วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

8 เทรนของธุรกิจ E-commerce ในปี 2016

ปี 2015 ที่กำลังจะผ่านไปจัดได้ว่าเป็นปีทองของธุรกิจ E-commerce เมื่อพิจารณาถึงยอดขายที่โตถึง 15% ในสหรัฐฯ (42% ในจีน) ยอดขาย Cyber Monday ของสหรัฐ (และ Single day ของจีน) ที่สูงเป็นสถิติใหม่ ในขณะที่สัดส่วนยอดขาย E-commerce ต่อยอดขายปลีกรวมของสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 7.4% แปลว่าตลาด E-commerce ยังมีศักยภาพโตต่อไปได้อีกไกล 8 เทรนต่อไปนี้จะเป็นตัวผลักดันยอดขาย E-commerce ให้โตต่อไปได้ในปี 2016

1. Digital assistant จะเริ่มเข้ามามีบทบาท
ข้อได้เปรียบข้อหนึ่งของการซื้อสินค้าผ่านร้านค้าแบบ Brick and Mortar ที่มีเหนือ E-commerce คือ การที่มีพนักงานขายมาคอยแนะนำสินค้าที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละราย แต่เมื่อเทคโนโลยี Voice recognition และ AI (Artificial Intelligence) พัฒนาไปในระดับที่สามารถตอบโต้กับมนุษย์ได้ เช่น Siri ของ Apple หรือ M ของ Facebook การค้าขายด้วย AI ก็จะเป็นไปได้มากขึ้น ปัจจุบันบริษัทอย่าง Amazon ก็มีฟังก์ชั่น Digital assistants ที่สามารถแนะนำสินค้าตลอดจนสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่าน AI ได้โดยอัตโนมัติ ต่อไปการซื้อของออนไลน์ก็อาจไม่จำเป็นต้องคลิ๊กให้เมื่อยเพราะสามารถซื้อสินค้ากับ AI ได้เลย ชีวิตเริ่มจะเหมือนนิยาย Sci-fi ขึ้นทุกวัน

2. ChatCommerce จะกลายเป็นเรื่องปกติ
เทรนของ Chat แล้ว Commerce ซึ่งเป็นที่นิยมมากในเอเชียจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในทั่วทุกแห่งในโลก Wechat ของ Tencent เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของ ChatCommerce ผู้ใช้ Wechat ไม่ได้ใช้ App เพื่อพูดคุยกับเพื่อนฝูงอย่างเดียว แต่ใช้ Wechat เพื่อสั่งซื้อสินค้าหรือสอบถามกับผู้ขายโดยตรงด้วย ซึ่งเรื่องนี้เราเห็นกับบ่อยๆที่ผู้ซื้อสินค้าดูของจาก Instagram แล้วไปติดต่อผู้ขายผ่าน Facebook message หรือ Line แล้วการค้าขายก็เกิดขึ้นที่นั่น

3. Content กับ Commerce จะผสมปนเปกันจนแยกไม่ออก
ปัจจุบันผู้ประกอบการ E-commerce ไม่ได้ขายสินค้าอย่างเดียวนะครับ พวกเขาเพิ่ม Content ให้กับผู้ซื้อดูไปพลางๆด้วยอย่างเช่น Amazon มีสมาชิกประเภท Prime ที่ไม่ใช่ว่าจะได้ฟรีค่าจัดส่งอย่างเดียว แต่สามารถเข้าไปชมภาพยนตร์ฮอลลิวู๊ดหรือ รายการทีวียอดนิยมได้ฟรีๆอีกด้วย ในขณะที่ผู้ผลิตรายการหรือภาพยนตร์ก็เปิดเวปไซด์ขายของที่ระลึกหรือของเล่นที่เกี่ยวข้องกับรายการของตนควบคู่กันไปด้วย อาจเพราะทั้ง Content และ E-Commerce เป็นสิ่งที่ต้องการให้ผู้บริโภคจดจ่ออยู่กับเวปไซด์ของตัวเองนานๆ พวกเขาก็เลยต้องหาอะไรมาทำให้ตัวเองน่าสนใจและสร้างรายได้

4. Virtual Reality กำลังจะเข้ามาทำตลาด
Virtual Reality เริ่มจะได้รับความนิยมมากขึ้น อย่างเช่น Oculus Rift headset ของ Facebook ซึ่ง Virtual Reality นี้จะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถมีข้อมูลในการตัดสินใจได้ดีขึ้นก่อนจะซื้อสินค้า เช่น อาจจะลองเอารูปสินค้ามามโนดูว่าถ้าผู้ซื้อว่าใส่แล้วจะดูเหมาะไหม (เหมือนเราเอาเสื้อที่ชอบมาทาบตัวดูโดยไม่ต้องลองใส่จริง) หรือในอนาคตอาจพัฒนาจนถึงขั้นสามารถจะลองใส่เสื้อผ้าผ่าน Virtual Reality ก่อนตัดสินใจซื้อออนไลน์ได้ อย่างไรก็ดี Virtual Reality นี่ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ก็คาดว่าจะในช่วงทดสอบในปี 2016

5. Drone ส่งสินค้าจะเกิดขึ้นและไม่ใช่แค่ในสหรัฐ
ในอนาคตอันใกล้ การขนส่งสินค้าจะถูกส่งผ่าน Drone ที่บินส่งของจากโกดังถึงหน้าบ้านได้ แม้ว่าปัจจุบัน Federal Aviation Admistration จะยังไม่อนุญาตให้สามารถขนส่งสินค้าทางอากาศผ่าน Drone ได้ ทั้งๆที่ปัจจุบันเทคโนโลยีของ Drone สามารถทำได้แล้วก็ตาม แต่ในยุโรปและเอเชียอาจจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าหากไม่ติดข้อกฎหมายนี้

6. Amazon จะยังคงครองโลก E-commerce อยู่
Amazon จะยังคงมี Market share เพิ่มขึ้นจากคู่แข่งทั้ง Online และ Offline Forrester พยากรณ์ว่า ยอดขายสินค้าของ Amazon ในปี 2015 จะทะลุ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นรองแค่ Walmart และ Costco และเชื่อว่าการเติบโตของยอดขาย Amazon จะเติบโตได้มากกว่าการขายแบบ Offline ของสหรัฐ

7. ปุ่ม “ซื้อเลย” (Buy button) จะอยู่ทุกหนทุกแห่ง
ปุ่มซื้อเลย จะย่นระยะการตัดสินใจและเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้าออนไลน์ได้มากขึ้น ลองนึกว่าถ้าเรา Search Google หาเสื้อสวยๆซักตัวหนึ่ง พอเจอปุ๊บมีปุ่มซื้อที่กดครั้งเดียวสั่งซื้อสินค้า ตัดบัตรเครดิต ได้สินค้าส่งไปถึงบ้านเลยดูสิว่ามันจะยั่วยวนแค่ไหน (สาวๆน่าจะเข้าใจดีกว่าหนุ่มๆ)

8. จุดจบของการขายแบบ Flash Sales จะมาถึง
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการขายแบบ Flash sales จะกำลังจะ “Out” (Flash Sales เป็นการขายสินค้า Online แบบที่มีส่วนลดเยอะๆ Pop up ขึ้นมาให้ลูกค้าเห็น โดยการกำหนดเวลาที่สั้นและจำกัดจำนวนสินค้าจะเริ่งให้ผู้ซื้อหน้ามืดตัดสินใจแบบไม่ทันยั้งคิด ส่วนมากจะใช้กับของโล๊ะสต๊อกของสินค้า Brand name ทั้งหลาย) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน Flash sale กำลังจะถูก Take over หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องปลดพนักงานออก

บทความนี้แปล และเขียนเพิ่มเติมมาจาก:

http://www.thestreet.com/story/13404486/1/8-big-e-commerce-trends-to-look-for-in-2016.html

วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เส้นทางชีวิตธุรกิจสื่อสารหลังประมูลใบอนุญาต 4G



การประมูลใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 4G บนคลื่นความถี่ 1800 mHz และ 900 mHz จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2558 ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่  1800 mHz Slot 1 AIS (40,986 ล้านบาท) 1800 mHz Slot 2 TRUE (39,792 ล้านบาท) 900 mHz Slot 1 JAS (75,654 ล้านบาท) และ 900 mHz Slot 2 TRUE (76,298 ล้านบาท) รวมเม็ดเงินประมูลทั้งหมด  232,730 ล้านบาท ทำลายสถิติประมูล 4G ของโลกเบี้ยวๆใบนี้ไปเรียบร้อยและผลกรทบต่ออุตสาหกรรมและผู้เล่นทุกรายตามมุมมองของผมเป็นดังนี้

ภาพรวมอุตสาหกรรม
แน่นอนว่าอุตสาหกรรมย่อมต้องมีการแข่งขันสูงมากขึ้น เนื่องจากผู้เล่นรายเดิมๆยังอยู่กันครบ แต่มี JAS น้องใหม่เข้ามาร่วมก๊วนเฮฮาด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคอย่างแน่นอนเนื่องจากเป็นการเพิ่มทางเลือกให้มากขึ้น แต่การเข้ามาของรายใหม่ย่อมนำมาสู่การแข่งขันที่มากขึ้นทั้งด้านการให้บริการและราคา ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของผู้เล่นทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าจึงมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนจากค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตที่ประมูลมาราคาแพงลิ่ว เงินลงทุนที่ต้องใช้เพิ่มเติม ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายการตลาด ทำให้ผู้เล่นทุกรายจำเป็นต้องรักษาฐานลูกค้าและหาช่องทางสร้างรายได้จากการขายบริการ data เพิ่มขึ้น ซึ่งในด้านนี้ผมไม่ได้เป็นห่วงมากนักเพราะการใช้บริการ data บนมือถือมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น exponential ตามแนวโน้ม Internet of Things ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่แล้ว ลองคิดเล่นๆก็ได้ว่าทุกวันนี้เราใช้เวลากับการเล่น Smart phone กี่ชั่วโมงใน 1 วัน ทุกวันนี้เราเล่นมือถือมากขึ้นเรื่อยๆใช่หรือไม่ และนี่ก็คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้เล่นทั้ง 4 รายยอมกัดฟันประมูลด้วยราคาที่สูงลิ่ว อุตสาหกรรมจะรอดหรือไม่รอดอยู่ที่การขยายตัวของรายได้จากการขายบริการ data บนมือถือเป็นสำคัญ

AIS
AIS เป็นผู้เล่นที่มีความเข้มแข็งมากที่สุดด้วยฐานลูกค้าที่มากที่สุด และกำไรสุทธิปีละกว่า 36000 ล้านบาท ทำให้ทุกคนมองว่า AIS เป็นผู้เล่นที่ได้เปรียบที่สุด แม้ว่าจะพลาดท่าเสียคลื่น 900 mHz ซึ่งมีลูกค้ากว่า 2 ล้านรายไปก็ตาม แต่ผมเชื่อว่า AIS สามารถย้ายลูกค้าบนคลื่น 900 mHz ไปบนคลื่น 1800 mHz และ 2100 mHz ที่มีอยู่ได้ไม่ยากนัก อย่างมากก็ออกโปรโมชั่นแจกมือถือ 4G เครื่องละ 2000-4000 บาทให้ลูกค้าฟรีๆ พร้อมโปรฯเล่น data ฟรีนิดหน่อย ใช้เงินรวมๆ ไม่ถึง 8000 ล้านบาท บวกกับลงทุนเสาโทรคมนาคมที่ต้องติดตั้งเพิ่มหน่อยเพราะคลื่นความถี่ที่สูงขึ้นต้องใช้จำนวนจุดส่งสัญญาณที่มากกว่าก็ไม่น่าเป็นประเด็นมากนักเพราะอยู่ในแผนลงทุนอยู่แล้ว ส่วนปัญหาเรื่องความกว้างของคลื่นว่าจะให้บริการลูกค้าได้ทั่วถึงหรือไม่นั้น ลองใช้ไปดูก่อนถ้าไม่พออีก 3 ปีค่อยไปประมูลเพิ่ม
ความเห็น AIS อาจมีผลกำไรที่เติบโตน้อยลงไปหน่อยแต่ในด้านความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยังไม่น่าจะมีปัญหา และน่าจะเป็นผู้ชนะในระยะยาวหากผู้บริโภคเริ่มนิยมการใช้ mobile data มากขึ้น

DTAC
DTAC แพ้ประมูลทุกใบอนุญาต ได้รับแรงกดดันมากที่สุดจากทั้งลูกค้าและนักลงทุน เนื่องจากสัมปทานบนคลื่น 850 mHz และ 1800 mHz จะต้องส่งคืนรัฐฯ ในปี 2018 และจะเหลือเพียงใบอนุญาต 1800 mHz ที่เพิ่งประมูลรอบก่อน ทำให้เกิดความกังวลว่าจะสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ผมคิดว่า DTAC อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเพราะลูกค้าจะเริ่มขาดความเชื่อมั่นและย้ายค่าย ไม่รวมถึงนักลงทุนที่เผ่นหนีไปกันก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ดีเม็ดเงินไม่ต้องทุ่มให้ไปกว่า 70,000 ล้านบาทสำหรับการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 mHz สามารถนำมาเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการบนความกว้างระดับ 15 mHz บนคลื่น 2100 mHz ได้อย่างไม่มีปัญหา DTAC อาจปรับกลยุทธ์มา Focus บนลูกค้าระดับบนมากขึ้น เพื่อไม่ให้การจราจรบนคลื่น 2100 หนาแน่นจนเกินไปจนลูกค้ากลุ่มดังกล่าวไม่พอใจ แต่แน่นอนว่า DTAC มีความเสี่ยงจะสูญเสียฐานลูกค้าไปบางส่วนโดยเฉพาะลูกค้าระดับล่าง แต่สถานะทางการเงินของ DTAC หลังการประมูลถือว่ายังมีความเสี่ยงน้อยกว่าคู่แข่งอีก 2 รายอย่าง JAS และ TRUE อยู่มาก โดยเฉพาะฐานกำไรสุทธิต่อปีประมาณ  1 หมื่นล้านบาท ต้องไม่ลืมว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของ DTAC ได้แก่ กลุ่ม Telenor มีการลงทุนในหลายประเทศคงจะประเมินความคุ้มค่าและความเสี่ยงด้านการลงทุนในหลายๆประเทศควบคู่กัน ถึงจะเสีย market share ในตลาดไทยไปแต่ตลาดของประเทศอื่นๆก็ยังเป็นทางเลือกให้ Telenor ได้เสมอ ถ้าถึงที่สุดแล้วสู้ในตลาดไทยไม่ได้จะขายหุ้น DTAC ทิ้งให้คนที่สนใจตอนนั้นก็ยังไม่เสียหายมากนัก
ความเห็น DTAC อาจเสียตำแหน่งผู้ให้บริการเบอร์ 2 ให้กับ TRUE แต่ยังสามารถ Focus บนผลกำไรและความเข็มแข้งทางการเงินเพื่อรอดูการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเพื่อรอโอกาสกลับเข้าไปเล่นใหม่อีกครั้ง ไม่แน่ว่ารอไปอีกซักปีถึงสองอาจมีมีผู้ชนะประมูลครั้งนี้มาเร่หา Partner เพิ่มทุนให้ก็ได้ใครจะรู้

TRUE
TRUE ชนะการประมูล 2 ใน 4 ใบย่อมคิดการใหญ่ จากปัจจุบันเป็นผู้เล่นอันดับ 3 อย่างน้อยๆก็ต้องตั้งเป้าหมายเป็นอันดับ2 หรืออาจแซง AIS เป็นอันดับหนึ่งเสียด้วยซ้ำ การเป็นผู้ให้บริการที่มีความกว้างของคลื่นมากที่สุด (AIS 30 mHz, DTAC 50 mHz, TRUE 55 mHz และ JAS 10 mHz) ย่อมเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างไรก็ดีสถานะทางการเงินของ TRUE หลังการประมูลจะอ่อนแอลงมาก และน่าจะมีความเสี่ยงจะต้องเพิ่มทุนในระยะเวลาอันสั้น แต่การมีกลุ่มผู้ถือหุ้นที่เข้มแข็งอย่างกลุ่ม CP และ China Moblie ย่อมสามารถเพิ่มทุนและระดมเงินกู้ได้อย่างไม่น่าจะมีปัญหา (China Mobile เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนที่มี Market Cap ประมาณ 10  ล้านล้านบาท ใหญ่เกือบเท่า market cap ของหุ้นทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวมกัน) กรรมมันจึงจะมาตกอยู่กับรายย่อย เพราะต้องเพิ่มทุนตามกันหน้ามืด เมื่อคิดถึงค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตที่ต้องจ่ายเพิ่มปีละ 7,300 ล้านบาท เทียบกับกำไรปีที่ผ่านมาที่ 1,400 ล้านบาทแล้ว TRUE คงไม่แคล้วต้องขาดทุนไปอีกหลายปีกว่าจะสร้างรายได้เติบโตมาคุ้มทุนใบอนุญาตและเงินลงทุนในอนาคต ส่วนเงินปันผลคงไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่มีมานานแล้วและคงจะไม่มีต่อไปอีกหลายปี แต่เถ้าแก่คงจะไม่ซีเรียสมากนักเพราะเงินเย็นและรอได้ยาว ที่อาจเซ็งหน่อยคืออุตสาห์กัดฟันประมูลมาได้ 2 ใบอนุญาตที่ราคาแพงลิ่วหมายจะตัดคู่แข่งให้เหลือแค่ 2 ราย AIS ดันมาถอดใจซะได้ ทำให้นอกจากคู่แข่งจะไม่ลดลงแล้วยังได้ JAS มาเพิ่มอีก
ความเห็น TRUE น่าจะสามารถแย่งตำแหน่งผู้ให้บริการอันดับ 2 จาก DTAC มาได้ แต่เรื่องสถานะการเงินที่น่าจะลำบาก และน่าจะต้องแบกผลขาดทุนไปอีกหลายปี

JAS
JAS น้องใหม่ไฟแรงประมูลได้มาแบบช็อคโลก ในบรรดาผู้ให้บริการทั้ง 4 ราย JAS นี่น่าจะเหนื่อยที่สุดเพราะเริ่มจาก 0 เลย ลูกค้าก็ไม่มี เสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมก็ไม่มีซักต้น ต้องลงทุนเครือข่ายสื่อสารให้ครอบคลุมวงกว้างโดยเร็วที่สุดเพราะใบอนุญาตที่ประมูลมาได้มีอายุแค่ 15 ปี ยิ่งลงทุนช้ายิ่งขาดทุน ฐานกำไรจากธุรกิจเดิมต่อปีก็ตกประมาณปีละ 3,000 ล้านเท่านั้น แต่ต้องมาจ่ายค่าตัดจำหน่ายปีละ 5,000 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมเงินลงทุนวางเครือข่ายเพิ่มเติมอีกนะ ต้องยกย่องความกล้าหาญของผู้บริหาร JAS มากๆ ที่เข้ามาประมูลด้วยราคานี้ ผมเชื่อว่า JAS คงจะมีแผนธุรกิจแบบเหนือเมฆอยู่ในใจแล้ว เห็นว่าจะแถลงแผนธุรกิจในวันที่ 21 ธันวาคม 2558 ด้านเงินลงทุนอาจจะหาผู้ร่วมทุนรายใหม่จากต่างประเทศ หรืออาจเลือกเป็นพันธมิตรกับผู้เล่นเดิมในตลาด ส่วนเสาส่งสัญญาณก็อาจเช่าเอาจากผู้เล่นปัจจุบันก็ได้ไม่เป็นไร ปัญหาใหญ่คงจะเป็นการสร้างฐานลูกค้าจาก 0 นี่แหละ ถ้าจะแย่งฐานลูกค้าจากรายเดิมก็อาจต้องเล่นสงครามราคาซึ่งจะยิ่งกดดันผลการดำเนินงานของ JAS เข้าไปอีก หากจะแปลงสภาพตัวเองเป็น Infrastructure ให้กับผู้ให้บริการรายอื่นๆผมก็คิดว่า JAS ชนะประมูลมาด้วยราคาที่สูงเกินกว่าจะมาเก็บค่าเช่าอย่างเดียว บอกตรงๆว่าผมยังนึกไม่ออกว่า JAS จะสามารถทำกำไรอย่างคุ้มค่าภายในระยะเวลา 15 ปีได้อย่างไร แน่นอนว่าผู้บริหารย่อมคิดดีแล้วที่ประมูลด้วยราคานี้ แต่ผมยังรู้สึกว่ามันมีความเสี่ยงมากจนเกินไป
ความเห็น JAS น่าจะเข้ามาเป็นผู้ให้บริการอันดับ 4 ซึ่งมีความอ่อนแอในสถานะทางการเงินมาที่สุด การเพิ่มทุนน่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะเพิ่มทุนด้วยวิธีไหน ถ้าหา Partner ที่แข็งแกร่งและมี Expertise มาร่วมด้วยไม่ได้ JAS น่าจะลำบากมากถึงมากที่สุด

TOT และ CAT
เหรียญย่อมต้องมีสองด้าน แม้ว่าการประมูล 4G ที่ผ่านไปจะส่งผลให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นเป็นปัจจัยลบต่อผู้ให้บริการ แต่ก็มีคนที่นอนยิ้มรับผลประโยชน์เช่นกัน ในที่นี้คือ TOT และ CAT ต้องไม่ลืมว่า TOT และ CAT เองก็เป็นเจ้าของคลื่นความถี่เช่นเดียวกัน โดย TOT เป็นเจ้าของคลื่นจำนวน 15 mHz บนคลื่นความถี่ 2100 mHz ไปจนถึงปี 2025 ซึ่งปัจจุบันทำสัญญา MVNO (Mobile Virtual Network Operator) กับ Partner หลายราย หาก AIS มีคลื่นไม่เพียงพอในการให้บริการลูกค้าก็อาจมาเป็น Partner กับ TOT ได้ ในขณะที่ CAT ยังเป็นเจ้าของคลื่น 30 mHz บนความถี่ 850 mHz ไปจนถึงปี 2025 ซึ่งปัจจุบันครึ่งหนึ่งให้ TRUE เช่าใช้อยู่ก็อาจจะเอาอีกครึ่งที่เหลือไปแบ่งให้ DTAC ใช้บ้างก็ได้ ซึ่งก็อาจเป็นอีกเหตุผลที่ DTAC ไม่ทุ่มถึงที่สุดที่จะเป็นผู้ชนะการประมูล ด้วยราคาประมูลใบอนุญาต 4G รอบที่ผ่านมาพุ่งขึ้นสูงลิ่ว TOT และ DTAC ย่อมสามารถเล่นตัวโก่งราคาได้มากขึ้นอีกอักโข ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในรูปแบบใดๆ เพราะสัมปทานของพวกเขาได้รับการ Mark to market เพิ่มขึ้นไปด้วยนั่นเอง
ความเห็น TOT และ CAT รอดักตีหัวคนหนีร้อนมาพึ่งเย็น แบบสบายๆไม่ต้องลงทุนเอง

DIF
DIF (Digital infrastructure fund หรือ TRUEIF เดิม) เองก็ได้ประโยชน์เต็มๆเช่นกัน เพราะการที่คลื่น 900 mHz ไปตกอยู่ในมือผู้เล่นรายใหม่อย่าง JAS ทำให้ JAS ต้องดิ้นรนวางเครือข่ายสื่อสารโดยเร็ว ซึ่งวิธีที่เร็วที่สุดคือขอแชร์ Infrastructure กับคนที่มีอยู่แล้วซึ่งได้แก่ DIF ซึ่งเป็นเจ้าของเสาโทรคมนาคมทื่ซื้อมาจาก TRUE รวมไปถึง TOT ที่รอรับโอนเสาโทรคมนาคมมาจาก AIS ทั้งสองรายนี้นอนลูบปากเรียกค่าเช่าจาก JAS แน่นอน เพราะการจะไปหาพื้นที่ตั้งเสาใหม่ต้องใช้เวลา และใช้เงินลงทุนจำนวนมาก JAS ไม่ได้มีเวลารอได้ขนาดนั้น ในขณะเดียวกัน AIS และ DTAC ซึ่งสูญเสียและกำลังจะสูญเสียคลื่น 850 mHz และ 900 mHz ไปก็จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนเสาโทรคมนาคมเพื่อรองรับการให้บริการบนคลื่นความถี่ที่สูงขึ้น ก็อาจพิจารณาทางเลือกในการเช่าเสาจาก DIF หรือ TOT เพื่อความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายเช่นกัน ผมเชื่อว่า TOT คงจะรีบเคลียร์ข้อพิพาทเรื่องเสาและตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเสาโทรคมนาคมของตัวเองเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันเสาโทรคมคมยัง Utilize ได้ไม่ถึงครึ่งนึงของ Capacity โดยเฉลี่ย
ความเห็น DIF มีโอกาสได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นจากให้ AIS DTAC แล JAS เช่าใช้บริการเพิ่มเติม แต่ก็มีความเสี่ยงจากภาระหนี้สินของ TRUE ที่สูดขึ้นมากอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อการจ่ายค่าเช่าตามสัญญาเช่าระยะยาวที่มีอยู่กับ TRUE แต่ถ้าเชื่อว่า TRUE ไม่ Default ปัญหานี้ก็คงไม่หนักหนาเกินไปนัก

กล่าวโดยสรุปผู้เล่นเดิมรวมถึงผู้เล่นใหม่ลำบากกันถ้วนหน้าจากต้นทุนการให้บริการที่สูงขึ้น และการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น คาดว่าจะได้เห็นการเพิ่มทุนและความร่วมมือกันในรูปแบบต่างๆเพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็ดีกับประเทศไทยโดยรวมทั้งในแง่ผู้บริโภคที่จะได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ในแง่รัฐบาลที่ได้เงินไปลงทุนเพิ่มเติมกว่า 230,000 ล้านบาท และในแง่ทรัพยากรรวมของประเทศที่ไม่ต้องเสียไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มันซ้ำซ้อนกันมานานและอาจดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติเข้ามาเพิ่มเติมด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมายาวเหยียดนี้ก็เป็นความเห็นส่วนตัวของผมเอง เขียนขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการลงทุน ไม่ได้เขียนขึ้นหรืออ้างอิงองค์กรใดๆ และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำแนะนำซื้อขายหลักทรัพย์ใดๆทั้งสิ้น ผู้อ่านโปรดใช้ดุลพินิจในการอ่านและตัดสินใจลงทุน

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

Internet of Things: How it has changed the world (Episode 1: Media)


ในบรรดาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก Internet of Things (IoT) คงไม่มีอะไรเกินธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร นั่นเพราะ IoT ทำให้เกิดอุปทานบน Cyberspace จำนวนมหาศาลที่สามารถเข้ามาทดแทน มีประสิทธิภาพสูงกว่า และมีอรรถประโยชน์มากกว่าสื่อแบบดั้งเดิมหลายเท่า ด้านผู้บริโภคสื่อเองก็มีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก พวกเขาต้องการอะไรที่เลือกเอง ไม่ชอบถูกยัดเยียดให้บริโภคจากผู้ผลิตอย่างที่เป็นกันในสมัยก่อน

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็เช่น การเข้ามาของทีวีและวีดีโอออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถดูละคร ดูหนัง ฟังเพลงจากมือถือได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยความละเอียดสูงกว่า สามารถเลือกรับชมเฉพาะที่ชอบก็ได้ จะดูละครติดต่อกันคราวละสี่ห้าตอนก็ได้ จะดูซ้ำๆกี่รอบก็ได้ตามใจทั้งหมด รายการที่ให้เลือกดูก็มีได้มากกว่า ทั้งรายการในและต่างประเทศ ไม่มีฉากตัดหรือเซนเซอร์ให้เสียอารมณ์ แถมยังมีของฟรีให้เลือกดูได้ด้วย (ทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย) หรืออีกตัวอย่างเช่น Application ข่าวสารที่เข้ามาแทนหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่สามารถพกติดตัวไปพร้อมมือถือได้ทุกที่ ทุกเวลา สามารถติดตามข่าวได้จากหลายแหล่งพร้อมกัน เลือกติดตามเฉพาะเรื่องที่อยากรู้ได้ เลือกติดตามเฉพาะดาราที่ก็ชอบได้ แถมยังสามารถตั้งให้ Alert ได้ทันที อ่านข่าวไหนชอบ Save เก็บไว้อ่านทีหลังหรือไว้อ้างอิงก็ได้ อ่านแล้วชอบจะ forward ต่อให้เพื่อนอ่านทันทีก็ได้

ทางด้านผู้ผลิต Content เองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เด็กๆสมัยใหม่อ่านและฟังภาษาอังกฤษได้ทุกคน เบื่อละครไทย ไปดูซีรี่ย์ฝรั่งก็ได้ เบื่อหนังไทย ไปดูหนังฮอลลิวู๊ดก็ได้ เบื่อเพลงไทย ไปฟังเพลงอินเตอร์ก็ได้ และทุกอย่างสามารถหาได้ใน Internet ซึ่งอยู่บนมือถือที่พกติดตัวไปด้วย พฤติกรรมผู้บริโภคเองก็เริ่มเปลี่ยนไปจากการรับชมรายการวาไรตี้ เกมโชว์ สารคดี ซึ่งถูกนำเสนอโดยดารา เซเลป พิธีกรชื่อดัง ทางทีวี มาเป็นการเสพ Social network อย่าง facebook Instragram และ Twitter มากขึ้น ซึ่ง Content ที่ถูกสร้างขึ้นบน Social network นี้มีจำนวนมากมาย มีความหลากหลายมากกว่า และมีแนวโน้มดึงดูดความสนใจผู้บริโภคได้มากกว่า เนื่องจากมันถูกนำเสนอโดยคนที่เรารู้จัก หรือกำลังสนใจอยู่ (ไม่งั้นจะ add friend หรือ follow ไปทำไม) ลองคิดดูง่ายๆว่าทุกวันนี้เราใช้เวลา ดูทีวี ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือ หรือนิตยสารรวมกัน แล้วลองเทียบกับเวลาที่เรานั่งจ้องมือถือ เล่นเฟส แช็ทไลน์ อ่านข่าว เล่นเกมดูสิ แล้วจะรู้ว่าผมไม่ได้พูดอะไรผิดไปหรอก

ในด้านบริษัทโฆษณาก็เห็นความได้เปรียบในเชิงแข่งขันที่ชัดเจนของสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถทำให้พวกเขาเลือกจัดสรรเม็ดเงินโฆษณาได้มีประสิทธิภาพกว่า เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างกว่า และยังสามารถเลือกโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดีกว่า ทำให้เม็ดเงินโฆษณาไหลออกจากการโฆษณาจากสื่อแบบดั้งเดิมมาเป็นการโฆษณา แบบออนไลน์อย่างชัดเจน ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณารวมทั่วโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 3% ในขณะเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์เติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ในช่วงเวลาเดียวกัน และยังเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งอีกด้วย ที่สำคัญคือในอนาคตอันใกล้ผมก็ยังไม่เห็นว่าแนวโน้มที่ว่าจะมีการเปลี่ยน แปลงไปได้ยังไง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดจึงไม่น่าแปลกใจกว่าทำไมธุรกิจสื่อแบบดั้งเดิมถึงอยู่ในขาลงในปัจจุบัน จะลองนับดูจากจำนวนโรงพิมพ์ ค่ายนิตยสาร หรือร้านหนังสือที่ปิดตัวลงก็ได้ หรือจะดูจากผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มสื่อแบบดั้งเดิมก็ได้ แม้เจ้าของสื่อแบบดั้งเดิมบางรายจะผนึกกำลังกับผู้ผลิต Content ที่มีคุณภาพแบบ Exclusive deal เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาเสพสื่อแบบดั้งเดิมมากขึ้น แต่ความพยายามเหล่านี้จะไร้ผลในระยะยาว เนื่องจากผู้ให้บริการ Social Network หรือ E-commerce เองก็เริ่มควบรวมกันเองให้ใหญ่ขึ้นและเริ่มผนึกกำลังกับผู้ ผลิต Content ในระดับโลก อย่างที่ Amazon ซื้อกิจการ Washington Post อย่างที่ Google ซื้อกิจการ Youtube หรืออย่างที่ facebook เข้าซื้อกิจการ Instragram และ WhatsApp หรืออย่าง Alibaba ที่ตั้งบริษัท Alipicture และกำลังสนใจจะเข้าซื้อหุ้นของ Paramount Picture และ South China Morning Post สุดท้ายผู้ผลิต Content ชั้นนำจะเลือกจับมือกับสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อแบบดั้งเดิมแน่นอน

ธุรกิจสื่อแบบดั้งเดิมจึงจำเป็นต้องรีบปรับตัวเองอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและสามารถอยู่รอดได้บนโลกใบใหม่ พวกเขาต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่ หาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ หาพันธมิตรที่แข็งแกร่ง หรือแปลงสภาพตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ผลิต Content ระดับแนวหน้าที่สามารถขาย Content ของตัวเองไปได้ทั่วโลก มิเช่นนั้นพวกเขาจะถูกกลืนหายไปในกระแสโลกาภิวัตน์อย่างรวดเร็ว ซึ่งในมุมมองของผมคิดว่าพวกเขาเหลือเวลาปรับตัวอีกไม่มากนัก หรืออาจจะช้าไปแล้วด้วยซ้ำ

แล้วโลกจะเปลี่ยนไปตลอดกาล...

Written by
Indy Investor Forum
6 ธันวาคม 2558

Internet of Things: How it has changed the world (Prologue)

นักลงทุนบางท่านอาจสงสัยว่าทำไมการประมูลใบอนุญาต 4G บนคลื่น 1800 ผ่านมา ถึงได้มีการแข่งขันกับอย่างดุเดือดราคาใบอนุญาตพุ่งไปถึงกว่า 40,000 ล้านบาท และการประมูลใบอนุญาต 4G บนคลื่น 900 ที่กำลังจะประมูลกันในกลางเดือนธันวาคมนี้ก็คาดว่าจะดุเดือดไม่น้อยกว่ากันเท่าไร 4G มันสำคัญขนาดไหน ทำไม่ต้องแย่งกันขนาดนั้น

สาเหตุที่มันสำคัญนักหนาก็เพราะ 4G จะเป็นตัวเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า Internet of Things (IoT) ซึ่งกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ความหมายของ IoT ก็คือการที่ทุกสิ่งบนโลกที่เรารู้จักจะเกิดขึ้น Online และสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ทั้งหมด ตั้งแต่ การติดต่อสื่อสาร ธุรกิจบันเทิง ธุรกรรมการเงิน การค้าขายทั้งปลีกและส่ง รวมถึงไปจนถึงเรื่องสุขภาพและธุรกิจการแพทย์ด้วย ความเร็วของการเชื่อมต่อแบบ 4G จะเริ่มทำให้สิ่งไม่สามารถทำได้ในอดีตจะสามารถเกิดขึ้นได้ และถ้าพัฒนาไปถึงระดับ 5G ที่สามารถส่งข้อมูลได้ในระดับ 3.5 GHz ขึ้นไป เกือบทุกสิ่งในโลกคาดว่าจะเกิดขึ้น Online

Internet of thing จะทำให้โลกทั้งใบเปลี่ยนไปอย่างถาวร โลกเก่าๆที่เรารู้จักกันจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก การคิดแบบเดิมๆอาจไม่สามารถทำให้เรารอดได้ในโลกยุคต่อๆไป ภาคธุรกิจ นักลงทุน ตลอดจนคนธรรมดาทั่วไปควรเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับโลกใบใหม่ที่จะมาถึง เพื่อที่จะสามารถหาประโยชน์จากมันได้ หรืออย่างน้อยก็อย่างให้ถึงกับไม่มีที่ยืนบนโลกก็แล้วกัน บทเรียนของยักษ์ใหญ่อย่าง Olympia Kodak Netscape และ Nokia เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับบริษัทที่ปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

แล้ว Internet of Things มันจะกระทบกับธุรกิจต่างๆ ตลอดจนชีวิตของคนธรรมดาเช่นเรา อย่างไรบ้างล่ะ

...แต่น แต่น แต้น... โปรดติดตามในตอนต่อไป

Written by

Indy Investor Forum

3 ธันวาคม 2558

ตัวตนของตลาดหุ้น

มีข้อถกเถียงกันมากมายว่าการลงทุนในตลาดหุ้นอะไรเป็นปัจจัยชี้ขาดระหว่างคนที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว

บ้างก็ว่าตลาดหุ้นเป็นการประชันมุมมองเศรษฐกิจ ว่าใครจะถูกต้องกว่ากัน
บ้างก็ว่าตลาดหุ้นเป็นการประชันการวิเคราะห์มูลค่า ว่าใครจะแม่นกว่ากัน
บ้างก็ว่าตลาดหุ้นเป็นการประชันการอ่านกราฟ ว่าใครจะเจ๋งกว่ากัน
บ้างก็ว่าตลาดหุ้นเป็นการประชันเทรดอัลกอริทึ่ม ว่าใครจะไวกว่ากัน
บ้างก็ว่าตลาดหุ้นเป็นการประชัน Mind set ว่าใครจะนิ่งกว่ากัน
บ้างก็ว่าตลาดหุ้นเป็นการประชัน Money management ว่าใครจะแน่นกว่ากัน
บ้างก็ว่าตลาดหุ้นเป็นการประชันเงินทุน ว่าใครจะหนากว่ากัน
บ้างก็ว่าตลาดหุ้นเป็นการประชันการใช้ข้อมูลภายใน ว่าใครจะลึกกว่ากัน
บ้างก็ว่าตลาดหุ้นเป็นการประชันดวง ว่าใครจะเฮงกว่ากัน

สำหรับผมแล้วตลาดหุ้นเป็นการประชันวิสัยทัศน์ ว่าใครจะกว้างไกลกว่ากัน

ผมเชื่อว่าคนที่จะประสบความสำเร็จระยะยาวในตลาดหุ้นจะเป็นคนที่มองเห็นแนวโน้มธุรกิจในอนาคตได้ชัดเจนว่าธุรกิจใดจะรุ่งไม่รุ่ง มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคต มองออกว่าบริษัทใดที่จะอยู่รอดและเป็นผู้ชนะในระยะยาว

พวกเขาเหล่านี้จะมองข้ามผลกำไรขาดทุนระยะสั้นระดับไตรมาสออกไป มองข้ามกระแสในตลาดหุ้นระยะสั้นออกไป มองข้ามโอกาสซื้อขายทำกำไรระยะสั้นหรือกระทั่งระยะยาวออกไป หรือกระทั่งมองข้าม Valuation ในระยะสั้นออกไป ไม่ว่าจะเป็นกราฟ อัลกอริทึ่ม ข่าววงในล้วนแล้วแต่ไม่ได้เป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จทียั่งยืนในตลาดหุ้นตามความเห็นของผม

แน่นอนว่ามีนักลงทุนมากมายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วย การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เทคนิค อัลกอริทึ่ม money management กำลังภายใน หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าจะมีสิ่งที่เศรษฐีหุ้นหรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมีเหมือนกันซักอย่างหนึ่งก็คงเป็นวิสัยทัศน์นี่แหละ พวกเขามีจินตนาการมองเห็นอนาคตที่คนทั่วๆไปไม่เห็น พวกเขาเห็นสิ่งที่จะมาในอนาคตก่อนคนทั่วๆไปจะเห็น พวกเขาจึงสามารถลงทุนหรือลงมือทำไปก่อนคนอื่น กว่าคนทั่วๆไปจะมองเห็นโอกาสพวกเขาไปไกลมากแล้วไล่อย่างไรก็ไม่ทัน

สรุปแล้วผมคิดว่าสายมโนเนี่ยแหละเจ๋งสุด 555+

นักลงทุนที่ดีจึงควรเปิดมุมมองตัวเองให้กว้าง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้น แล้วมองหาโอกาสลงทุนหรือทำธุรกิจด้วยตัวเอง การรอฟังแต่คำแนะนำของกูรูหรือการรออ่านบทวิเคราะห์นั้นไม่สามารถทำให้เราเป็นผู้ชนะในตลาดหุ้นหรือในธุรกิจได้ในระยะยาว เพราะว่าคำแนะนำเหล่านั้นจะมาถึงเราก็แปลว่ามีคนคิดได้และลงทุนก่อนเราไปเยอะแล้ว และถ้าจะมีไอเดียธุรกิจดีจริงๆมาบอกเรา เขาก็คงเอาไปทำเองนานแล้ว

แล้วสำหรับคุณล่ะ ตลาดหุ้นคืออะไร?

Written by

Indy Investor Forum
2 ธันวาคม 2558

ผิดที่สุดคือไม่รู้ว่าผิด


"We didn't do anything wrong, but somehow, we lost..."

"เราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เราก็ยังพ่ายแพ้"

ประโยคอมตะของ CEO ของ Nokia ในวันที่แถลงข่าวขายกิจการโทรศัพท์มือถือให้ Microsoft เมื่อปี 2013

ผม กลับคิดไม่เหมือนกับเจ้าของประโยคนี้ เพราะในความเห็นของผมแล้วสิ่งที่ Nokia ทำผิดพลาดที่สุดก็คือการที่ไม่รู้ว่าตัวเองทำผิดพลาดมาตลอด

ตั้งแต่ ปี 2007 ที่พวกเขาเป็นอันดับ 1 ในตลาดโทรศัพท์มือถือ พวกเขาทำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเขายึดติดกับการเป็นเบอร์หนึ่งจากการขาย Handset โดยมองไม่เห็นความสำคัญของ App base market อย่างที่ Apple และ Google มองเห็น

พวกเขามองข้ามความสำคัญของ Touch screen ซึ่งเป็น function ที่สำคัญมากสำหรับ Smart phone ด้วยเหตุผลที่ว่าฝ่ายพัฒนาของ Nokia คิดว่าผู้บริโภคจะไม่ชอบมัน

พวกเขาพยายามพัฒนา Symbian ที่พยายามทำทุกอย่างเอง แทนที่จะเปิดโอกาสให้นักพัฒนาโปรแกรมทั่วโลกช่วยกันพัฒนาอย่าง app store หรือ android market

พอรู้ตัวว่า OS ของตัวเองไปไม่รอดก็วิ่งไม่ขอร่วมกับ Android ในวันที่ตัวเองแทบไม่เหลือศักดิ์ศรีของยักษ์ใหญ่แล้ว แต่ก็ไม่รู้ตัว พอไม่ได้ดีลที่ตัวเองพอใจก็ปฎิเสธ Android ไปจับมือกับ Window moblie ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าสู้ ios กับ android ไม่ได้

พวกเขาไม่เคยมอง เห็นคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่ามากจากจีนและอินเดียซึ่งค่อยๆมา แย่ง Market share มือถือในตลาดล่างไปทีละน้อยๆ

ที่ตลกร้ายก็คือผู้ บริหารของ Nokia ไม่เคยสำนึกว่าตัวเองทำอะไรผิดไป ยังคิดว่าตัวเองเป็นยักษ์ใหญ่ที่ทุกคนต้องคอยเอาใจเหมือนในอดีต ราคาหุ้น Nokia ร่วงติดดิน แต่ CEO ก็ยังออกสื่อบอกว่าบริษัทตัวเองไม่ได้มีปัญหาอะไรนักหนาได้หน้าตาเฉย กระทั่งจนนาทีสุดท้ายที่ถูกซื้อกิจการไปพวกเขาก็ยังไม่เข้าใจว่าทำอะไรผิด

Stephen Elop CEO ของ Nokia ในช่วงปี 2010-2013 ได้รับการจัดอันดับจากหนังสือ “Operation Elop” เขียนโดยคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ Kauppalehti ใน Finland ให้เป็น "one of the world's worst CEO" จากผลงานการนำพาบริษัทมือถืออันดับ 1 ของโลก ซึ่งจ่ายภาษีให้รัฐบาล Finland ในสัดส่วน 25% สู่ความตกต่ำอย่างรวดเร็วในเวลาแค่ 2 ปี

ในยุคของ Elop รายได้ของ Nokia ลดลง 40% กำไรลดลง 92% ราคาหุ้น Nokia ลดลงจาก EUR 7.12 ในวันที่รับตำแหน่งลงไปเหลือ 1.44 ในสองปีให้หลัง จนกระทั่ง Microsoft มา Takeover ธุรกิจโทรศัพท์มือถือไปนั่นแหละ ราคาหุ้นถึงค่อยๆฟื้นขึ้นมาอยู่ที 7 เหรียญในปัจจุบัน

แต่ที่น่าเจ็บใจที่สุดสำหรับผู้ถือหุ้นของ Nokia คือ ในขณะที่พวกเขานั่งอมทุกข์ทนเห็นราคาหุ้นเตี้ยๆลง ตัว CEO เองกลับมี Compensation ที่สูงถึงปีละ 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และถ้าจะไล่เขาออกบริษัทต้องจ่ายชดเชยให้เขาสูงถึง 28 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเขาก็ได้รับเงินจำนวนนี้ทั้งหมดในวันที่ Microsoft ซื้อกิจการไป หลังจากโดนซื้อกิจการไปแล้วตัว Elop เองยังได้รับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงใน Microsoft อีกต่างหาก จนกระทั่งมาโดย Lay off ในเดือนกรกฎาคมปี 2015 นี้เอง

บทเรียนของ Nokia คงจะพอให้อะไรกับเราบ้างว่าธุรกิจไม่มีอะไรยั่งยืน ถ้าไม่โตก็ตาย ตามไม่ทันเพื่อนก็ตาย แข่งขันไม่ได้ก็ตาย ไม่ว่าจะเคยยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไม่มีผล

...ใดใดในโลก ล้วนอนิจจัง...

ที่มา:
http://www.theguardian.com/technology/2014/oct/08/nokia-stephen-elop-operation-new-book