ผมเคยได้ยินบางคนพูดว่าธุรกิจบริการทางการเงิน เช่น ธนาคาร เป็นเสือนอนกิน ผูกขาดตลาด
เหมือนกับว่าธุรกิจธนาคารในรูปแบบนี้จะยั่งยืนตลอดไปเหมือนร้อยปีที่ผ่านมา
ผมก็เคยเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เมื่อสิบปีก่อน แต่ตอนนี้ผมชักจะไม่ค่อยแน่ใจแล้วเพราะการเข้ามามีบทบาทสำคัญของ Internet นั่นเอง
รากฐานดั้งเดิมของธุรกิจบริการการเงินทุกประเภท คือ
การเป็นตัวกลางของอะไรซักอย่างแล้วเก็บค่าบริการการเป็นคนกลางนั้น
ธนาคารเป็นตัวกลางของผู้ออมเงิน และผู้ต้องการใช้เงิน
พวกเขาเก็บส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นรายได้ บางครั้งธนาคารก็ให้บริการเป็นตัวกลางในการชำระเงินของผู้ซื้อและผู้ขาย
พวกเขาเก็บค่าธรรมเนียมการชำระเงินเป็นรายได้
ธุรกิจพวกเขาก็ดำรงอยู่ในรูปแบบนี้มาจนปัจจุบัน แต่เมื่อ Internet ที่เข้ามาเชื่อมโยงทุกชีวิตบนโลกเข้าด้วยกัน
การให้บริการการเงินผ่าน Internet
เริ่มมีประสิทธิภาพและความสะดวกสบายมากกว่า
ทำให้เกิดธุรกิจที่เรียกว่า Fintech ขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม
Fintech เป็นคำที่ใช้เรียกอย่างกว้างๆ
สำหรับการให้บริการทางการเงินโดยการใช้เทคโนโลยีแทนการทำธุรกิจกรรมผ่านช่องทางสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม
ซึ่งบริการที่ Fintech มีอยู่ในปัจจุบันนั้นสามารถให้บริการได้ในทุกๆเรื่องที่สถาบันการเงินสามารถให้ได้ด้วยประสิทธิภาพที่สูง
ไม่ว่าจะเป็นการออมเงิน การกู้ยืมเงิน การชำระเงิน การซื้อขายหลักทรัพย์
การให้คำปรึกษาการลงทุน การระดมทุน หรือกระทั่งการซื้อขายประกันก็ตามที
ในต่างประเทศการออมเงินไม่จำเป็นต้องฝากเงินกับธนาคารเลยก็ได้
เพราะ Fintech มีให้บริการซื้อขายกองทุนรวม ซึ่ง Fintech หลายบริษัทก็เป็นแบบ Open Platform ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกซื้อกองทุนรวมของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไหน
(บลจ.) ก็ได้ จึงทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่าเงินฝากมาก
ทั้งกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ระยะยาว ในประเทศ ต่างประเทศ
มีทั้งแบบที่การันตีเงินต้นและแบบที่มูลค่าหน่วยลงทุนมีความผันผวน
หรือหากต้องการลงทุนที่เสี่ยงมากขึ้นก็มีกองทุนหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์
กองทุนทองคำ ให้เลือกสรรด้วยเช่นกัน แถม Fintech เหล่านี้ยังใจดีมีระบบ Rating แนะนำกองทุนให้อีกต่างหาก การซื้อขายก็ง่ายไม่ต้องเดินไปสาขา
ไม่ต้องกรอกแบบฟอร์ม ไม่ต้องยกโทรศัพท์ สามารถซื้อขายผ่าน Application บนมือถือ ซื้อกองทุนไหน ที่ไหน เมื่อไร
ให้โอนเงินจากการขายเข้าบัญชีธนาคารไหนก็ได้ ค่าธรรมเนียมต่างๆก็ไปเรียกเก็บ บลจ.
ลูกค้าผู้ออมเงินไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอะไรเพิ่มเติมจากที่ต้องเสียให้ บลจ.
เป็นปกติอยู่แล้ว
การกู้ยืมเงินก็สามารถใช้บริการ Fintech ได้ ในประเทศจีนมีบริการกู้เงินโดยตรงที่เรียกว่า P2P (Peer-to-peer) ซึ่งเป็นการจับคู่ผู้ต้องการปล่อยกู้และผู้ต้องการกู้โดยตรงแบบไม่ผ่านธนาคาร
ซึ่ง Fintech ก็จะมีระบบให้บริการสมัครสินเชื่อ Online คัดกรองผู้กู้ จัด Credit Rating จัดกลุ่มตามประเภทสินเชื่อ หรือกระทั่งจัดเตรียมเอกสารสัญญาในรูปแบบ Online ในขณะที่ผู้ปล่อยกู้ก็สามารถพิจารณาเอกสารหลักฐานข้อมูลต่างๆแบบ Online และก็มีทางเลือกในการปล่อยกู้ที่หลากหลายนับแสนรายไว้สำหรับกระจายความเสี่ยง
ผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ก็ไม่ต้องไปเสียส่วนต่างดอกเบี้ยให้กับธนาคาร
โดยที่ผู้ปล่อยกู้ก็ต้องพิจารณาความเสี่ยงของผู้กู้เอาเอง
ซึ่งในหลายกรณีก็อาจเสี่ยงมากเพราะผู้ปล่อยกู้อาจไม่มีความชำนาญในการพิจารณาสินเชื่อมากนัก ในอีกด้านหนึ่งการปล่อยกู้แบบ P2P ก็เป็นความเสี่ยงที่ธนาคารกลางจีนกำลังปวดหัวอยู่เหมือนกันเพราะควบคุมได้ยาก
อย่างไรก็ดีการมี P2P ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลด Friction ในตลาดทุนออกไปได้
เพราะไม่ต้องไปอ้อนวอนขอกู้กับ หรือรอรับดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารเพียงอย่างเดียว
การชำระค่าสินค้าและบริการสมัยนี้ก็ไม่จำเป็นต้องโอนผ่านสาขาธนาคาร ATM หรือจ่ายเป็นธนบัตรซะด้วยซ้ำ
เพราะ Fintech มีบริการ E-wallet ที่สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้อย่างสะดวกสบาย
สามารถโอนเงินไปมาระหว่างบัญชีธนาคารและ E-wallet ได้ง่ายๆไม่เสียค่าธรรมเนียม
ซื้อขาย Online กดคลิ๊กไม่กี่ทีก็ชำระเงินรับของปลายทางได้เลย ไม่ต้องรูดการ์ด
ไม่ต้องเซ็นชื่อ อีกทั้ง E-wallet
ยังมีสิทธิประโยชน์สำหรับการใช้จ่ายผ่าน E-wallet เพิ่มเติม
ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดร้านค้าหรือการสะสมแต้มใช้จ่าย นอกจากนี้ E-wallet ยังสามารถใช้ซื้อบริการแบบ Offline ได้ด้วย
เช่นการซื้อคูปองสปา ตั๋วหนังออนไลน์ หรือจองร้านอาหาร เป็นต้น จนกระทั่งบางประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียถึงกับยกเลิกการใช้ธนบัตรไปเลย เพราะประชาชนทุกคนสามารถใช้จ่ายเงินผ่านระบบ E-payment ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัย โปร่งใส
และป้องกันการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การระดมทุนก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งบริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคารเสมอไป
ปัจจุบันมีการระดมทุนในลักษณะ Crow funding ซึ่งก็คือการระดมทุนจากคนทั่วๆไปที่ต้องการสนับสนุนกิจกรรม
หรือโปรเจคอะไรซักอย่าง ซึ่งก็มีทั้งในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนเปล่าๆ
การให้เป็นสปอนเซอร์ หรือการร่วมทุน บางครั้ง Fintech เหล่านี้ก็อาจเข้าร่วมทุนกับผู้ขอระดมทุนเสียเองก็มี ในไทยก็เริ่มเห็น Fintech แนวนี้เพิ่มขึ้นเช่น meefund.com เป็นต้น
แม้ว่าธุรกิจการเงินแบบดั้งเดิมจะสามารถพัฒนาบริการต่างๆที่กล่าวข้างต้นเพื่อมาแข่งขั้นหรือกระทั่งเป็นเจ้าของ Fintech เหล่านั้นซะเองก็ได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นสำหรับพวกเขาก็คือ
ผู้เล่นในตลาดเริ่มจะเข้ามาใหม่มีความแข็งแกร่งในหลายๆด้านที่ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ไม่สามารถแข่งขันด้วยได้
ปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยี Social network หรือ E-commerce ยักษ์ใหญ่ก็หันมาเป็นพัฒนา Fintech ที่เมื่อผสมผสานกับความแข็งแกร่งที่พวกเขามีอยู่แล้วทำให้เกิด Ecosystem ที่ผูกขาดแบบครบวงจรไม่เหลือช่องว่างให้ผู้เล่นรายอื่นเข้าไปแข่งขันได้เลย
ปัจจุบันมีบริษัท E-commerce ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งให้บริการทั้งการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า
การชำระเงินออนไลน์ E-wallet ให้บริการผู้ซื้อผ่อนชำระค่าสินค้าได้
ปล่อยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนให้ผู้ขาย รับทำประกันสินค้าเสียหายระหว่างขนส่ง
และยังเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนด้วย ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อสินค้าออนไลน์
แล้วสั่งขายหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นโอนเงินมาเข้า E-wallet เพื่อชำระค่าสินค้าแบบผ่อนชำระ ทำประกันระหว่างจัดส่ง นอกจากนี้ระหว่างรอสินค้าก็สามารถเลือกซื้อหนังคุณภาพระดับ Hollywood มาดูผ่านระบบ Steaming
หรือจะอ่านข่าวบันเทิงรอสินค้าก็ได้ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการคลิ๊กบนมือถือไม่กี่ครั้ง
ไม่ต้องขยับไปไหนเลยซักก้าว ไม่ต้องคุยกับใครเลย และแน่นอน Platform นี้ก็ไม่แบ่งให้ใครมีส่วนร่วมเลย อันที่จริงแม้กระทั่งการปล่อยสินเชื่อที่ธนาคารน่าจะมีความชำนาญที่สุดยังไม่แน่ว่าจะมีข้อได้เปรียบ
เนื่องจากบริษัท E-commerce
มีข้อมูลผู้ซื้อและผู้ขายที่ขอสินค้าอย่างละเอียด
ไม่ว่าจะเป็นรายได้ ที่อยู่ที่ติดต่อได้จริง พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยทุกรายการ
ยอดขายจริงต่อเดือน สินค้าตัวไหนขายดี สินค้าคงคลังเหลือเท่าไร ฯลฯ เพราะธุรกรรมทุกอย่างเกิดขึ้น
และถูกเก็บข้อมูลไว้บน Platform
เดียวกัน บริษัท E-commerce จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ลึกและละเอียดกว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารผู้อนุมัติสินเชื่ออีก
ผมคิดว่า Fintech เหล่านี้อาจไม่ได้เกิดมาเพื่อจะช่วยเหลือหรืออยู่ร่วมกับธุรกิจบริการการเงินแบบดั้งเดิม
แต่มันเกิดมาเพื่อเป็นคู่แข่งและทดแทน แม้กระทั่งผู้บริหารของ Fintech ชั้นนำของโลกหลายแห่งก็มี Background เป็นผู้บริหารสถาบันการเงินชั้นนำแล้วแยกตัวออกมาตั้งหรือบริหาร Fintech เหล่านี้
นี่จึงเป็นสาเหตุที่สถาบันการเงินต่างๆทั่วโลกตื่นตัวกันมากไม่เว้นแม้แต่เมืองไทย
ถึงกับมีธนาคารบางแห่งเริ่มจัดตั้งกองทุนเพื่อค้นหา ร่วมทุน และพัฒนา Fintech ของตัวเอง เพราะพวกเขารู้ว่าถ้าพวกเขาไม่สกัดกั้น หรือกระทั่งเป็นเจ้าของ Fintech เหล่านี้เสียแต่ตอนนี้ ในอนาคต Fintechเหล่านี้อาจมาเป็นเจ้าของธนาคารในที่สุด วันนี้ Fintech ในภาพรวมถือว่ายังอยู่ในช่วงตั้งไข่
เมื่อไรก็ตามที่พวกเขาออกวิ่งได้ก็จะเป็นความท้าทายของสถาบันการเงินที่จะต้องต่อสู้แข่งขันและธนาคารกลางทั่วโลกที่จะติดตามกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมต่อไป
...แล้วโลกจะเปลี่ยนไปตลอดกาล...
Indy Investor Forum
26 เมษายน 2559
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น