วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

Internet of Things: How it has changed the world (Episode 1: Media)


ในบรรดาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก Internet of Things (IoT) คงไม่มีอะไรเกินธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร นั่นเพราะ IoT ทำให้เกิดอุปทานบน Cyberspace จำนวนมหาศาลที่สามารถเข้ามาทดแทน มีประสิทธิภาพสูงกว่า และมีอรรถประโยชน์มากกว่าสื่อแบบดั้งเดิมหลายเท่า ด้านผู้บริโภคสื่อเองก็มีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก พวกเขาต้องการอะไรที่เลือกเอง ไม่ชอบถูกยัดเยียดให้บริโภคจากผู้ผลิตอย่างที่เป็นกันในสมัยก่อน

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็เช่น การเข้ามาของทีวีและวีดีโอออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถดูละคร ดูหนัง ฟังเพลงจากมือถือได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยความละเอียดสูงกว่า สามารถเลือกรับชมเฉพาะที่ชอบก็ได้ จะดูละครติดต่อกันคราวละสี่ห้าตอนก็ได้ จะดูซ้ำๆกี่รอบก็ได้ตามใจทั้งหมด รายการที่ให้เลือกดูก็มีได้มากกว่า ทั้งรายการในและต่างประเทศ ไม่มีฉากตัดหรือเซนเซอร์ให้เสียอารมณ์ แถมยังมีของฟรีให้เลือกดูได้ด้วย (ทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย) หรืออีกตัวอย่างเช่น Application ข่าวสารที่เข้ามาแทนหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่สามารถพกติดตัวไปพร้อมมือถือได้ทุกที่ ทุกเวลา สามารถติดตามข่าวได้จากหลายแหล่งพร้อมกัน เลือกติดตามเฉพาะเรื่องที่อยากรู้ได้ เลือกติดตามเฉพาะดาราที่ก็ชอบได้ แถมยังสามารถตั้งให้ Alert ได้ทันที อ่านข่าวไหนชอบ Save เก็บไว้อ่านทีหลังหรือไว้อ้างอิงก็ได้ อ่านแล้วชอบจะ forward ต่อให้เพื่อนอ่านทันทีก็ได้

ทางด้านผู้ผลิต Content เองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เด็กๆสมัยใหม่อ่านและฟังภาษาอังกฤษได้ทุกคน เบื่อละครไทย ไปดูซีรี่ย์ฝรั่งก็ได้ เบื่อหนังไทย ไปดูหนังฮอลลิวู๊ดก็ได้ เบื่อเพลงไทย ไปฟังเพลงอินเตอร์ก็ได้ และทุกอย่างสามารถหาได้ใน Internet ซึ่งอยู่บนมือถือที่พกติดตัวไปด้วย พฤติกรรมผู้บริโภคเองก็เริ่มเปลี่ยนไปจากการรับชมรายการวาไรตี้ เกมโชว์ สารคดี ซึ่งถูกนำเสนอโดยดารา เซเลป พิธีกรชื่อดัง ทางทีวี มาเป็นการเสพ Social network อย่าง facebook Instragram และ Twitter มากขึ้น ซึ่ง Content ที่ถูกสร้างขึ้นบน Social network นี้มีจำนวนมากมาย มีความหลากหลายมากกว่า และมีแนวโน้มดึงดูดความสนใจผู้บริโภคได้มากกว่า เนื่องจากมันถูกนำเสนอโดยคนที่เรารู้จัก หรือกำลังสนใจอยู่ (ไม่งั้นจะ add friend หรือ follow ไปทำไม) ลองคิดดูง่ายๆว่าทุกวันนี้เราใช้เวลา ดูทีวี ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือ หรือนิตยสารรวมกัน แล้วลองเทียบกับเวลาที่เรานั่งจ้องมือถือ เล่นเฟส แช็ทไลน์ อ่านข่าว เล่นเกมดูสิ แล้วจะรู้ว่าผมไม่ได้พูดอะไรผิดไปหรอก

ในด้านบริษัทโฆษณาก็เห็นความได้เปรียบในเชิงแข่งขันที่ชัดเจนของสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถทำให้พวกเขาเลือกจัดสรรเม็ดเงินโฆษณาได้มีประสิทธิภาพกว่า เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างกว่า และยังสามารถเลือกโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดีกว่า ทำให้เม็ดเงินโฆษณาไหลออกจากการโฆษณาจากสื่อแบบดั้งเดิมมาเป็นการโฆษณา แบบออนไลน์อย่างชัดเจน ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณารวมทั่วโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 3% ในขณะเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์เติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ในช่วงเวลาเดียวกัน และยังเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งอีกด้วย ที่สำคัญคือในอนาคตอันใกล้ผมก็ยังไม่เห็นว่าแนวโน้มที่ว่าจะมีการเปลี่ยน แปลงไปได้ยังไง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดจึงไม่น่าแปลกใจกว่าทำไมธุรกิจสื่อแบบดั้งเดิมถึงอยู่ในขาลงในปัจจุบัน จะลองนับดูจากจำนวนโรงพิมพ์ ค่ายนิตยสาร หรือร้านหนังสือที่ปิดตัวลงก็ได้ หรือจะดูจากผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มสื่อแบบดั้งเดิมก็ได้ แม้เจ้าของสื่อแบบดั้งเดิมบางรายจะผนึกกำลังกับผู้ผลิต Content ที่มีคุณภาพแบบ Exclusive deal เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาเสพสื่อแบบดั้งเดิมมากขึ้น แต่ความพยายามเหล่านี้จะไร้ผลในระยะยาว เนื่องจากผู้ให้บริการ Social Network หรือ E-commerce เองก็เริ่มควบรวมกันเองให้ใหญ่ขึ้นและเริ่มผนึกกำลังกับผู้ ผลิต Content ในระดับโลก อย่างที่ Amazon ซื้อกิจการ Washington Post อย่างที่ Google ซื้อกิจการ Youtube หรืออย่างที่ facebook เข้าซื้อกิจการ Instragram และ WhatsApp หรืออย่าง Alibaba ที่ตั้งบริษัท Alipicture และกำลังสนใจจะเข้าซื้อหุ้นของ Paramount Picture และ South China Morning Post สุดท้ายผู้ผลิต Content ชั้นนำจะเลือกจับมือกับสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อแบบดั้งเดิมแน่นอน

ธุรกิจสื่อแบบดั้งเดิมจึงจำเป็นต้องรีบปรับตัวเองอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและสามารถอยู่รอดได้บนโลกใบใหม่ พวกเขาต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่ หาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ หาพันธมิตรที่แข็งแกร่ง หรือแปลงสภาพตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ผลิต Content ระดับแนวหน้าที่สามารถขาย Content ของตัวเองไปได้ทั่วโลก มิเช่นนั้นพวกเขาจะถูกกลืนหายไปในกระแสโลกาภิวัตน์อย่างรวดเร็ว ซึ่งในมุมมองของผมคิดว่าพวกเขาเหลือเวลาปรับตัวอีกไม่มากนัก หรืออาจจะช้าไปแล้วด้วยซ้ำ

แล้วโลกจะเปลี่ยนไปตลอดกาล...

Written by
Indy Investor Forum
6 ธันวาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น