วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จิตวิทยากับการลงทุน (3)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM 


ในเนื้อหาสองตอนก่อนได้แนะนำให้นักลงทุนรู้จักกับ Behavioral finance ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับกระบวนการ ตัดสินในลงทุนไปพอสมควรแล้ว ครั้งนี้จะกล่าวถึงพฤติกรรมการลงทุนที่เหลือ เพื่อขยายขอบเขตความเข้าใจใน Behavioral finance ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

Cognitive dissonance

เมื่อคนเราพบว่าความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ในโลกแตกต่างไปจากความเชื่อที่ตนยึดมั่นถือมั่น มนุษย์มักมีพฤติกรรมต่อต้านโดยสัญชาติญาณ และพยายามจะทำให้ความจริงที่ประจักษ์และความเชื่อของตนเป็นไปในทางเดียวกัน เช่น ธรรมชาติของนักลงทุนมักเชื่อมั่นในความสามารถในการทำกำไรจากการลงทุน เมื่อเกิดผลขาดทุนขึ้น ข้อแก้ต่างมากมายเท่าที่จะนึกได้จะถูกนำมากล่าวอ้างเพื่อปกป้องความเชื่อ มั่นในการลงทุนของตนไว้ เช่น “ถ้าตลาดหุ้นในภูมิภาคไม่ตกอย่างหนักในวันนี้ก็คงไม่ขาดทุน” “ถ้าบริษัทไม่ประกาศผลขาดทุนออกมาเสียก่อนก็คงได้กำไร” “ในพอร์ตมีหุ้นอยู่หลายตัวขาดทุนไปแค่ตัวเดียวไม่เป็นไร” เป็นต้น

ตัวอย่างของผลที่ตามมาจากพฤติกรรมที่นักลงทุนพยายามจะหลีกเลี่ยง Cognitive dissonance ได้แก่
  • Selective recall คือ พฤติกรรมที่เลือกจำเมื่อการตัดสินใจของตนถูกต้อง เมื่อมีโอกาสพูดคุยก็คนอื่นๆ ก็มักพูดถึงเฉพาะการลงทุนที่ตนทำกำไรได้ บางครั้งนักลงทุนก็อาจไม่ได้ตั้งใจปกปิดการลงทุนของตนแต่เป็นเพราะว่าจำไม่ ได้จริงๆ นักลงทุนจึงมีความสุขอยู่เสมอเมื่อนึกถึงการลงทุนของตน แต่ก็ไม่เคยเรียนรู้จากความผิดพลาดและทำผิดซ้ำรอยเดิม
  • Selective evaluate คือ พฤติกรรมที่ถือว่าผลกำไรที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความสามารถในการลงทุนของตน ในขณะที่กล่าวโทษผลขาดทุนว่าเป็นผลสิ่งแวดล้อมหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน อื่นๆ นักลงทุนจึงไม่รู้สาเหตุของความผิดพลาด หรือรู้แต่ปฏิเสธว่าไม่ใช่ความผิดของตน ข้อผิดพลาดของนักลงทุนจึงไม่ได้รับการแก้ไข
โดยสรุป Cognitive dissonance เป็นพฤติกรรมที่ขัดขวางกระบวนการเรียนรู้ในระยะยาวของนักลงทุน โดยการปฏิเสธความจริงเพื่อปกป้องความเชื่อของตน ซึ่งแท้จริงแล้วการขาดทุนไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกว่านักลงทุนล้มเหลวในการลงทุน โดยสิ้นเชิง หากแต่เป็นสิ่งเตือนในให้นักลงทุนได้ระลึกถึงสาเหตุของความผิดพลาด และปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจลงทุนให้รัดกุมขึ้น การยอมรับผลขาดทุนจึงไม่ใช่สิ่งที่น่าละอาย พึงระลึกไว้เสมอว่านักลงทุนที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่เคยประสบกับผลขาด ทุนมาแล้วแทบทุกราย

Familiarity

นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะเลือกลงทุนในสิ่งที่ตนมีความคุ้นเคย โดยใช้ความคุ้นเคยเป็นทางลัดในการตัดสินใจลงทุน เช่น ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ลงทุนในบริษัทตนทำงานอยู่ ลงทุนในบริษัทที่ตนซื้อสินค้าและบริการ หรือกระทั่งลงทุนในบริษัทที่คนรู้จักบอกว่าดี เป็นต้น

การลงทุนในสิ่งที่นักลงทุนคุ้นเคยย่อมดีกว่าลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้จัก แต่การใช้ความคุ้นเคยเป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความรอบคอบในการตัดสินใจลงทุน ขาดการติดตามความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ลงทุน และประเมินความเสี่ยงจากการลงทุนต่ำเกินไป นอกจากนี้การลงทุน “เฉพาะ” สิ่งที่คุ้นเคยโดยเพิกเฉยต่อการเรียนรู้ทางเลือกในการลงทุนใหม่ ยังส่งผลให้นักลงทุนเสียโอกาสในการลงทุนที่ดี และการกระจายการลงทุนขาดประสิทธิภาพได้ โลกของการลงทุนนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การลงทุนจึงต้องอาศัยการติดตามข้อมูล และการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่มีที่สิ้นสุด

House money

ได้แก่พฤติกรรมที่นักลงทุนนำกำไรที่ได้จากการลงทุนครั้งก่อนมาลงทุนต่อใน สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมากๆ เพราะถือว่าผลกำไรที่ได้มาจากการลงทุนก่อนหน้าไม่ใช่เงินทุนของตนแต่เป็น เงินที่ได้เปล่า (Free money) พฤติกรรมดังกล่าวทำให้นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งแท้จริงแล้วกำไรที่ได้มาไม่ใช่ของฟรีหากแต่ได้มาเพราะแบกรับความเสี่ยง จากการลงทุนในครั้งก่อน ซึ่งการลงทุนครั้งต่อไปไม่จำเป็นว่าจะต้องได้กำไรเสมอไป การรับความเสี่ยงมากเกินความจำเป็นอาจทำให้ผลกำไรที่ได้มาหายไปอย่างรวดเร็ว และอาจขาดทุนเงินต้นได้ในที่สุด ดังนั้นนักลงทุนจึงควรถือกำไรที่จากการลงทุนเสมือนเป็นเงินทุนของตนและ พยายามเพิ่มค่าของเงินต้นและผลกำไรที่ได้มาก่อนหน้าตามระดับความเสี่ยงที่ เหมาะสมกับตนเอง

Try to break even

เมื่อเกิดผลขาดทุนจากการลงทุนนักลงทุนอาจต้องการได้เงินทุนของตนกลับมา โดยเร็ว จึงพยายามลงทุนเสี่ยงมากขึ้นเพื่อคาดหวังกำไรมาชดเชยผลขาดทุนที่เกิดขึ้นโดย เร็วที่สุด ซึ่งอาจอยู่ในลักษณะการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น หรือเพิ่มเงินลงทุนลงไปในการลงทุนเดิมที่มีอยู่ (ซื้อถัวต้นทุน) หากภาวะการลงทุนยังเป็นไปทิศทางเดิมการเพิ่มความเสี่ยงรังแต่จะทำให้ผลขาด ทุนมากขึ้น นักลงทุนจึงควรตัดสินใจลงทุนโดยยึดการคาดการณ์โดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพราะนักลงทุนไม่อาจกำหนดความเป็นไปของตลาดได้ ทำได้เพียงปรับการลงทุนให้เหมาะสมกับภาวะตลาดและความเสี่ยงที่ตนรับได้เท่า นั้น

ในครั้งหน้าจะเป็นบทสรุปของ “จิตวิทยากับการลงทุน” พร้อมคำแนะนำสำหรับนักลงทุนที่สนใจ

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น