วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เส้นทางชีวิตธุรกิจสื่อสารหลังประมูลใบอนุญาต 4G



การประมูลใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 4G บนคลื่นความถี่ 1800 mHz และ 900 mHz จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2558 ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่  1800 mHz Slot 1 AIS (40,986 ล้านบาท) 1800 mHz Slot 2 TRUE (39,792 ล้านบาท) 900 mHz Slot 1 JAS (75,654 ล้านบาท) และ 900 mHz Slot 2 TRUE (76,298 ล้านบาท) รวมเม็ดเงินประมูลทั้งหมด  232,730 ล้านบาท ทำลายสถิติประมูล 4G ของโลกเบี้ยวๆใบนี้ไปเรียบร้อยและผลกรทบต่ออุตสาหกรรมและผู้เล่นทุกรายตามมุมมองของผมเป็นดังนี้

ภาพรวมอุตสาหกรรม
แน่นอนว่าอุตสาหกรรมย่อมต้องมีการแข่งขันสูงมากขึ้น เนื่องจากผู้เล่นรายเดิมๆยังอยู่กันครบ แต่มี JAS น้องใหม่เข้ามาร่วมก๊วนเฮฮาด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคอย่างแน่นอนเนื่องจากเป็นการเพิ่มทางเลือกให้มากขึ้น แต่การเข้ามาของรายใหม่ย่อมนำมาสู่การแข่งขันที่มากขึ้นทั้งด้านการให้บริการและราคา ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของผู้เล่นทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าจึงมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนจากค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตที่ประมูลมาราคาแพงลิ่ว เงินลงทุนที่ต้องใช้เพิ่มเติม ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายการตลาด ทำให้ผู้เล่นทุกรายจำเป็นต้องรักษาฐานลูกค้าและหาช่องทางสร้างรายได้จากการขายบริการ data เพิ่มขึ้น ซึ่งในด้านนี้ผมไม่ได้เป็นห่วงมากนักเพราะการใช้บริการ data บนมือถือมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น exponential ตามแนวโน้ม Internet of Things ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่แล้ว ลองคิดเล่นๆก็ได้ว่าทุกวันนี้เราใช้เวลากับการเล่น Smart phone กี่ชั่วโมงใน 1 วัน ทุกวันนี้เราเล่นมือถือมากขึ้นเรื่อยๆใช่หรือไม่ และนี่ก็คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้เล่นทั้ง 4 รายยอมกัดฟันประมูลด้วยราคาที่สูงลิ่ว อุตสาหกรรมจะรอดหรือไม่รอดอยู่ที่การขยายตัวของรายได้จากการขายบริการ data บนมือถือเป็นสำคัญ

AIS
AIS เป็นผู้เล่นที่มีความเข้มแข็งมากที่สุดด้วยฐานลูกค้าที่มากที่สุด และกำไรสุทธิปีละกว่า 36000 ล้านบาท ทำให้ทุกคนมองว่า AIS เป็นผู้เล่นที่ได้เปรียบที่สุด แม้ว่าจะพลาดท่าเสียคลื่น 900 mHz ซึ่งมีลูกค้ากว่า 2 ล้านรายไปก็ตาม แต่ผมเชื่อว่า AIS สามารถย้ายลูกค้าบนคลื่น 900 mHz ไปบนคลื่น 1800 mHz และ 2100 mHz ที่มีอยู่ได้ไม่ยากนัก อย่างมากก็ออกโปรโมชั่นแจกมือถือ 4G เครื่องละ 2000-4000 บาทให้ลูกค้าฟรีๆ พร้อมโปรฯเล่น data ฟรีนิดหน่อย ใช้เงินรวมๆ ไม่ถึง 8000 ล้านบาท บวกกับลงทุนเสาโทรคมนาคมที่ต้องติดตั้งเพิ่มหน่อยเพราะคลื่นความถี่ที่สูงขึ้นต้องใช้จำนวนจุดส่งสัญญาณที่มากกว่าก็ไม่น่าเป็นประเด็นมากนักเพราะอยู่ในแผนลงทุนอยู่แล้ว ส่วนปัญหาเรื่องความกว้างของคลื่นว่าจะให้บริการลูกค้าได้ทั่วถึงหรือไม่นั้น ลองใช้ไปดูก่อนถ้าไม่พออีก 3 ปีค่อยไปประมูลเพิ่ม
ความเห็น AIS อาจมีผลกำไรที่เติบโตน้อยลงไปหน่อยแต่ในด้านความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยังไม่น่าจะมีปัญหา และน่าจะเป็นผู้ชนะในระยะยาวหากผู้บริโภคเริ่มนิยมการใช้ mobile data มากขึ้น

DTAC
DTAC แพ้ประมูลทุกใบอนุญาต ได้รับแรงกดดันมากที่สุดจากทั้งลูกค้าและนักลงทุน เนื่องจากสัมปทานบนคลื่น 850 mHz และ 1800 mHz จะต้องส่งคืนรัฐฯ ในปี 2018 และจะเหลือเพียงใบอนุญาต 1800 mHz ที่เพิ่งประมูลรอบก่อน ทำให้เกิดความกังวลว่าจะสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ผมคิดว่า DTAC อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเพราะลูกค้าจะเริ่มขาดความเชื่อมั่นและย้ายค่าย ไม่รวมถึงนักลงทุนที่เผ่นหนีไปกันก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ดีเม็ดเงินไม่ต้องทุ่มให้ไปกว่า 70,000 ล้านบาทสำหรับการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 mHz สามารถนำมาเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการบนความกว้างระดับ 15 mHz บนคลื่น 2100 mHz ได้อย่างไม่มีปัญหา DTAC อาจปรับกลยุทธ์มา Focus บนลูกค้าระดับบนมากขึ้น เพื่อไม่ให้การจราจรบนคลื่น 2100 หนาแน่นจนเกินไปจนลูกค้ากลุ่มดังกล่าวไม่พอใจ แต่แน่นอนว่า DTAC มีความเสี่ยงจะสูญเสียฐานลูกค้าไปบางส่วนโดยเฉพาะลูกค้าระดับล่าง แต่สถานะทางการเงินของ DTAC หลังการประมูลถือว่ายังมีความเสี่ยงน้อยกว่าคู่แข่งอีก 2 รายอย่าง JAS และ TRUE อยู่มาก โดยเฉพาะฐานกำไรสุทธิต่อปีประมาณ  1 หมื่นล้านบาท ต้องไม่ลืมว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของ DTAC ได้แก่ กลุ่ม Telenor มีการลงทุนในหลายประเทศคงจะประเมินความคุ้มค่าและความเสี่ยงด้านการลงทุนในหลายๆประเทศควบคู่กัน ถึงจะเสีย market share ในตลาดไทยไปแต่ตลาดของประเทศอื่นๆก็ยังเป็นทางเลือกให้ Telenor ได้เสมอ ถ้าถึงที่สุดแล้วสู้ในตลาดไทยไม่ได้จะขายหุ้น DTAC ทิ้งให้คนที่สนใจตอนนั้นก็ยังไม่เสียหายมากนัก
ความเห็น DTAC อาจเสียตำแหน่งผู้ให้บริการเบอร์ 2 ให้กับ TRUE แต่ยังสามารถ Focus บนผลกำไรและความเข็มแข้งทางการเงินเพื่อรอดูการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเพื่อรอโอกาสกลับเข้าไปเล่นใหม่อีกครั้ง ไม่แน่ว่ารอไปอีกซักปีถึงสองอาจมีมีผู้ชนะประมูลครั้งนี้มาเร่หา Partner เพิ่มทุนให้ก็ได้ใครจะรู้

TRUE
TRUE ชนะการประมูล 2 ใน 4 ใบย่อมคิดการใหญ่ จากปัจจุบันเป็นผู้เล่นอันดับ 3 อย่างน้อยๆก็ต้องตั้งเป้าหมายเป็นอันดับ2 หรืออาจแซง AIS เป็นอันดับหนึ่งเสียด้วยซ้ำ การเป็นผู้ให้บริการที่มีความกว้างของคลื่นมากที่สุด (AIS 30 mHz, DTAC 50 mHz, TRUE 55 mHz และ JAS 10 mHz) ย่อมเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างไรก็ดีสถานะทางการเงินของ TRUE หลังการประมูลจะอ่อนแอลงมาก และน่าจะมีความเสี่ยงจะต้องเพิ่มทุนในระยะเวลาอันสั้น แต่การมีกลุ่มผู้ถือหุ้นที่เข้มแข็งอย่างกลุ่ม CP และ China Moblie ย่อมสามารถเพิ่มทุนและระดมเงินกู้ได้อย่างไม่น่าจะมีปัญหา (China Mobile เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนที่มี Market Cap ประมาณ 10  ล้านล้านบาท ใหญ่เกือบเท่า market cap ของหุ้นทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวมกัน) กรรมมันจึงจะมาตกอยู่กับรายย่อย เพราะต้องเพิ่มทุนตามกันหน้ามืด เมื่อคิดถึงค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตที่ต้องจ่ายเพิ่มปีละ 7,300 ล้านบาท เทียบกับกำไรปีที่ผ่านมาที่ 1,400 ล้านบาทแล้ว TRUE คงไม่แคล้วต้องขาดทุนไปอีกหลายปีกว่าจะสร้างรายได้เติบโตมาคุ้มทุนใบอนุญาตและเงินลงทุนในอนาคต ส่วนเงินปันผลคงไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่มีมานานแล้วและคงจะไม่มีต่อไปอีกหลายปี แต่เถ้าแก่คงจะไม่ซีเรียสมากนักเพราะเงินเย็นและรอได้ยาว ที่อาจเซ็งหน่อยคืออุตสาห์กัดฟันประมูลมาได้ 2 ใบอนุญาตที่ราคาแพงลิ่วหมายจะตัดคู่แข่งให้เหลือแค่ 2 ราย AIS ดันมาถอดใจซะได้ ทำให้นอกจากคู่แข่งจะไม่ลดลงแล้วยังได้ JAS มาเพิ่มอีก
ความเห็น TRUE น่าจะสามารถแย่งตำแหน่งผู้ให้บริการอันดับ 2 จาก DTAC มาได้ แต่เรื่องสถานะการเงินที่น่าจะลำบาก และน่าจะต้องแบกผลขาดทุนไปอีกหลายปี

JAS
JAS น้องใหม่ไฟแรงประมูลได้มาแบบช็อคโลก ในบรรดาผู้ให้บริการทั้ง 4 ราย JAS นี่น่าจะเหนื่อยที่สุดเพราะเริ่มจาก 0 เลย ลูกค้าก็ไม่มี เสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมก็ไม่มีซักต้น ต้องลงทุนเครือข่ายสื่อสารให้ครอบคลุมวงกว้างโดยเร็วที่สุดเพราะใบอนุญาตที่ประมูลมาได้มีอายุแค่ 15 ปี ยิ่งลงทุนช้ายิ่งขาดทุน ฐานกำไรจากธุรกิจเดิมต่อปีก็ตกประมาณปีละ 3,000 ล้านเท่านั้น แต่ต้องมาจ่ายค่าตัดจำหน่ายปีละ 5,000 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมเงินลงทุนวางเครือข่ายเพิ่มเติมอีกนะ ต้องยกย่องความกล้าหาญของผู้บริหาร JAS มากๆ ที่เข้ามาประมูลด้วยราคานี้ ผมเชื่อว่า JAS คงจะมีแผนธุรกิจแบบเหนือเมฆอยู่ในใจแล้ว เห็นว่าจะแถลงแผนธุรกิจในวันที่ 21 ธันวาคม 2558 ด้านเงินลงทุนอาจจะหาผู้ร่วมทุนรายใหม่จากต่างประเทศ หรืออาจเลือกเป็นพันธมิตรกับผู้เล่นเดิมในตลาด ส่วนเสาส่งสัญญาณก็อาจเช่าเอาจากผู้เล่นปัจจุบันก็ได้ไม่เป็นไร ปัญหาใหญ่คงจะเป็นการสร้างฐานลูกค้าจาก 0 นี่แหละ ถ้าจะแย่งฐานลูกค้าจากรายเดิมก็อาจต้องเล่นสงครามราคาซึ่งจะยิ่งกดดันผลการดำเนินงานของ JAS เข้าไปอีก หากจะแปลงสภาพตัวเองเป็น Infrastructure ให้กับผู้ให้บริการรายอื่นๆผมก็คิดว่า JAS ชนะประมูลมาด้วยราคาที่สูงเกินกว่าจะมาเก็บค่าเช่าอย่างเดียว บอกตรงๆว่าผมยังนึกไม่ออกว่า JAS จะสามารถทำกำไรอย่างคุ้มค่าภายในระยะเวลา 15 ปีได้อย่างไร แน่นอนว่าผู้บริหารย่อมคิดดีแล้วที่ประมูลด้วยราคานี้ แต่ผมยังรู้สึกว่ามันมีความเสี่ยงมากจนเกินไป
ความเห็น JAS น่าจะเข้ามาเป็นผู้ให้บริการอันดับ 4 ซึ่งมีความอ่อนแอในสถานะทางการเงินมาที่สุด การเพิ่มทุนน่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะเพิ่มทุนด้วยวิธีไหน ถ้าหา Partner ที่แข็งแกร่งและมี Expertise มาร่วมด้วยไม่ได้ JAS น่าจะลำบากมากถึงมากที่สุด

TOT และ CAT
เหรียญย่อมต้องมีสองด้าน แม้ว่าการประมูล 4G ที่ผ่านไปจะส่งผลให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นเป็นปัจจัยลบต่อผู้ให้บริการ แต่ก็มีคนที่นอนยิ้มรับผลประโยชน์เช่นกัน ในที่นี้คือ TOT และ CAT ต้องไม่ลืมว่า TOT และ CAT เองก็เป็นเจ้าของคลื่นความถี่เช่นเดียวกัน โดย TOT เป็นเจ้าของคลื่นจำนวน 15 mHz บนคลื่นความถี่ 2100 mHz ไปจนถึงปี 2025 ซึ่งปัจจุบันทำสัญญา MVNO (Mobile Virtual Network Operator) กับ Partner หลายราย หาก AIS มีคลื่นไม่เพียงพอในการให้บริการลูกค้าก็อาจมาเป็น Partner กับ TOT ได้ ในขณะที่ CAT ยังเป็นเจ้าของคลื่น 30 mHz บนความถี่ 850 mHz ไปจนถึงปี 2025 ซึ่งปัจจุบันครึ่งหนึ่งให้ TRUE เช่าใช้อยู่ก็อาจจะเอาอีกครึ่งที่เหลือไปแบ่งให้ DTAC ใช้บ้างก็ได้ ซึ่งก็อาจเป็นอีกเหตุผลที่ DTAC ไม่ทุ่มถึงที่สุดที่จะเป็นผู้ชนะการประมูล ด้วยราคาประมูลใบอนุญาต 4G รอบที่ผ่านมาพุ่งขึ้นสูงลิ่ว TOT และ DTAC ย่อมสามารถเล่นตัวโก่งราคาได้มากขึ้นอีกอักโข ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในรูปแบบใดๆ เพราะสัมปทานของพวกเขาได้รับการ Mark to market เพิ่มขึ้นไปด้วยนั่นเอง
ความเห็น TOT และ CAT รอดักตีหัวคนหนีร้อนมาพึ่งเย็น แบบสบายๆไม่ต้องลงทุนเอง

DIF
DIF (Digital infrastructure fund หรือ TRUEIF เดิม) เองก็ได้ประโยชน์เต็มๆเช่นกัน เพราะการที่คลื่น 900 mHz ไปตกอยู่ในมือผู้เล่นรายใหม่อย่าง JAS ทำให้ JAS ต้องดิ้นรนวางเครือข่ายสื่อสารโดยเร็ว ซึ่งวิธีที่เร็วที่สุดคือขอแชร์ Infrastructure กับคนที่มีอยู่แล้วซึ่งได้แก่ DIF ซึ่งเป็นเจ้าของเสาโทรคมนาคมทื่ซื้อมาจาก TRUE รวมไปถึง TOT ที่รอรับโอนเสาโทรคมนาคมมาจาก AIS ทั้งสองรายนี้นอนลูบปากเรียกค่าเช่าจาก JAS แน่นอน เพราะการจะไปหาพื้นที่ตั้งเสาใหม่ต้องใช้เวลา และใช้เงินลงทุนจำนวนมาก JAS ไม่ได้มีเวลารอได้ขนาดนั้น ในขณะเดียวกัน AIS และ DTAC ซึ่งสูญเสียและกำลังจะสูญเสียคลื่น 850 mHz และ 900 mHz ไปก็จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนเสาโทรคมนาคมเพื่อรองรับการให้บริการบนคลื่นความถี่ที่สูงขึ้น ก็อาจพิจารณาทางเลือกในการเช่าเสาจาก DIF หรือ TOT เพื่อความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายเช่นกัน ผมเชื่อว่า TOT คงจะรีบเคลียร์ข้อพิพาทเรื่องเสาและตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเสาโทรคมนาคมของตัวเองเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันเสาโทรคมคมยัง Utilize ได้ไม่ถึงครึ่งนึงของ Capacity โดยเฉลี่ย
ความเห็น DIF มีโอกาสได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นจากให้ AIS DTAC แล JAS เช่าใช้บริการเพิ่มเติม แต่ก็มีความเสี่ยงจากภาระหนี้สินของ TRUE ที่สูดขึ้นมากอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อการจ่ายค่าเช่าตามสัญญาเช่าระยะยาวที่มีอยู่กับ TRUE แต่ถ้าเชื่อว่า TRUE ไม่ Default ปัญหานี้ก็คงไม่หนักหนาเกินไปนัก

กล่าวโดยสรุปผู้เล่นเดิมรวมถึงผู้เล่นใหม่ลำบากกันถ้วนหน้าจากต้นทุนการให้บริการที่สูงขึ้น และการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น คาดว่าจะได้เห็นการเพิ่มทุนและความร่วมมือกันในรูปแบบต่างๆเพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็ดีกับประเทศไทยโดยรวมทั้งในแง่ผู้บริโภคที่จะได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ในแง่รัฐบาลที่ได้เงินไปลงทุนเพิ่มเติมกว่า 230,000 ล้านบาท และในแง่ทรัพยากรรวมของประเทศที่ไม่ต้องเสียไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มันซ้ำซ้อนกันมานานและอาจดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติเข้ามาเพิ่มเติมด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมายาวเหยียดนี้ก็เป็นความเห็นส่วนตัวของผมเอง เขียนขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการลงทุน ไม่ได้เขียนขึ้นหรืออ้างอิงองค์กรใดๆ และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำแนะนำซื้อขายหลักทรัพย์ใดๆทั้งสิ้น ผู้อ่านโปรดใช้ดุลพินิจในการอ่านและตัดสินใจลงทุน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น