทุนได้ นอกจากนี้การมุ่งเน้นแต่จะเอากำไรมักทำให้นักลงทุนเสี่ยงเกินตัวโดยไม่รู้ตัวและรับไม่ได้กับผลขาดทุนที่เกิดขึ้นแม้เพียงช่วงสั้นๆก็ตาม

กระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม

การทุ่มเงินลงทุนลงไปในการลงทุนอย่างเดียวอาจให้ผลตอบแทนที่หวือหวา แต่หากผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์นักลงทุนก็อาจถึงกับหมดเนื้อหมดตัวได้ ไม่ใครที่จะถูกต้องเสมอไปในโลกของการลงทุน ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการลงทุนมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน ความผิดพลาดจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าเราจะวิเคราะห์หรือเตรียม ตัวมาดีเพียงใดก็ตาม ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งซึ่ง นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากความสูญเสียจำนวนมากในคราวเดียวแล้ว ยังช่วยทำให้ผลตอบแทนจากลงทุนเติบโตอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

คิดในภาพรวม

ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นผลรวมของผลกำไรขาดทุนของการลงทุนทั้งหมด นักลงทุนจึงไม่ควรมุ่งความสนใจไปยังการลงทุนหนึ่งมากจนละเลยการติดตามความ เปลี่ยนแปลงของการลงทุนอื่น เช่น นักลงทุนคนหนึ่งอาจเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของหุ้นตัวหนึ่งอย่างใกล้ชิด จนขาดการติดตามความเปลี่ยนแปลงของหุ้นตัวอื่นที่อยู่ในพอร์ต ผลสุดท้ายแล้วเขาก็ได้กำไรของหุ้นตัวที่เฝ้าติดตาม แต่ขาดทุนจากหุ้นตัวอื่นจนทำให้การลงทุนทั้งหมดขาดทุน  (You may win a battle but lose the war)

มองไปข้างหน้า

นักลงทุนลงทุนเพื่อรับผลตอบในอนาคต ไม่ใช่ผลตอบแทนในอดีตที่ผ่านมาแล้ว นักลงทุนจึงควรการพยากรณ์อนาคตโดยอาศัยเหตุปัจจัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้น มากกว่าการใช้ข้อมูลในอดีตเพียงอย่างเดียว เพราะเหตุการณ์ในอนาคตไม่จำเป็นต้องย้อนรอยอดีต การคาดการณ์อนาคตโดยอาศัยเพียงข้อมูลในอดีตเปรียบได้กับการขับรถโดยมองเพียง กระจกหลังด้วยความเชื่อว่าเส้นทางข้างหน้าจะเหมือนกับเส้นทางที่เคยขับผ่าน มาย่อมเป็นอันตรายแก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

กล้าที่จะแตกต่าง

ตามปกติพฤติกรรมกลุ่มมักกดดันให้คนเราลังเลที่จะคิดหรือทำอะไรที่แตกต่าง แต่ในโลกการลงทุนความคิดนอกกรอบเป็นสิ่งที่จำเป็น การที่เราคิดไม่เหมือนคนอื่นไม่ได้หมายความว่าจะผิดเสมอไป เวลาจะให้คำตอบเราเองว่าถูกหรือผิด แม้แต่นักลงทุนที่ยิ่งใหญ่อย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงมาจากการคิดตามผู้อื่น ในทางตรงกันข้ามการยึดติดกับความคิดของคนส่วนใหญ่มักทำให้เกิดพฤติกรรมแห่ ตามกัน ซึ่งผลตอบแทนจากการแห่ตามก็จะเป็นไปตามตลาด นักลงทุนจะสามารถเอาชนะตลาดได้จำเป็นต้องอาศัยการคิดแตกต่างอย่างถูกต้อง (Think correctly and independently)

ปรับความคิดให้ยืดหยุ่น

โลกของการลงทุนมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นักลงทุนจึงควรเปิดใจให้กว้างและพร้อมจะยอมรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เพราะข้อมูลข่าวสารหรือความรู้ใหม่ ๆ อาจเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ที่เคยคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ การติดตามและปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันจึงเป็นจำเป็น หากเหตุการณ์ต่างๆไม่เป็นไปตามสมมุติที่ตั้งไว้นักลงทุนก็ควรยอมรับและปรับ ปรุงการคาดการณ์ใหม่ให้ถูกต้อง นอกจากนี้นักลงทุนไม่ควรประเมินการลงทุนโดยยึดติดเฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แล้วในอดีต (Say after fact) รวมถึงความคิดเพื่อปกป้องความผิดของตนเอง เช่น “บอกแล้ว…” “ว่าแล้ว…” “รู้งี้…” ไม่เป็นประโยชน์กับการลงทุนต่อไปในอนาคต นักลงทุนควรยอมรับความผิดพลาดในอดีตของตน และนำมาปรับปรุงแก้ไขกระบวนการตัดสินใจลงทุนให้รัดกุมยิ่งขึ้น

ติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงการลงทุนอยู่เสมอ

นักลงทุนควรติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลงของภาพรวมเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และบริษัทจดทะเบียนอย่างสม่ำเสมอและวิเคราะห์ปัจจัยอาจส่งผลกระทบกับพอร์ต การลงทุน เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนให้ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้นักลงทุนควรหมั่นทบทวนบันทึกรายการซื้อขายของตน เพื่อศึกษาข้อบกพร่องของตนเองและหาวิธีปรับปรุงข้อด้อยต่างๆเพื่อให้การลง ทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทสรุป

แนวคิดด้านจิตวิทยากับการลงทุนเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างใหม่และยังมีราย ละเอียดที่ผู้เขียนยังไม่ได้นำเสนออีกมาก ซึ่งนักลงทุนสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากงานเขียนที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถหาได้ทั่วไป สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวคิดและข้อแนะนำที่นำเสนอมาตลอด 4 ตอนที่ผ่านมาจะเป็นประโยชน์ในการลงทุนของนักลงทุนที่สนใจบ้างไม่มากก็น้อย

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น