วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ตรรกะแบบบัญญัติไตรยางศ์





ในยุคสมัยที่การลงทุนในหุ้นไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผลมากนักก็สามารถทำกำไรจากตลาดหุ้นได้ง่ายๆ เช่นตลาดขาขึ้นในปัจจุบัน ก็คงเป็นธรรมชาติที่นักลงทุนจะเริ่มผ่อนคลายความระมัดระวังในการลงทุนลง เพราะจับหุ้นตัวไหน ขายเมื่อไรก็ได้กำไรหมดหากระมัดระวังมากเกินไปอาจไม่ทันการณ์ไล่หุ้นกันไม่ทันไปซะอีก ผมเริ่มสังเกตเห็นความหย่อนยานในความคิดเชิงวิเคราะห์ของนักลงทุนบางท่าน หนึ่งในนั้นคือการใช้แนวคิดเชิงวิเคราะห์ที่ใช้หลักการง่ายๆ ที่เรียกกันว่า บัญญัติไตรยางศ์ในการประเมินอนาคตของกิจการ (Linear projection)

ยกตัวอย่างเช่น หากมีบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งประกาศขยายกำลังการผลิตอีก 100% นักลงทุนบางส่วนจะคิดง่ายๆว่า ถ้าขยายกำลังการผลิตเท่าตัว รายได้ของบริษัทก็ต้องเพิ่มขึ้นเท่าตัวทันทีที่การขยายกำลังการผลิตเสร็จสิ้น กำไรขั้นต้นของบริษัทก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ค่าใช้จ่ายการขายและบริหารก็คงเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกับยอดขายที่เพิ่มขึ้น ถ้ากู้เงินมาลงทุนเพิ่มก็ต้องมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกนิด เสียภาษีเพิ่มอีกหน่อย แต่สุดท้ายแล้วกำไรต่อหุ้นก็จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเท่าตัว เพราะผลจากการเพิ่มของยอดขาย และ Leverage effect จากการกู้เงิน พอปีต่อๆไปก็ขยายกำลังการผลิตได้อีก แหม่...อนาคตธุรกิจนี้ช่างสวยหรูจะช้าอยู่ไย รีบซื้อหุ้นเลยดีกว่า

ชีวิตมันง่ายดายขนาดนั้นเชียวหรือ? นักลงทุนท่านนั้นมองข้ามอะไรไปหรือเปล่า

ความจริงแล้วสิ่งที่ผมกล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นกรณีที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ของการขยายกิจการ ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์จุลภาคก็ได้เคยระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่ากำไรสุทธิทุกบาทที่เพิ่มขึ้นนั้นมันจะยิ่งยากขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งกำไรปีก่อนเคยเติบโตมากเท่าไรกำไรปีต่อๆไปก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก ทุกคนรู้ดี แต่ทุกก็อาจมองข้ามมันไป

การขยายกำลังการผลิตไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะสามารถผลิตได้เต็มที่ตั้งแต่วันแรกที่การขยายเสร็จสิ้น การผลิตในช่วงแรกจะประสบกับปัญหามากมาย เช่น เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ไม่เข้าที่เข้าทาง คนงานขาดประสบการณ์ การบริหารจัดการยังสับสน กว่าที่การผลิตจะได้เต็มประสิทธิภาพก็ต้องกินเวลาพอสมควร ส่วนมากประมาณ 3-6 เดือนนับจากวันเริ่มเดินเครื่องจักร การขยายกำลังการผลิตจึงจะเสร็จสมบูรณ์

ยอดขายจะไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เท่าตัว ถ้าสินค้าที่ผลิตออกมาเพิ่มไม่มีผู้ซื้อมัน การขยายกำลังการผลิตไม่ได้หมายความว่าผู้ซื้อสินค้าจะต้องอยากซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นหากบริษัทคู่แข่งก็คิดเหมือนกันขยายกำลังการผลิตเหมือนกัน ก็อาจทำให้สินค้าล้นตลาดได้และทำให้สินค้าที่บริษัทผลิตมาเพิ่มขายไม่หมดได้

ต้นทุนการผลิตก็จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตราเร่ง ยิ่งผลิตมากขึ้นความต้องการวัตถุดิบ แรงงานก็จะยิ่งสูงขึ้น คู่แข่งและแรงงานก็จะมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น ทำให้กำไรขั้นต้นก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่ายอดขาย ถ้าบริษัทคู่แข่งเองก็คิดเหมือนกันกำไรขั้นต้นก็ยิ่งเพิ่มขึ้นช้าลงไปอีก

พอผลิตสินค้ามากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารก็จะยิ่งสูงขึ้นในอัตราที่มากขึ้น เพราะบริษัทต้องเสนอโปรโมชั่นเพื่อจูงใจผู้ซื้อ เลือกซื้อของที่บริษัทผลิตมามากขึ้น ดารา นักร้อง นักแสดงก็ดูจะเริ่มมีความจำเป็นในการจัดหามาเพื่อช่วยในการขายสินค้า
ครั้นไปดูด้านการจัดหาเงินทุนก็จะยิ่งยากขึ้น ไม่มีสถาบันการเงินไหนหรอกที่อยากจะเพิ่มวงเงินให้กับบริษัทที่มี D/E ratio สูงขึ้นทุกปีๆ หรือถ้ามีดอกเบี้ยก็จะต้องสูงขึ้นเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น บริษัทอาจถูกบังคับให้เพิ่มทุนในที่สุดหาก D/E ratio พุ่งขึ้นสูงจนเจ้าหนี้เริ่มกังวล

สุดท้ายแล้วมันยากเอามากๆที่การขยายกำลังการผลิตเท่าตัวจะทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นเท่าตัว นักลงทุนท่านนั้นได้คิดถึงประเด็นต่างๆเหล่านี้หรือไม่?

ความจริงแล้วการวิเคราะห์อนาคตของการขยายธุรกิจต้องวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนทั้งในระดับของบริษัทเอง และระดับอุตสาหกรรม คำถามเหล่านี้ควรจะโผล่ขึ้นมาในความคิดของนักลงทุนในขณะที่วิเคราะห์
  • การขยายกำลังการผลิตเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ Test Run นานแค่ไหน ของเสียจากการผลิตจะคิดเป็นสัดส่วนเท่าไรของสินค้าทั้งหมด
  • กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมรวมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร
  • ความต้องการของผู้ซื้อโดยรวมเพิ่มขึ้นมากเพียงพอที่จะรองรับการผลิตที่เพิ่มขึ้นโดยรวมของอุตสาหกรรมหรือไม่
  • วัถตุดิบและแรงงานมีมากเพียงพอที่จะให้บริษัทจัดหามาด้วยต้นทุนเดิมไหม
  • ต้นทุนการจัดทำโปรโมชั่น แคมเปญ โฆษณาต่างๆของทั้งประเทศมีการปรับตัวขึ้นเท่าไร เพราะสื่อต่างๆไม่ได้มีลูกค้าแค่กลุ่มธุรกิจเดียว เขาอาจเลือกจัดสรรให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นก็ได้ถ้าได้เงินดีกว่า
  • สถาบันการเงินต่างๆมีความผ่อนคลายนโยบายการให้สินเชื่อมาน้อยแค่ไหน ช่องทางอื่นๆในการระดมทุน เช่น การออกหุ้นกู้ หุ้นเพิ่มทุน วอร์แรนต์ นั้นเอื้อประโยชน์แก่การระดมทุนมากน้อยเพียงใด
  • อัตราภาษีมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อบริษัทขยายไปยังธุรกิจใหม่ๆที่ไม่เคยทำมาก่อน
การวิเคราะห์การลงทุนแบบหยาบๆนั้นอาจสามารถทำกำไรให้แก่นักลงทุนได้ในช่วงตลาดขาขึ้นที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองข้ามรายละเอียดปลีกย่อย และไล่ซื้อหุ้นที่กำลังอยู่ในกระแส แต่การจะอยู่รอดในตลาดหุ้นในระยะยาวที่ต้องผ่านวัฎจักรขาขึ้นและลงหลายๆรอบนั้นจำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์การลงทุนอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจและการลงทุนได้แม่นยำและรวดเร็วกว่านักลงทุนทั่วๆไป

ตลาดขึ้นมาเซียนก็ปรากฏ พอตลาดหดเซียนก็หมดไปเป็นคำกล่าวที่เหน็บแนมและเตือนสตินักลงทุนได้ดียิ่ง เซียนหุ้นที่แท้จริงจะต้องอยู่รอดได้ในหลายวัฎจักร และที่สำคัญเซียนหุ้นจริงๆนี่มีอยู่ไม่มากหรอกครับ เวลาผ่านไป 5ปี 10 ปี เวลาจะให้คำตอบเราเองว่าใครบ้างที่นับได้ว่าเป็นเซียนตัวจริง

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

บทเรียนจาก Black Monday


มารำลึกความหลังเหตุการณ์ "Black Monday" วันประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นโลกกันเถอะ ไม่รู้ว่าใครเกิดทันกันบ้าง (ผมเกิดทันแต่คงยังจำอะไรไม่ค่อยได้ 555+)

วันนี้ (19 ต.ค.) เมื่อ 25 ปีก่อน ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงกระหน่ำเป็นประวัติการณ์ วันเดียวดัชนี Dow Jones
 ตกลงไปถึง 23% หุ้นบางตัวแตะระดับ $0.01 ต่อหุ้น (ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้) สาเหตุของเหตุการณ์ก็โทษกันไปต่างๆนาๆ เศรษฐกิจชะลอตัว การเก็บภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น รัสเซียจะเบี้ยวหนี้ สงครามนิวเคลียร์ โลกกำลังจะแตก บลาๆๆ

แต่สาเหตุจริงๆผมว่ามันมากจากการที่นักลงทุนในตลาดพยายามจะขายหุ้นทั้งตลาดพร้อมๆ กัน โดยที่แรงซื้อไม่เพียงพอจะรองรับคำสั่งขาย เพราะสมัยนั้น Algorithm Trade เป็นอะไรที่เท่ห์เอามากๆ นักลงทุนสถาบันใน Wall street สมัยนั้นคิดว่าตัวเองมีความได้เปรียบรายย่อยที่สามารถใช้ Computer ที่ราคาแพงๆ (ในสมัยนั้น) จึงใช้เทคโนโลยีทีสูงล้ำในการปล่อยให้ Computer ตัดสินใจซื้อขายแทนคน ซึ่งน่าเศร้าที่ Algorithm ที่ว่าไม่ได้ดีเด่นอะไรไปกว่า Momentum Trading เลย พอตลาดหุ้นเริ่มตกได้ซักพักก็ไป Trigger Stop loss ของ Algorithm บังคับให้ Computer ส่งคำสั่งขาย และก็ทำให้หุ้นตกไป Trigger Stop loss ของอีก Algorithm หนึ่ง (อาจจะเป็นของตัวเองหรือของที่อื่น) ให้ส่งคำสั่ง Cut loss ออกมาอีก เกิดเป็นปฎิกริยาลูกโซ่นี้ไปเรื่อยๆ ทำให้ตลาดหุ้นดิ่งนรกในเวลาแค่ 1 วัน Value investor ที่พยายามทำเท่ห์ไปรับหุ้นในวันนั้นก็บาดเจ็บหนักมาก ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ได้ศึกษาพื้นฐานของหุ้นมาอย่างดีก่อนการเข้าไปช้อนซื้อหุ้น แต่เป็นเพราะตลาดเองต่างหากที่ไม่ได้ใช้เหตุผลในการขายหุ้น (และก็ชนะ)

หลังจากเหตุการณ์วันนี้ตลาดหุ้นนิวยอร์กประกาศยุติการส่งคำสั่งซื้อขายด้วย Computer โดยที่ไม่ผ่านการคัดกรองของโบรกเกอร์ เพื่อให้คำสั่งที่ส่งผ่านตลาดมีสติสัมปชัญญยะของมนุษย์ในการแยกแยะถูกผิดก่อนที่จะถูกส่งออกไป ป้องการการตกของหุ้นแบบไร้เหตุผลอันสมควรเช่นวันที่ 19 ต.ค. 1987

25 ปีผ่านไป ผู้คนหลงลืมเหตุการณ์เหล่านี้ไปหมดแล้ว ปัจจุบันการส่งคำสั่งด้วย Algorithm ผ่านระบบ Computer กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะ Hedge Fund ที่เรียกตัวเองว่า High frequency trade หรือ Quantitative trade ตลาดหลักทรัพย์เองก็มั่นใจในระบบการจัดการคำสั่งซื้อขายมากขึ้นว่าจะรับมือกับสถานการณ์วิกฤติได้ เพราะมีเครื่องมือทั้ง Circuit break หรือ Reverse Trade สำหรับ Order ที่น่าสงสัย ฯลฯ

เราคงต้องมาดูกันวันเราจะได้เรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมาแล้วหรือไม่ หรือจะเดินเข้าสู่ความผิดพลาดซ้ำรอยเดิม

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความพยายามกับความสำเร็จ



แรงงงงงงงงงส์..... แต่จริง

ผมเชื่อเสมอว่าคนเราจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัย 3 ปัจจัย
1. ปัญญา หมายถึง ความรู้ที่ถูกต้องที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้จริง
2. โอกาส หมายถึง ช่องทางหรือทางเลือกที่จะทำให้ประสบความสำเร็จง่ายขึ้น

3. มานะ หมายถึง ความพยายามที่จะทำตามความเชื่อของตนอย่างไม่ย่อท้อ

ผมเรียงให้ตามลำดับความสำคัญเรียบร้อย

ปัญญาสำคัญที่สุด เพราะจะเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางของการดำเนินชีวิตให้ไปในทางที่ถูก

โอกาสสำคัญรองลงมา เพราะจะทำให้ผู้มีปัญญาสามารถใช้ปัญญาของตนสร้างความสำเร็จให้ตนเองได้โดยง่าย

มานะสำคัญน้อยที่สุด เพราะมันเป็นเพียงแค่ตัวเร่งที่จะทำให้คุณเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แต่ไม่จำเป็นว่าทางที่คุณกำลังวิ่งไปนั้นมันนำไปสู่ความสำเร็จหรือล้มเหลว

หากคุณมีปัญญา แต่ขาดโอกาส คุณยังสามารถประสบความสำเร็จได้ แต่ความสำเร็จนั้นจะยากเย็นกว่าคนที่มีทั้งปัญญาและโอกาส

หากคุณมีปัญญา แต่ขาดมานะ คุณก็ยังสามารถประสบความสำเร็จได้ แต่จะความสำเร็จของคุณก็ต้องใช้เวลานานกว่าคนอื่นๆที่มีปัญญาเหมือนๆกันคุณแต่มีมานะมากกว่า

หากคุณขาดปัญญา ถึงมีโอกาสคุณก็ไขว่คว้าไว้ไม่ได้

หากคุณขาดปัญญา ยิ่งมีมานะจะยิ่งเป็นผลเสียกับคุณมากขึ้นเพราะมันจะทำให้คุณวิ่งเข้าหาความวิบัติได้เร็วขึ้น

ผมยังไม่เห็นด้วย 100% กับข้อความในรูปภาพเพราะความจริงทาสที่มีปัญญาและมานะ ถึงขาดโอกาสก็สามารถประสบความสำเร็จได้ เช่น เบนเฮอร์ ที่เคยเป็นเศรษฐีตกยาก สามารถสร้างตัวขึ้นมาจากทาส กลับมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่ง และเป็นผู้สนับสนุนหลักของศาสนาคริสต์ในยุคพระเยซูได้ เพียงแต่เส้นทางกลับมาเป็นเศรษฐีของเขาก็เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะเขาขาดโอกาสที่ดีนั่นเอง

ผมเชื่อเสมอว่าความพยายามมีค่าน้อยมากในโลกของตลาดทุน และไม่สำคัญอะไรเลยกับการลงทุน ความจริงมานะที่ขาดปัญญาจะยิ่งทำให้คุณพินาศได้เร็วขึ้น ผมรู้จักนักลงทุนหลายคนที่ใช้มานะเป็นที่ตั้ง พยายามลงทุนด้วยวิธีเดิมๆที่ตนเชื่อมั่น ถึงแม้หลักฐานจะพิสูจน์อย่างชัดแจ้งว่าวิธีที่ตนเองใช้มันไม่เหมาะกับตนเอง หรือไม่เหมาะกับสภาวะตลาด แต่ก็ยังมานะที่จะทำแบบนั้นต่อไปโดยไม่ยอมเปลี่ยนวิธีเพียงเพื่อจะพิสูจน์ว่าวิธีของตนเองถูก สุดท้ายแม้เขาเหล่านั้นจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงจนต้องออกจากตลาดไป แต่เขาเหล่านั้นก็ไม่ยอมรับอยู่ดีว่าสิ่งที่คิดมามันไม่เหมาะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก หากพวกเขาเพียงแต่จะหยุดและทบทวนตัวเองเท่านั้น

ผมคิดว่าก่อนที่เราจะออกเดินทาง เราควรต้องใช้ปัญญาให้ถี่ถ้วนก่อนว่าจะหันหน้าไปทางไหน พร้อมทั้งมองหาโอกาสให้รอบคอบก่อนว่ามีเส้นทางใดบ้างที่จะไปถึงที่หมายได้เร็วที่สุด แล้วจึงค่อยออกวิ่ง เพราะหากคุณไม่แน่ใจว่าหันหน้าถูกด้านหรือไม่ ผมแนะนำว่าให้คุณคลานไปจะดีกว่าเผื่อว่าระหว่างที่คลาน คุณจะได้มีเวลาทบทวนตัวเองเพื่อกลับตัวก่อนที่คุณจะเข้าป่าไปในที่สุด

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทางเลือกของการลงทุน


“ ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี ”
不管白猫黑猫,会抓老鼠就是好猫
(ปู้ก่วนไป๋เมาเฮยเมา, ฮุ่ยจัวเหลาสู่จิ้วซื่อห่าวเมา)

ช่วงกำลังพักผ่อนยาว ผมบังเอิญไปสดุดตาวลีอมตะของอดีตประธานธิบดี เติ้ง เสี่ยว ผิง วลีอมตะนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายสถานการณ์ แม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนก็เช่นกัน


ผมลองเคยถามนักลงทุนหลายๆท่าน ว่าเป็นนักลงทุนประเภทไหน เกินกว่า 60% ตอบว่า Value investor ทั้งๆที่ความเป็นจริงวิธีการที่เขาเหล่านั้นลงทุนมันช่างห่างไกลจากสิ่งที่ตำราบอกว่า เป็นลักษณะของ VI เป็นอย่างมาก บางคนเทรดหุ้นทุกวัน ไล่หุ้นร้อนมั่ง ทำตัวเป็นเจ้าภาพมั่ง ซื้อหุ้นตามโพยบ้าง บางคนซื้อหุ้นที่ตัวเองยังไม่รู้ว่าทำอะไรก็ยังอุตส่าห์ตอบว่า VI

ผมลองถามน้องๆนักศึกษาหลายคนว่า โตขึ้นอยากเป็นนักลงทุนเป็นไหน มากกว่า 75% อยากเป็น Value Investor VI อีกแล้ว!!! ทั้งๆที่พื้นเพ ลักษณะอุปนิสัย ไม่ได้เข้ากับการลงทุนสไตล์ VI เลยแม้แต่น้อย พอผมถามคนที่อยากเป็น VI ว่ารู้หรือไม่ว่าโลกนี้มีสไตล์การลงทุนอย่างอื่นอีก 60% ตอบว่า "รู้" แต่ก็ยังเลือก VI

ผมมาลองวิเคราะห์ดูว่าเหตุใดคนส่วนใหญ่จึงชอบตอบว่าตัวเองเป็น VI หรืออยากจะเป็น VI คงเป็นเพราะ VI นี้เป็นแนวทางการลงทุนที่ได้รับยอมรับอย่างกว้างขว้างที่สุุด สอดคล้องกับทฤษฎีทาง Finance มากที่สุด และมี Idol ของนักลงทุนประเภทนี้ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง การเป็น VI นับได้ว่า "เท่ห์" กว่าอย่างมากมาย เด็กๆทั้งหลายโตขึ้นมาจึงอยากเป็น VI กันหมด

แต่การลงทุนในสไตล์อื่นๆ เช่น Growth Momentum Technical Quantative ฯลฯ นั้นดูขาดความน่าเชื่อ ไม่มีตำรารองรับ มีหนังสือน้อยเล่มที่เขียนถึงการลงุุทุนสไลต์ต่างๆเหล่านั้น จึงหาคนที่เข้าใจลึกซึ้งได้น้อย การประกาศตนเป็นนักลงทุนแนวเทคนิค ตามกระแส หรือ Quant จึงมักจะถูกประเมินค่าว่า เป็นแมงเม่าบ้าง ปั่นหุ้นบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง คนส่วนใหญ่จึงมักลังเลที่จะตอบในลักษณะที่ว่า "ใช่ครับ ผมเป็นนักลงทุนประเภทชอบแห่ตาม"

ในความเห็นของผม สไตล์การลงทุนต่างๆมีลักษณะเด่น และข้อด้อยของตัวมันเอง ซึ่งมันจะเหมาะสมกับอุปนิสัย และพื้นเพของนักลงทุนที่แตกต่างกันไป การพยายามมุ่งเน้นจะเป็นแต่ VI เพื่อความเท่ห์ จึงทำให้นักลงทุนบางท่านเลือกที่จะพัฒนาทักษะการลงทุนที่ไม่เหมากับตัวเอง และมักส่งผลให้เกิดความล้มเหลวในที่สุด

"ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี" วลีอมตะของอดีต ปธน. เติ้ง สามารถนำมาประยุกต์ได้ว่า คุณจะลงทุนด้วยวิธีไหนก็ได้ ขอให้ประสบความสำเร็จเป็นพอ จะใช้ Technical Fund flow หรือโหราศาสารย์ก็ไม่ว่ากัน การเป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ไม่จำเป็นต้อง "เท่ห์" ตามความเห็นของคนทั่วไปก็ได้ขอเพียงลงทุนให้ได้กำไรตามเป้าหมายได้ก็ถือเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งนักลงทุนยิ่งเก่ง ยิ่งถ่อมตน และไม่แสดงตน

ผมรู้จักนักลงทุนที่ใช้วิธีการอื่นๆนอกจาก VI แล้วประสบความสำเร็จอยู่มากมาย จึงสามารถยืนยันได้ว่าการลงทุนทุกรูปแบบนั้นสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้จริง เพียงแต่คนเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นทีรู้จักเป็นการทั่วไปเท่านั้น

ถ้านักลงทุนท่านได้ลองพยายามเป็น VI แล้วไม่ประสบความสำเร็จ นั่นอาจหมายความว่าพื้นเพ หรือนิสัยของท่านไม่เหมาะที่จะเป็น VI ความพยายามดึงดันจะเป็น VI อาจทำให้พอร์ตของท่านพินาศได้ ผมแนะนำให้ท่านลองศึกษาวิธีการลงทุนแบบอื่นๆบ้าง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะ "ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี" ^_^

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

Moneyball เกมล้มยักษ์ บทเรียนการลงทุนผ่านสนามเบสบอล (1)



ก่อนอื่นของบอกผู้อ่านไว้ก่อนเลยว่าถ้าใครยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ ผมแนะนำให้เลิกอ่านบทความของผมเดี๋ยวนี้ รีบไปหา DVD หนังเรื่องนี้มาดูแล้วค่อยกลับมาอ่านบทความของผมต่อ ถ้าคุณยังไม่อยากเสียอรรถรสจากดูหนังที่ผมคิดว่ามีสาระเกี่ยวกับการลงทุนมาก ที่สุดเท่าที่เคยดูมา ถ้าท่านเคยดูแล้ว หรือคิดว่าจะไม่ดูแน่ๆก็เชิญอ่านต่อไปได้ครับ

Moneyball เป็นหนังที่สร้างมาจากนิยายเรื่อง Moneyball: The Art of Winning an Unfair Game ซึ่งเขียนเกี่ยวกับชีวประวัติจริงๆของ Billy Beane ผู้จัดการทั่วไปของทีมเบสบอล Oakland Athletics ในช่วงปี 2002 หลังจากทีม Athletics พ่ายแพ้แก่ New York Yankees ในปี 2001 Beane ต้องทนเห็นซุปเปอร์สตาร์ในทีมทยอยเดินจากทีมไปอยู่กับทีมที่เงินหนากว่า ด้วยงบประมาณที่มีอยู่จำกัด การจะหาผู้เล่นระดับท๊อปมาแทนที่ก็เป็นไปไม่ได้ แค่การรักษาผู้เล่นเก่าก็ยากแล้ว Beane ไม่สามารถเล่นตามเกมของทีมเงินหนาอย่าง Yankees ได้จึงจำเป็นต้องหาวิธีการทำทีมใหม่เพื่อสู้กับทีมที่มีงบประมาณมากกว่า 3 เท่า (41 ล้านเหรียญกับ 125 ล้านเหรียญ)

Peter Brand นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มจบใหม่เสนอวิธีการจัดหาผู้เล่นที่เหมาะสมเข้าทีมในรูป แบบที่วงการเบสบอลไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเสนอให้มองข้ามรูปลักษณ์ที่เห็นอยู่ภายนอก ด้วยการนำเอาสถิติของผู้เล่นแต่ละคนในด้านต่างๆมาพิจารณา แล้วเลือกผู้เล่นจากสิ่งที่ทีมอยากได้จากเขาเหล่านั้นจริงๆ

วิธีการทั่วๆไปที่แมวมองเบสบอลสมัยนั้นใช้จะเป็นการพิจารณาแบบผิวเผิน เช่น ดูจากการทำแต้ม สถิติการขว้าง หรือสถิติการตี รวมถึงรูปลักษณ์ภายนอก เช่น ความเป็นดาราดึงดูดแฟนเบสบอลเข้าสนาม ดูหน่วยก้าน หรือกระทั่งดูแฟน (ถ้านักเบสบอลคนไหนแฟนสวย แสดงว่ามีความมั่นใจสูงถึงกล้าจีบคนสวย) ผลก็คือแมวมองเหล่านี้ก็มันจะมาสนใจนักเบสบอลคนเดียวกัน ส่งผลให้ค่าตัวของนักเบสบอลเหล่านั้นพุ่งสูงเกินจริง ทั้งๆที่ทีมอาจไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่า นี้ก็ได้ ทีมเบสบอลมี Pitcher ขว้างได้ครั้งละคน มี Butter ตีได้ครั้งละคน คนทำแต้มได้ไม่ใช้คนตีโดน หรือขว้างดี แต่เป็นคนที่ทำเบสได้มากที่สุดต่างหาก

Brand นำเอาสถิติต่างๆมาพิจารณาอย่างละเอียด แล้วเลือกผู้เล่นที่ทำได้ดีที่สุดในสิ่งที่แผนการเล่นของทีมต้องการ เขาไม่ได้เลือกนักเบสบอลที่ทำแต้มได้มากที่สุด แต่เขาเลือกคนที่ทำเบสได้มากที่สุด เขาไม่ได้เลือกคนที่ตีแม่นที่สุด แต่เขาเลือกคนที่เอาฟาวล์จากคู่แข่งได้มากที่สุด เขาไม่ได้เลือกคนที่ขว้างแรงที่สุด แต่เขาเลือกคนที่ท่าขว้างประหลาดที่สุดจนคู่แข่งจับทางไม่ได้ ทำให้ทีมของ Beane เต็มไปด้วยนักเบสบอลที่เข้าข่าย “ประหลาด” แต่ค่าตัวถูก เช่น แก่เกินแกง หัวเข่าไม่สมบูรณ์ หรืออ้วนลงพุง เป็นต้น ในจำนวนนี้บางคนต้นสังกัดเดิมถึงกับยอมออกค่าเหนื่อยช่วยเพื่อผลักไสให้ไป พ้นๆทีมเสียด้วยซ้ำไป

ในช่วงต้นฤดูกาล 2002 ผลงานของทีมประหลาดของ Beane ย่ำแย่ถึงขีดสุด พ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องลงไปกองบ๊วยของ Major League นั่นเพราะโค้ชของทีมไม่ได้ศรัทธาในแนวทางของ Beane จึงยังจัดผู้เล่นลงสนามแบบเดิมๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับผู้เล่นที่ถูกดึงเข้ามาเพื่อให้เล่นตามแผนการเล่นของ Beane และ Beane เองก็ไม่สามารถก้าวก่ายอำนาจของโค้ชในการจัดทีมลงสนามได้ จนในที่สุด Beane ตัดสินใจล้างบางผู้เล่นในสไตล์ “แบบดั้งเดิม” เขาทำกระทั่งปล่อย Carlos Pena ซึ่งเป็นซุปเปอร์สตาร์คนสุดท้ายของทีมออกไปเพื่อกดดันให้โค้ชจัดทีมลงสนาม ตามปรัชญาของเขา

มาถึงจุดนี้ทุกคนมองว่า Beane บ้าไปแล้ว และนั่งนับวันรอว่าเมื่อไร Beane จะโดนไล่ออกซะที แต่ผลกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เหล่าผู้เล่นที่โค้ชถูกบังคับให้จัดลงสนามกลับทำผลงานได้ตามแผนของ Beane แม้รูปแบบการเล่นจะไม่สวยงามแต่ทรงประสิทธิภาพ จนกระทั่ง Athletics ทำสถิติชนะ 20 เกม ต่อเนื่องกันและเป็นสถิติของ Major league ในสมัยนั้น

แม้ว่าสุดท้ายแล้ว Athletics จะไปไม่ถึงฝันไปจอดอยู่แค่รอบ Knock out (Post season) แต่แนวทางการทำทีมของ Beane ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการเบสบอล จนกระทั่ง John William Henry II แห่ง Fenway Group (แฟนบอลหงส์แดงน่าจะรู้จักดี เพราะเป็นเจ้าของสโมสรลิเวอร์พูลในปัจจุบัน) เสนอให้ Beane มาทำทีม Boston Red Sox ด้วยค่าจ้าง 12.5 ล้านเหรียญต่อปี ซึ่งสูงที่สุดในวงการเบสบอลสมัยนั้น แต่ Beane ก็ปฎิเสธข้อเสนอของ Red sox และเป็นผู้จัดการทีม Athletics ต่อไปอย่างน่ายกย่อง

เล่ามาถึงตอนนี้แล้ว Moneyball มันเกี่ยวกับการลงทุนตรงไหน Moneyball สะท้อนความจริงหลายประการในตลาดทุนผ่านมุมมองของกีฬาเบสบอล

Moneyball แนะให้เรามองข้ามรูปลักษณ์ภายนอก และมองให้เห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงของมัน (Valuation) หุ้นบางตัวอาจขึ้นได้เพราะออกสื่อบ่อย โฆษณาเยอะ หรือมีนักวิเคราะห์พูดถึงมาก แต่มันก็ทำให้ราคาหุ้นเหล่านี้สูงเกินจริงตลอดเวลา (Overvalue) แม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะสามารถเติบโตได้จริงตามคาดการณ์แต่ราคาหุ้นที่พุ่ง ขึ้นไปสูงมากก็จะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่น้อยลง (กำไรบริษัทจะโตไม่ทันราคาหุ้นทันซะที) หุ้นพวกนี้ P/E ก็จะสูงตลอดเวลา ซึ่งคนได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จาก PR เหล่านี้ก็คือเจ้าของกิจการนั่นเอง นักลงทุนทั่วไปที่เข้าซื้อหุ้นหลังจากที่ตลาดรู้จักกันแล้วอาจไม่ได้กำไร อะไรมากนักเพราะกว่าจะมาซื้อเอาก็ตอนที่คนพูดถึงกันทั่วแล้วราคาก็วิ่งขึ้น ไปเยอะแล้ว และวันใดหากบริษัทไม่สามารถรักษาการเติบโตของกำไรให้อยู่ในระดับสูงเช่นนั้น ได้ต่อไป (ซึ่งวันนั้นจะต้องมาถึงแน่ๆ เพระาไม่มีธุรกิจใดที่จะเติบโตในอัตราสูงๆได้ตลอดไป) ปาร์ตี้ก็จะเลิกใครที่ลุกจากโต๊ะช้าสุดก็ต้องจ่ายแทนทุกคนที่ลุกไปก่อน เช่นเดียวกับ นักกีฬาเบสบอลที่เป็นที่สนใจของพวกแมวมองด้วยวิธีการมองแบบผิวเผิน ค่าตัวที่แพงไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับทีมที่ซื้อ เพราะเล่นดียังไงก็ไม่คุ้มค่าตัวอยู่ดี และที่สุดเมื่อสัญญาหมดลงเงินลงทุนทั้งหมดที่ใส่ใหันักเบสบอลคนนี้ก็เหลือ แค่ 0

แท้จริงแล้วหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีไม่จำเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน อาจเป็นหุ้นที่ไม่มีใครสนใจเลยก็ได้ แต่หากเราหมั่นแสวงหาหุ้นใหม่ๆ ไม่รังเกียจที่จะต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองโดยไม่พึ่ง Analyst เราจะได้หุ้นชั้นดีที่ไม่มีใครรู้จักที่สามารถทำกำไรให้เราได้มหาศาล ผมเคยวิเคราะห์หุ้น BJC สมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ เมื่อ 8 ปีก่อนสมัยที่มันยังราคา 4 บาท กำไรสุทธิ ประมาณ 1,187 ล้าน (สมัยนั้นยังไม่ปรับพาร์ราคา 40 บาท) ผลก็คือไม่มีใครสนใจบริษัทที่ผมแนะนำนี้เลยแม้แต่คนเดียวทั้งที่บริษัทมี ศักยภาพในการเติบโต มีเงินสดเยอะมาก และราคาก็ถูกมากๆ ราคาหุ้นสมัยนั้นเทรดกันที่ P/E ระดับ 5 เท่าเอง มาวันนี้หุ้น BJC ราคา 43.50 ซื้อขายกันที่ P/E 31 เท่า กำไรสุทธิปี 2554 อยู่ 2,523 ล้านบาท กำไรเติบโตจากตอนผมวิเคราะห์ 1.12 เท่า แต่ราคาหุ้นขึ้นมา 10 เท่า คุณว่าราคาหุ้นตัวนี้ขึ้นมาเพราะกำไรมันโตเร็ว หรือขึ้นเพราะความคลั่งไคล้หุ้นกลุ่มค้าปลีกของนักลงทุนกันแน่ ถ้าเป็นอย่างหลังทำไมคุณไม่ลองไปหาหุ้นที่ยังไม่มีใครรู้จักแต่กำไรเติบโต ได้ดี ลงทุนเสียแล้วรอให้คนอื่นหันมาบ้าคลั่งหุ้นของคุณ

ในความเป็นจริงการทำอย่างที่ผมบอกนั้นยากมากๆ ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ดังนี้

คุณต้องมีความพยายามมากพอที่จะเข้าไปค้นหาข้อมูลของบริษัทจากงบการเงิน รายงานประจำปี รวมถึงต้องเข้าประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อสอบถามผู้บริหาร เพราะหุ้นที่คนไม่รู้จักเหล่านี้จะไม่ออกสื่อ ไม่มีนักวิเคราะห์ให้ข้อมูล ไม่มี Roadshow คุณต้องทำการวิเคราะห์ด้วยตัวคุณเอง ไม่มีตัวช่วย ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ชอบทำอะไรยุ่งยากด้วยตัวเองคุณไม่เหมาะกับแนวทางลงทุนแบบนี้

คุณต้องมีความอดทนมากพอที่จะรอให้ตลาดหุ้นหันมาสนใจหุ้นของคุณ แม้ว่าหุ้นคุณจะดีแค่ไหน ถ้ามันอยู่ “นอกสายตา” ของตลาด หุ้นมันก็จะไม่ขึ้น และไม่ว่าคุณจะพยายามแค่ไหนก็จะไม่มีมาสนใจหุ้นของคุณ เพราะคุณเป็นแค่คนธรรมดาที่คำแนะนำของคุณจะกลายเป็น “เสียงนกเสียงกา” ในสายตาของตลาด สิ่งที่ยากที่สุดในกระบวนการนี้ก็คือ คุณต้องทำให้ตัวคุณเองเชื่อมันในวิธีการของคุณต่อไป แม้ว่าเพื่อนคุณจะหัวเราะเยาะคุณ เจ้านายคุณจะบอกว่าสิ่งที่คุณคิดมันผิด และที่สุดแล้วตัวคุณนั่นแหละที่จะเริ่มสงสัยในแนวทางของคุณเอง Money ball สอนให้เรารู้จักศรัทธาในแนวทางของเรา และพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อจะรักษาศรัทธาอันแน่วแน่ของเราเอาไว้ เช่นที่ Beane ถูกกดดันจากสื่อ เพื่อนร่วมงาน ลูกทีม หรือกระทั่งเจ้านายของเขาที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแปลกใหม่ของ Beane จนกระทั่ง Beane ต้องขายซุปเปอร์สตาร์คนสุดท้ายของทีมออกไปเพื่อให้ทีมเดินไปในแนวทางที่เขา เชื่อมั่นอย่างไม่กลัวโดนไล่ออกนั่นแหละ

สุดท้ายเมื่อหุ้นของคุณได้รับความสนใจจากตลาด คุณจะต้องไม่ด่วนขายมันออกไปเร็วเกินไป นักลงทุนมักยึดติดกับคำว่า Fair Value โดยพยายามจะซื้อหุ้นที่ Under Value และขายมันที่ราคา Fair Value แต่นักลงทุนมักจะลืมไปว่าหุ้นมันสามารถ Overvalue ไปได้ตราบเท่าที่ตลาดจะยังคลั่งไคล้มันอยู่ และ Fair Value ก็สามารถปรับขึ้นได้ถ้ากำไรของบริษัทเติบโต ถ้าคุณต้องอดทนถูกเพื่อนๆเยาะเย้ยอยู่เป็นปีๆ ผลตอบแทนที่ได้รับจากความอดทนก็สมควรจะเป็นกอบเป็นกำไม่ใช่แค่ 20-30%

โอกาสในการลงทุนในหุ้นนอกสายตาเหล่านี้มันมีอยู่ตลอดเวลา เชื่อหรือไม่ แม้ว่าดัชนี SET จะอยู่ที่ 1200 จุด วันนี้ผมยังสามารถหาหุ้นที่ P/E 5 เท่า P/B 0.5 เท่า Dividend yield 9% อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นที่นิยมได้อยู่เลย แต่ไม่ว่าผมจะแนะนำอย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อผมซักทีมา 2 ปีแล้ว และมันก็อาจจะเป็นอย่างนี้ไปอีก 2-3 ปีก็ได้ ถ้าเป็นคุณจะทิ้งตัวนี้แล้วไปซื้อตัวอื่นที่กำลังวิ่ง หรือคุณจะอดทนกอดมันเอาไว้โดยที่ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีมันจะขึ้น นี่แหละความยากของการลงทุนในหุ้น “นอกสายตา”

จริงๆแล้วหุ้น P/E ต่ำในปีใดปีหนึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นหุ้นที่ดี เพราะกำไรอาจมาจากรายการพิเศษที่ไม่เกิดขึ้นอีก แต่ถ้าเป็นหุ้นที่ P/E ต่ำติดต่อกันหลายๆปี แปลว่ากำไรมันดีจริงๆ แต่ไม่มีคนเห็นค่าของมัน ยกตัวเอย่าง BJC เองผมวิเคราะห์มันตอนราคา 4 บาทในปี 47 (เทียบเป็นราคาก่อนปรับพาร์ 40 บาท) ตอนวิกฤติเศรษฐกิจ 51 มันก็ตกลงไปเหลือ 2.8 บาท (เทียบเป็นราคาก่อนปรับพาร์ 28 บาท) เหมือนกัน แต่เมื่อถึงเวลาของมันก็วิ่งรวดเดียวจาก 2.8 บาทเป็น 43.50 บาท (เทียบเป็นราคาก่อนปรับพาร์ 435 บาท) ขึ้นมา 15 เท่า Value investor ที่แท้จริงต้องสามารถอดทนเห็นมันลงจาก 40 บาทมาเหลือ 28 บาทได้ และถือต่อไปเพราะเชื่อมันในวิธีการของตัวเอง หรือกระทั่งอาจซื้อเพิ่มอีกเพื่อเฉลี่ยต้นทุน แต่ก็นั่นแหละ ถ้าคุณเชื่อผมเมื่อปี 47 คุณก็คงถูกเพื่อนๆล้อไป 6 ปีกว่าที่หุ้นมันจะเริ่มขึ้นจริงๆจังๆในปี 53 แต่คุณก็ยังได้รับ Dividend 6-8% มาตลอดปี 47-53 เป็นการปลอบใจ อยากเป็น VI ต้องท่องคาถาอดทนครับ แต่ถ้าอยากได้กำไรเร็วก็เล่นเป็น Momentum รอมันวิ่งทะลุ 8 บาทตอนปี 53 แล้วค่อยซื้อก็ได้ (ถ้าตอนนั้นเห็นหุ้นขึ้นจาก Bottom มาเกือบ 4 เท่าแล้วยังกล้าไล่อยู่นะครับ)

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นแง่คิดเกี่ยวกับการลงทุนด้าน Valuation ที่ได้รับจาก Moneyball ความจริงแล้ว Moneyball ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการลงทุนอื่นๆอีกหลายประเด็น ซึ่งผมจะได้กล่าวถึงใน
โอกาสต่อไป :)

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ตามเทรนด์วงการบันเทิง "อดีต ปัจจุบัน และอนาคต"


ที่ผมเอารูปน้องๆเหล่านี้มาลงไม่ใช่ว่า "ชีกอ" นะครับ แค่อยากอธิบายแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจบันเทิงจากอดีตสู่ปัจจุบันแค่นั้น (จริงๆ)

แนวโน้มธุรกิจทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่จุดเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมอะไร นั่นก็คือผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการจะมุ่งเข้าสู่การตลาดแบบที่ยึดเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง (Customer centric) มากขึ้น เช่นที่ผมได้เคยกล่าวเปรียบเทียบระหว่าง Apple กับ Microsoft ในบทความชิ้นก่อนหน้า

ธุรกิจบันเทิงเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แนวโน้มการใช้การตลาดแบบ Customer centric และการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ (Centralize) เริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้น วงการนักร้องนักแสดงยุคก่อนนี้มักเริ่มต้นจากแมวมองไปตามหาช้างเผือกที่ดูว่าจะรุ่ง เอามาฝึก เอามาปั้น เอามาโปรโมต ให้เป็นดารา-นักร้องในสังกัด ถ้าใครดันแล้วรุ่งก็ดันต่อ ถ้าดันแล้วไม่รุ่งก็ปล่อยไปแล้วหาใหม่ ซึ่งข้อเสียของระบบนี้ก็คือ ค่ายเพลง-หนังต่างๆต้องแบ่งผลประโยชน์ให้แก่คนกลาง ซึ่งได้แก่ แมวมอง หรือบริษัทโมเดลลิ่งต่างๆ กับดาวรุ่งที่ยังไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ แถมยังต้องควักเนื้อจ่ายเงินโปรโมตไม่ก่อนล่วงหน้าโดยไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้กำไรกลับมาจากเด็กที่ปั้น และที่แย่ที่สุดคือ ถ้าปั้นเด็กคนไหนจนเป็นดาวแล้วยังต้องปวดหัวกับการต้องรักษาดาราคนนั้นไว้กับตน ไม่ให้โดนค่ายไหนแย่งตัว หรือเข้าทำนองดังแล้วแยกวงไปรวยคนเดียวอะไรประมาณนี้

พัฒนาการต่อมาเริ่มมีการรวมศูนย์มากขึ้น ตัดคนกลางออกไป โดยค่ายเพลง-หนังก็มารับสมัครตรง น้องๆคนไหนอยากเป็นดาราก็มาสมัครได้ตามค่ายทีวี หรือค่ายเพลงต่างๆ โดยอาจอยู่ในรุูปการประกวดหรือการรับสมัครเป็นระยะๆ แต่ปัญหาเรื่องของค่าใช้จ่ายในการโปรโมตและการชิงตัวดาราข้ามค่ายก็ยังคงอยู่

จะกระทั่งปี 2005 Mr.Yasushi Akimoto โปรดิวเซอร์อัจฉริยะชาวญี่ปุ่นได้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยการผสมผสานการทำธุรกิจแบบบริษัทและการตลาดแบบ Customer centric ไว้ด้วยกัน ภายใต้ชื่อ "AKB48"

น้องๆในรูปเป็นสมาชิกของวง AKB48 ซึ่งเป็นวง Girl group แนว J-pop ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่น Single CD ของวง AKB48 มียอดจำหน่ายรวมกว่า 12 ล้านแผ่น (เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น) ความสำเร็จของ AKB48 ในญี่ปุ่นเหนือกว่า Girl Group อื่น Girl generation KARA 2NE1 wonder girl ฯลฯ อย่างเทียบกันไม่ได้

วง AKB48 เป็น Girl group ที่มี่สมาชิกในวงรวมกว่า 150 คน แต่ที่ชื่อ AKB48 เพราะในแต่ละอัลบัมจะมีนักร้องที่ถูกคัดมาเพียง 48 คนจาก 150 คนเพื่อออกแต่ละ Single ส่วนที่มาของ AKB ย่อมาจาก Akihabara ซึ่งเป็นย่านวัยรุ่นในโตเกียว (ประมาณสยามฯบ้านเรา) และเป็นฐานทัพของบรรดาสาวๆเหล่านี้

ทำไมผมถึงยกเอาวง AKB48 ขึ้นมาพูด ไม่ใช่เพราะ Single ของน้องๆเขาขายดี หรือความนิยมที่เป็นอันดับ 1 ในญี่ปุ่น แต่เป็นเพราะรูปแบบที่ AKB48 นำเสนอต่อสาธารณะซึ่งเรียกได้ว่าแหวกแนวจากวง Girl group อื่นๆโดยสิ้นเชิง

AKB48 มีวิธีการเลือกน้องๆมาออกแต่ละ Single ที่แตกต่างจากคนอื่น โดยจะเปิดให้แฟนเพลงที่มีสิทธิได้โหวตเลือกนักร้องที่ตนชื่อชอบได้มีโอกาสออกอัลบัมต่อไป คนทีโหวตแพ้ก็ต้องรออัลบัมหน้า ซึ่งวิธีนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม จำนวนแฟนเพลงที่เข้าร่วมโหวตล่าสุดมีมากเกินกว่า 1 ล้านคน ด้วยวิธีที่เรียกว่า General Election นี้ทำให้ค่ายเพลงมั่นใจได้ว่าอัลบั้มที่จะออกจำหน่ายจะขายได้แน่ๆ เพราะเลือกนักร้องตามความชอบของแฟนเพลง หรือมีการ Survey demand ผ่านการโหวตมาก่อนแล้ว จึงได้มีความมั่นใจในการทุ่มโปรโมตได้เต็มที่ (ตัวอย่างหนึ่งของ Customer centric ไม่ใช่เลือกนักร้องตามความชอบของโปรดิวเซอร์)

นอกจากนี้ AKB48 ยังมี Concept อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นกลุ่ม Idol ที่่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ AKB48 มีโรงละครและเวทีคอนเสริ์ตของตัวเองอยู่ที่ย่าน Akihabara และเปิดแสดงคอนเสริตโดยสมาชิกวง AKB48 อย่างน้อย 1 คน "ทุกวัน" ถ้าคุณเป็นแฟนเพลง AKB48 แล้วแวะไปเยี่ยมบ้านของน้องๆ คุณจะมั่นใจได้ว่าจะได้เห็น Idol ของคุณแบบตัวเป็นๆทุกวัน แทนที่จะต้องแห่ไปรอรับดาราโปรดที่สนามบิน นั่งกันตามพื้นระเกะระกะเป็นที่น่าสงสาร (ตัวอย่างของ Customer centric ที่ยอมให้แฟนเพลงเข้าถึงได้ตามที่ต้องการ)

จุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ AKB48 ที่เป็นประโยชน์ต่อค่ายเพลงแต่อาจไม่เป็นประโยชน์กับน้องๆสมาชิกในวงก็คือ การที่วง AKB48 มีสมาชิกมากขึ้น 48 คนในแต่ละอัลบั้ม และมีการหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาร้องเพลง ทำให้ความสำคัญของน้องสมาชิกในวงน้อยกว่าชื่อของวง AKB48 ถ้าสมาชิกคนไหนไม่ได้รับความนิยมก็จะหลุดออกจาก 150 คน และโปรดิวเซอร์ก็จะหาคนใหม่เข้ามาแทน โดยไม่จำเป็นต้องเสียดายเงินที่โปรโมตน้องคนนั้นไป เพราะเงินโปรโมตมันไปอยู่ที่ชื่อวงหมดแล้ว หรือถ้าน้องๆคนไหนปัญหาเยอะ โปรดิวเซอร์ก็อาจเลือกปลดออกและหาคนอื่นมาแทน แฟนๆเพลงก็อาจไม่ได้สนใจมากนักเพราะมี "เยอะ" จนลายตาไปหมด ทำให้ AKB48 มีความเป็นสถาบันมากขึ้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการแย่งตัวดารา หรือปัญหาดาราเสื่อมความนิยมได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ด้วยวิธีของ Akimoto ทำให้ความสำเร็จของ AKB48 มีโอกาสยืนยาวกว่าโปรดิวเซอร์คนอื่นๆที่เน้นปั้นดารา 2-3 คน พอดาราในสังกัดดับโปรดิวเซอร์ก็ดับไปด้วย ถือเป็นการพลิกโฉมหน้าของวงการบันเทิงญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ในเมืองไทยยังไม่มีค่ายเพลงไหนนำแนวคิดที่ว่าไปใช้ ใกล้เคียงที่สุดก็คือเวที The star และ AF แต่ก็ยังไม่ถึงขึ้นจะให้โหวตเพื่อออก Single และได้ไม่เข้าถึงคำว่า Customer centric อย่างที่ AKB48 ทำ และจริงๆถึงทำก็อาจไม่รุ่งเท่า เพราะวัฒนธรรมคนไทยไม่นิยมจ่ายเงินโหวต หรือจ่ายเงินซื้อ Single เพราะถ้าคนไทยอยากฟังเพลงหรือดู MV พวกเขามีวิธีอื่นที่จะได้มาโดยไม่เสียเงิน (ไม่ขอชี้โพรงให้กระรอก แต่เชื่อว่าทุกคนรู้จักกันดี)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี่ไม่ใช่อยากโปรโมตให้น้องๆเขา แค่อยากจะบอกว่าโลกเรามันเปลี่ยนไปทุกวัน ถ้าธุรกิจไหนไม่ปรับตัวก็รอวันตาย สำคัญที่่ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์และปรับความคิดให้ยืดหยุ่นตามการเปลี่่ยนแปลง ส่วนนักลงทุนนั้นปรับตัวง่ายกว่ากันเยอะครับ ถ้าบริษัทไหนไม่ปรับตัวนักลงทุนก็ขายหุ้นทิ้งไปซื้อหุ้นใหม่ที่อยู่ในกระแสสบายกว่าแยะครับ ไม่ต้องมาเครียดกับการกอบกู้บริษัทให้ปวดหัว :)

อนิจจังกับวัฎจักรธุรกิจสื่อสาร (3)



ในบทความสองตอนก่อน ผมได้วิเคราะห์ความเป็นมา (และเป็นไป) ของ Nokia และ RIMM ไปแล้ว ผมจะมาลองเปรียบมวยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน IT ในปัจจุบัน ชื่งได้แก่ Microsoft Corporation (MSFT) และ Apple Inc. (AAPL) ในรูปกราฟเส้นสีฟ้าเป็นราคาหุ้น AAPL ส่วนเส้นสีแดงเป็น MSFT

MSFT และ AAPL นับได้ว่าเป็นมวยถูกคู่ที่ชิงดีชิงเด่นกันมาตั้งแต่ก่อตั้ง ทั้งสองบริษัทมีปรัชญาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง MSFT เน้นขาย Software ที่จำเป็นต้องการดำรงชีวิต (Windows operation) ซึ่งใช้ได้กับคอมพิวเตอร์ทุกประเภท ประมาณว่าชีวิตฉันขาดเธอไม่ได้ ในขณะที่ AAPL เน้นขาย Lifestyle ขายความสะดวกสบาย ประมาณว่าถ้าใครใช้ iPhone iPad เดินไปไหนคนจะต้องมองว่าเท่ (It's cool)

ในยุคสมัยที่คอมพิวเตอร์ยังไม่หลากหลาย (1990-2005) ที่ผู้ผลิต Desktop และ Notebook ยังแข่งขันผลิตกันอย่างเอาเป็นเอาตาย MSFT ได้รับชนะเหนือ AAPL อย่างเห็นได้ชัด เพราะ MSFT เน้นขายแต่ Windows ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง ในขณะที่ AAPL พยายามจะขาย "พ่วง" คอมพิวเตอร์ Desktop แบบจอตู้กับระบบปฎิบัติการแมคอินทอช คนนึงผลิต OS แต่ดันใช้ได้แต่เครื่องของตัวเอง ส่วนอีกคนผลิตแค่ Software แต่มีทั้ง IBM Compaq Fujitsu Hewlett ฯลฯ ช่วยกันขายเครื่องให้ ผูู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายกว่าหากเลือกใช้ Windows ดังนั้น Software developer ต่างๆจึงแห่กันมาเข้าร่วมกับทาง Windows มากกว่า Macintosh ราคาหุ้น MSFT จึงวิ่งแซง AAPL ไปไกลมากจนส่งผลให้ Bill Gate กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก

เวลาเปลี่ยน โลกเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน คอมพิวเตอร์ยุคหลังเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น คอมพิวเตอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างในโลก เช่น Smart phone เครื่องเสียงติดรถยนต์ Navigator ฯลฯ ผู้บริโภคก็เปลี่ยนมาต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ต้องการแค่ความจำเป็นเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ผู้ผลิต PC และ Notebook ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ก็เริ่มทยอยล้มหายตายจาก เช่น IBM ก็เลิกทำ Compaq โดน HP ซึ่งกิจการ ฯลฯ ความได้เปรียบของ MSFT ก็เริ่มลดลงเพราะจำกัดตัวเองอยู่แค่ Windows ในขณะที่ Technology มันก็พัฒนามาเข้าทาง AAPL มากขึ้น ความนิยมของการใช้ MP3 เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จของ AAPL เพราะสามารถออกแบบ iPod ได้โดนใจผู้บริโภค ในขณะที่ MSFT ยังไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนา Product line ใหม่ๆ จาก iPod สู่ iPhone และ iPad ความนิยมของ AAPL ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ กว่าที่ MSFT จะรู้สึกตัวหันมาพัฒนา Product line อื่นๆแข่งกับ AAPL ก็สายไปเสียแล้ว

AAPL เก็บเอาความพ่ายแพ้ต่อ MSFT ในช่วงต้นมาใช้เป็นบทเรียน AAPL ไม่ยอมอยู่อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป จึงพยายามหาพันธมิตรให้มากที่สุด เช่น ทำ iPod แต่ไม่ทำ MP3 เอง ทำ App store แต่ไม่พัฒนา Application เอง (อย่างเช่นที่ MSFT ทำ Windows แต่ไม่ทำคอมพิวเตอร์เอง) เมื่อผลิตภัณฑ์ของ AAPL ได้รับความนิยมมากขึ้น พันธมิตรของ AAPL ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ตามนโยบายแบ่งกันทำแบ่งกันรวย จนกระทั่ง iPhone 3 วางตลาด ความรุ่งเรืองของ AAPL ก็พุ่งปริ๊ด MSFT ขึ้นไปได้ และในที่สุด AAPL ก็กลายมาเป็นบริษัท IT อันดับหนึ่งของโลกแซงหน้า MSFT ได้สำเร็จ (Market cap ของ AAPL บริษัทเดียวใหญ่กว่า Market cap ของหุ้นไทยทั้งตลาดรวมกัน)

จริงๆแล้ว MSFT ก็เคยเป็นเจ้าตลาดของ Smart Phone มาก่อนด้วย OS Windows mobile (WM) ซึ่งก็ได้ขายดีในช่วงแรก พันธมิตรของ WM เช่น O2 LG Palm ขายดิบขายดี ณ ปี 2005 WM มี market share ถึง 39% อย่างไรก็ดีหลังจาก iOs เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นตาม iPhone market share ของ WM หล่นวูบลงเหลือแค่ 5% ในปี 2010 พร้อมกับการล้มหายตายจายของพันธมิตรอย่าง O2 และ Palm

MSFT พยายามออก OS Windows Phone (WP) มาแทน WM เพื่อหาที่ยืนบนตลาด Smart phone แต่เนื่องจาก Windows Phone ออกมาช้าไปซักหน่อย เพราะมาออกเอาตอนที่ผู้ผลิตมือถือรายอื่นๆ ที่ยังเหลือรอดอยู่ เช่น Sumsung HTC Motolora Texas Instument เข้าไปจับมือกับ Android หมดแล้ว แถม Android ยังมียักษ์ IT อย่าง Google หนุนหลังอีก ทำให้แนวโน้มความสำเร็จของ WP ที่จะไปแข่งกับ iOS ได้ดูจะลำบาก เพราะ App Develper ที่ไม่เข้ากับ iOS กับมักจะเลือก Android ในการใช้ช่องทางการขาย App ของตัวเอง แทบไม่เหลือที่ว่างให้ WP ยืน บนตลาด Application อีก

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ต่อไป MSFT จะกลายเป็น Nokia, RIMM หรือ Kodak อันดับต่อไปหรือไม่ ตามความเห็นผมแล้วยังไม่น่าจะถึงขนาดนั้น เพราะ MSFT เน้นการขายของที่ "จำเป็น" โดยยังคงมี Windows ที่ผูกขาดในตลาด PC และ Notebook เพราะคนยังจำเป็นต้องใช้ Windows ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน บันเทิง หรือด้านอื่นๆ และพันธมิตร Software ของ Windows ยังคงเหนียวมแน่น เพราะ Windows ครองความเป็นเจ้าตลาดมานานเกินไปที่ Macintosh จะเจาะตลาด PC และ Notebook ได้ ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าผู้บริโภคหลายคนยังคงใช้ PC และ Notebook ที่เป็น Windows base อยู่เพื่อการทำงาน แม้ว่าจะปันใจไปใช้ iPhone หรือ iPad เพราะ Mac Book และ Mac Pro ยังไม่สามารถตอบโจทย์ "ความจำเป็นในชีวิต" ได้นั่นเอง แม้จะตอบโจทย์ความ "เท่" ได้ก็ตาม (แต่บางคนก็อยากเท่ถึงขนาดลงทุนเอา Mac Book ไปใส่ Windows เพราะอยากใช้ Software ที่เป็น Windows base :D)

มวยคู่ยักษ์ระหว่าง MSFT และ AAPL จึงยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะรู้ผลว่า MSFT จะอดทนรอจนกว่า AAPL จะเจอคู่แข่งนี่เน้นด้าน "ความเท่" มาลดความสำคัญของ iPhone และ iPad ได้ก่อน หรือ AAPL จะสามารถเจาะตลาดด้าน "ความจำเป็น" และชักจูงให้ Software Developer ยอมหันมาพัฒนาบนระบบ Macintosh ให้เท่ากับ Windows ได้ก่อน แต่ไม่ว่ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร MSFT และ AAPL ก็ได้ให้บทเรียนด้านธุรกิจและการแข่งขันแก่พวกเราไปเรียบร้อยแล้ว :D

บทความตอนนี้ถือเป็นตอนจบของบทความแบบไตรภาคของ "อนิจจังกับวัฎจักรธุรกิจสื่อสาร" ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามมาตลอด และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุน Indy Investor Forum ต่อไปครับ (^ ^)