วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ลงทุนอย่างมีสไตล์ (2)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM 



ในครั้งก่อนได้แนะนำแนวทางการลงทุนแบบเชิงรุกและเชิงรับในภาพกว้างให้นัก ลงทุนได้รู้จักแล้ว ในครั้งนี้จะขอนำเสนอการลงทุนเชิงรุกในรูปแบบต่างๆ แต่พอสังเขป เพื่อขยายขอบเขตความเข้าในในการลงทุนเชิงรุกให้มากขึ้น

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing)

การลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้มีพื้นฐานมาจากแนวคิดการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ของเบนจามิน แกรแฮม และเดวิด ดอจจ์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานซึ่งอ้างอิงจากอัตรา ส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น อัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์สุทธิ (P/E) อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) อัตราเงินปันผลตอบแทนที่ (Dividend yield) เป็นต้น โดยเชื่อว่าในระยะยาวราคาหุ้นจะปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐาน (Fundamental Value) การลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานจึงมีโอกาสกำไรมากกว่าขาดทุน แนวคิดของการลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับนักลงทุนระดับโลก อาทิ วอร์เรน บัพเฟต จอห์น เทมเพิลตัน จอห์น เนฟฟ์ เป็นต้น และการลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้ยังได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยเชิงวิชาการมาก มาย

การลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะมุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เพื่อค้นหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวมากกว่าการวิเคราะห์ทิศทางของ ตลาดหุ้น นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะแสวงหาหุ้นที่มีราคาต่ำจนน่าสนใจ ซึ่งอาจถูกระบุด้วยอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น หุ้นที่มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่ำกว่าตลาด หรืออัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่ำกว่าตลาด เป็นต้น หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นที่ไม่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั่วไป เช่น หุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่อิ่มตัว หุ้นที่มีผลการดำเนินขึ้นอยู่กับวัฎจักรทางเศรษฐกิจ หรือหุ้นที่กำลังประสบปัญหา ฯลฯ แล้วรอจนตลาดเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อหุ้นเหล่านั้น ผลักดันให้ราคาหุ้นปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐานดังกล่าวจึงขายทำกำไร

นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะศึกษาบริษัทจดทะเบียนต่างๆโดยละเอียด และประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวด้วยวิธีต่างๆ เช่น วิธีคิดลดกระแสสด (Discount cash flow) วิธีเปรียบเทียบอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิกับตลาด เป็นต้น จากนั้นรอจนกระทั่งระดับราคาของหุ้นเหล่านี้ปรับตัวลดลงสู่ระดับราคาที่ เหมาะสมจึงเข้าลงทุนเพื่อให้ได้ผลอตอบแทนที่ต้องการ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะขายหุ้นออกไปเมื่อราคาปรับตัวสูงเกินกว่ามูลค่าที่ เหมาะสม หรือเมื่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้มูลค่าที่เหมาะสม ของบริษัทปรับตัวลดลงจนอยู่ในระดับไม่น่าดึงดูดใจ เพื่อเตรียมเงินเอาไว้สำหรับการลงทุนในครั้งต่อไป

การลงทุนแบบเน้นการเติบโต (Growth Investing)

การลงทุนแบบเน้นการเติบโตเป็นการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับหุ้นที่มีเรื่อง ราวของการขยายกิจการ การควบรวมกิจการ การเข้าซื้อกิจการ หรือการเข้าประมูลโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทในกลุ่มดังกล่าวจะมีอัตราการเติบโตของยอดขาย หรือกำไรสุทธิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด แม้ว่าหุ้นดังกล่าวอาจมีราคาแพงเมื่อพิจารณาในแง่ของอัตราส่วนราคาต่อกำไร สุทธิ หรืออัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีก็ตาม

นักลงทุนที่เน้นการเติบโตจะมุ่งแสวงหาหุ้นที่มีประวัติการเติบโตของกำไร สุทธิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังมีโอกาสรักษาอัตราการเติบโตให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อไปในอนาคต หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่มักอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกิดใหม่ อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต หรืออุตสาหกรรมที่เพิ่งฟื้นตัวจากปัญหา (Turn around) เมื่อบริษัทประกาศผลประกอบการที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด จะส่งผลให้อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ดีขึ้น เช่น อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิของหุ้นลดลง (เนื่องจากกำไรสุทธิมากขึ้น ทำให้อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิลดลง) และจะดึงดูดนักลงทุนรายใหม่เข้ามาให้ความสนใจกับหุ้นเหล่านี้มากขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นโตเร็วเหล่านี้สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้อีก ถ้าบริษัทดังกล่าวสามารถรักษาการเติบโตของกำไรสุทธิให้อยู่ในระดับสูงอย่าง ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน กำไรและราคาหุ้นก็จะยิ่งเพิ่มพูนเป็นเท่าทวี อย่างไรก็ดีหากบริษัทไม่สามารถสร้างการเติบโตของผลกำไรได้ตามที่ตลาดคาด การณ์หรือประสบกับข่าวร้ายที่มีนัยสำคัญ จนทำให้นักลงทุนหมดศรัทธาในความสามารถการเติบโตของบริษัท ราคาของหุ้นโตเร็วเหล่านี้ก็อาจปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว และสร้างผลขาดทุนมหาศาลให้กับนักลงทุนได้

ด้วยเหตุนี้การลงทุนแบบเน้นการเติบโตนี้จึงควรพิจารณาความเหมาะสมของราคา ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่านักลงทุนกำลังยอมจ่าย “แพง” เพื่อให้ได้รับอัตราการเติบโตที่สมเหตุสมผล โดยนักลงทุนอาจใช้อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อการเติบโต (PEG – Price to earning to growth) ซึ่งหาได้จากการนำเอาอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิไปหารด้วยอัตราการเติบโตของ บริษัท แล้วนำอัตราส่วนดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับตลาดหรือค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเพื่อ เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

ในครั้งต่อไปจะพาทุกท่านไปรู้จักกับรูปแบบการลงทุนแบบตามกระแส (Momentum) และ การลงทุนแบบสวนกระแส (Reversal) รวมถึงคำแนะนำต่างๆที่อาจเป็นประโยชน์กับนักลงทุน

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อ สังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น